โจทย์การใช้พลังงานของประเทศ ยังคงเป็นความท้าท้ายของหลายหน่วยงาน โดยเฉพาะพลังงานสะอาดที่กำลังเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของประเทศ ประกอบกับภาครัฐ โดยกระทรวงพลังงาน ได้เปิดกว้างให้พลังงานเป็นเรื่องของทุกคนหรือ Energy for All โดยเฉพาะพลังงานจะต้องเข้าถึงชุมชนให้สามารถนำไปสู่การลดค่าใช้จ่ายและสร้างรายได้เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก ซึ่งเป็นที่มาในการเตรียมปรับปรุงแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศ พ.ศ.2561-2580 หรือ PDP-2018 ในการเพิ่มสัดส่วนพลังงานทดแทนให้ประชาชนเข้าถึงมากขึ้น ทั้งนี้หนึ่งในนโยบายสำคัญภายใต้แผน PDP-2018 ในช่วงรัฐบาลชุดที่ผ่านมา กำหนดแผนรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์จำนวน 10,000 เมกะวัตต์ นำร่องผ่านโครงการรับซื้อพลังงานจากโซลาร์บนหลังคาภาคประชาชน หรือโซลาร์ภาคประชาชน 1,000 เมกะวัตต์ด้วยการทยอยรับซื้อปีละ 100 เมกะวัตต์ เริ่มปี 2562 เป็นปีแรกแบ่งพื้นที่การรับซื้อผ่านการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค(กฟภ.) 70 เมกะวัตต์ และการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) 30 เมกะวัตต์ และผู้มีสิทธิ์ยื่นคือต้องเป็นผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทที่ 1 บ้านที่อยู่อาศัยเท่านั้น โดยกำหนดอัตรารับซื้อไฟฟ้าส่วนเกินที่เหลือใช้ในราคา 1.68 บาทต่อหน่วย ระยะเวลารับซื้อ 10 ปี ดร.เกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.เสนาดีเวลลอปเม้นท์หรือ SENA เปิดเผยว่า ได้ลูกบ้านที่อยู่ใน 6 โครงการเสนาฯเข้าร่วมโครงการโซลาร์ภาคประชาชน ซึ่งถือเป็นจำนวนผู้ยื่นสูงสุดของ โครงการโซลาร์ภาคประชาชนในปีนี้ถึง 164 ราย คิดเป็นจำนวนขายไฟฟ้าเข้าระบบ 394.40 กิโลวัตต์ประกอบด้วย โครงการเสนาพาร์ค แกรนด์ รามอินทรา,โครงการเสนาพาร์ควิลล์ รามอินทรา-วงแหวน,โครงการเสนาวิลล์ บรมราชชนนี สาย 5,โครงการเสนาแกรนด์ โฮม รังสิต-ติวานนท์,โครงการเสนาช็อปเฮ้าส์ พหลโยธิน-คูคต และโครงการเสนาช็อปเฮ้าส์ บางแค เฟส 1 และเฟส 2 ด้วยจำนวนรายสูงสุดของโซลาร์ภาคประชาชนในปีนี้ 164 รายคิดเป็น 394.40 กิโลวัตต์ “เสนาฯ ก้าวเข้าสู่ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์เจ้าแรกที่นำเทคโนโลยีและนวัตกรรมติดตั้งแผงผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาบ้านที่อยู่อาศัย(โซลาร์รูฟท็อป) ทุกหลังทุกโครงการ ยกเว้นบ้านที่มีราคาต่ำกว่า 1 ล้านบาท โดยเริ่มตั้งแต่ปี 2559 จนถูกเรียนว่าเป็น“บ้านเสนาโซลาร์”โดยใช้แผงโซลาร์จากประเทศญี่ปุ่นจึงสามารถการันตีคุณภาพและมาตรฐานการผลิตไฟฟ้าได้เป็นอย่างดี” อย่างไรก็ตามการติดตั้งแผงโซลาร์เพื่อผลิตไฟใช้นั้นทางเสนาทำให้เห็นว่าความคุ้มค่าที่ลูกบ้านเสนาจะได้รับจะแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มดังนี้คือ กลุ่มที่ 1 ครอบครัวใหญ่ที่มีทั้งคนทำงานนอกบ้านอยู่ร่วมกับผู้สูงอายุ เด็กที่อยู่บ้านทั้งวัน กลุ่มนี้จะมีผู้ที่อาศัยอยู่บ้านในช่วงกลางวัน ซึ่งโซลาร์ฯจะผลิตไฟได้เฉพาะกลางวันแล้วที่เหลือก็สามารถขายเข้ารัฐได้ กลุ่มที่ 2 กลุ่มคนทำงานนอกบ้าน หรือกลุ่มที่อยู่เฉพาะเสาร์-อาทิตย์ ซึ่งจะทำให้มีไฟเหลือมากสุดที่จะขายคืนให้รัฐ และกลุ่มที่ 3 กลุ่มคนทำงานที่บ้านหรือฟรีแลนซ์ หรือกลุ่มคนที่มีกิจการร้านค้าซึ่งจะมีความคุ้มค่าในการใช้ไฟฟ้าจากโซลาร์ฯมากสุด โดยจากข้อมูลชี้ให้เห็นว่าผู้ที่จะคุ้มทุนคือ ผู้ที่อยู่บ้านเพื่อใช้ไฟช่วงกลางวันในการประหยัดค่าไฟเพราะแสงอาทิตย์ผลิตได้ช่วงกลางวัน แต่เมื่อรัฐเองมีนโยบายมาส่งเสริมในระยะแรกของการรับซื้อไฟส่วนเกินเข้าระบบอัตรา 1.68 บาทต่อหน่วยระยะ 10 ปีก็จะเป็นกลุ่มที่ใช้ไฟกลางวันส่วนหนึ่ง และผู้ที่ไม่ได้อยู่บ้านเวลากลางวันจะคุ้มค่าในการลงทุน เพราะมีส่วนที่เหลือขายเข้าระบบ ทั้งนี้หากประชาชนคิดว่าจะติดตั้งเพื่อขายไฟเข้าระบบทั้งหมดคงไม่ใช่เป็นปัจจัยหลักที่สร้างรายได้อย่างเป็นกอบเป็นกำแน่นอน แต่โดยหลักการแล้ว เป็นการนำไฟฟ้าที่ผลิตได้มาใช้เพื่อลดการซื้อไฟฟ้าจากระบบของการไฟฟ้า และยังมีส่วนเหลือใช้ที่นำขายเข้าระบบ ทำให้สามารถลดค่าใช้จ่ายพลังงาน แถมยังเป็นพลังงานสีเขียวรักษ์โลกอีกด้วย “โซลาร์รูฟท็อปอาจจะยังดูใหม่สำหรับเมืองไทยแต่ต่างประเทศเขาไปไกลมากแล้ว เช่น สหรัฐอเมริกา มีการรับซื้อไฟฟ้าในอัตราที่สูงกว่าที่ขายให้กับผู้บริโภคด้วยเหตุผลว่าไฟฟ้าจากโซลาร์ฯลดปัญหาสิ่งแวดล้อม ไฟฟ้าไม่สูญเสียในสายส่ง และลดความจำเป็นการต้องสร้างโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ หรือให้คุณค่ากับพลังงานแสงอาทิตย์ (Value of Solar) มากกว่าพลังงานชนิดอื่นๆ ขณะที่ไทยไฟฟ้ากว่า 60% มาจากก๊าซธรรมชาติที่กำลังจะหมดลงซึ่งต้องนำเข้า แต่การใช้ไฟยังคงเติบโตต่อเนื่อง ประกอบกับประเทศทั่วโลกต่างก็ตระหนักถึงปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เหล่านี้ล้วนกดดันให้ไทยไม่อาจมองข้ามได้” สำหรับหมู่บ้านเสนาโซลาร์นับเป็นตัวอย่างหนึ่งในการตอบโจทย์ Energy for All ที่จะช่วยทำให้ประชาชนประหยัดค่าใช้จ่ายและเพิ่มรายได้ แต่เหนือสิ่งอื่นใดคือการช่วยยกระดับสิ่งแวดล้อมที่ดีให้กับประเทศไทยเพราะพลังงานแสงอาทิตย์ นับเป็นพลังงานสะอาด และด้วยเทคโนโลยีต่างๆทั้งแบตเตอรี่กักเก็บ(ESS) การเชื่อมโยงอุปกรณ์ไฟฟ้ากับ Internet of Things (IoT)ฯลฯ เหล่านี้กำลังทำให้รูปแบบของการผลิตไฟฟ้าเปลี่ยนไปพลังงานจากแสงอาทิตย์จึงเป็นอนาคตที่ไม่ควรมองข้าม