คณะนักร้องประสานเสียงมหาวิทยาลัยมหิดล MU Choir คว้า 5 รางวัล จากแข่งขันที่ประเทศอินโดนีเซีย ในงาน The 8th BICF - Bali International Choir Festival และ 2 รางวัลจากงาน Singapore 12th International Choral Festival Orientale Concentus ณ ประเทศสิงคโปร์
จากจุดเริ่มก่อตั้งตั้งแต่ปี พ.ศ.2554 เพื่อเฉลิมฉลองในปีมหามงคล พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงเจริญพระชนพรรษา 7 รอบ 84 พรรษา ในวันที่ 5 ธันวาคม 2554 จนได้รับรางวัลชนะเลิศการแข่งขันระดับภาค ประกวดระดับประเทศ และสู่ระดับนานาชาติ
ในปี 2562 MU Choir ได้ร่วมแข่งขัน 2 รายการ รายการแรกที่ประเทศอินโดนีเซีย ในงาน The 8th BICF - Bali International Choir Festival ได้รับ 5 รางวัล คือ เหรียญทองจากการแข่งขันประเภท Mixed Youth Choir 2. Category Winner (คะแนนสูงสุด) จากการแข่งขันประเภท Mixed Youth Choir และผ่านเข้าสู่ Championship , เหรียญทองจากการแข่งขันประเภท Musica Sacra , เหรียญทองจากการแข่งขันประเภท Mixed Youth Choir ในรอบ Championship และ 5.Category Champion จากการแข่งขันประเภท Mixed Youth Choir ในรอบ Championship
และรายการล่าสุด ณ ประเทศสิงคโปร์ ในงาน Singapore 12th International Choral Festival Orientale Concentus ได้รับ 2 รางวัล ได้แก่ เหรียญทองจากการแข่งขันประเภท Mixed Voices - Senior Youth และเหรียญเงินจากการแข่งขันประเภท S Sacred / Church Choir
สมาชิก MU Choir เป็นนักศึกษาปริญญาตรีจากคณะ/สถาบันต่างๆ ของม.มหิดล ที่มีใจรักร้องเพลง ได้แก่ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล คณะวิศวกรรมศาสตร์ วิทยาลัยศาสนศึกษา คณะวิทยาศาสตร์ คณะเทคนิคการแพทย์ คณะทันตแพทยศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ ฯลฯ
อ.ดร.ฤทธิ์ ทรัพย์สมบูรณ์ อาจารย์ประจำภาควิชาการอำนวยเพลงด้านการขับร้องประสานเสียง วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ ม.มหิดล ซึ่งเป็นผู้อำนวยการเพลงคณะนักร้องประสานเสียง MU Choir กล่าวว่า "MU Choir เกิดขึ้นเนื่องจากการที่เราต้องการจะเผยแพร่กิจกรรมดนตรีไปยังนักศึกษาที่ไม่จำเป็นต้องเรียนเอกดนตรี เพื่อให้เสียงเพลงเข้าไปสู่จิตใจ ให้นักศึกษาได้ผ่อนคลายความเครียดจากการเรียน"
"มีงานวิจัยหลายชิ้นบอกว่า เด็กที่ได้ร้องเพลงประสานเสียง จะมีผลการเรียนดีขึ้น โดยเฉพาะวิชาคณิตศาสตร์ ซึ่งนักศึกษาที่ร้องเพลงประสานเสียง นอกจากมีทักษะการเรียนดีขึ้นแล้ว การร้องเพลง ยังพัฒนาสุขภาพองค์รวมได้ค่อนข้างสมบูรณ์
การร้องเพลงที่ดีนอกจากจะต้องใช้ทั้งตัว กล้ามเนื้อทุกส่วนต้องทำงานด้วยกันยังได้ฝึกหายใจ โดยงานวิจัยบอกว่า การร้องเพลงประสานเสียงเหมือนการเล่นโยคะ โดยมีหลักควบคุมลมหายใจที่คล้ายกัน และให้ผลใกล้เคียงกัน ยิ่งไปกว่านั้น ยังทำให้เรามีพลัง ให้สมองได้หลั่งสารแห่งความสุข”
สำหรับการคัดเลือกผู้ร่วมวงนั้น ทุกปี MU Choir จะคัดเลือก (Audition) นักศึกษาจากความสามารถด้านขับร้องและทดสอบโสตประสาท พร้อมความสามารถในการเลื่อนบันไดเสียงขึ้นลง เพื่อทดสอบช่วงเสียงและคุณภาพเสียง และสอบสัมภาษณ์
"จริงๆ วิธีคัดเลือกเราไม่ได้ซีเรียสมากนัก แม้อ่านโน้ตไม่เป็น จะไม่เป็นเด็กดนตรีก็ได้ แต่ถ้ากดเปียโนเสียงนี้แล้ว นักศึกษาร้องตามได้ หรือสอนอะไรไปแล้วปรับได้ ก็ถือว่าใช้ได้แล้ว" อ.ดร.ฤทธิ์ กล่าว
นายภูบดี อภิรติธรรม หรือ "ภู" ชั้นปีที่ 3 ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มองว่า การที่เราเรียนหนักแล้วมาร้องเพลง ก็เหมือนได้ผ่อนคลาย ได้พักผ่อนสมอง ทำให้มีความสุขกับการเรียนมากขึ้น นอกจากนี้ ยังได้ฝึกบุคลิกภาพต่างๆ ด้วย การร้องเพลงจะต้องใช้ความเสถียรของร่างกาย เราต้องยืนให้สง่างาม
อ.ดร.ฤทธิ์กล่าวถึงจุดเด่นที่ทำให้คว้ารางวัลระดับโลกว่า "ส่วนใหญ่วงเราจะได้รับคำชมในเรื่องคุณภาพเสียงว่า เหมาะสมกับการขับร้องประสานเสียง ซึ่งจุดสำคัญของการขับร้องประสานเสียง คือ จะร้องเหมือน 40 คนร้องไม่ได้ เสียงต้องเหมือนกับคนเดียวร้องใน 4 แนว โดยแต่ละแนวจะร้องตามแบบของตัวเอง แล้วทำให้กลมกลืน"
"การที่เราสามารถทำให้ดนตรีแพร่กระจายออกไปในกลุ่มคนที่ไม่ใช่เด็กดนตรี และผลักดันพวกเขาเหล่านี้สู่ระดับนานาชาติ คว้ารางวัลระดับโลกได้ ถือว่าได้ทำให้มหาวิทยาลัยประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง ซึ่งในการแข่งขันกีฬามีปลายทางที่โอลิมปิก แต่ในการแข่งขันขับร้องเพลงประสานเสียง แม้เรายังไม่ถึงตรงนั้น แต่ก็ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี" อ.ดร.ฤทธิ์ กล่าวทิ้งท้าย
ติดตามผลงาน MU Choir ได้ที่ FB: MU Choir
ฐิติรัตน์ เดชพรหม