ที่ห้อง 302 อาคารรัฐสภาใหม่ นายพิพัฒน์ วรสิทธิดำรง นายกสมาคมข้าราชการส่วนท้องถิ่นแห่งประเทศไทย พร้อมด้วยคณะกรรมการสมาคมฯได้เข้าพบคณะกรรมาธิการการกระจายอำนาจ การปกครองส่วนท้องถิ่น และการบริหารราชการรูปแบบพิเศษ โดยมี ศ.ดร.โกวิทย์ พวงงาม รองประธานฯคนที่ 1 และนายชำนาญ จันทร์เรือง รองประธานฯ คนที่ 2 เป็นตัวแทนของคณะกรรมาธิการฯรับเรื่อง นายพิพัฒน์ กล่าวว่า สมาคมฯได้รับฟังความเห็นจากผู้บริหารท้องถิ่น สมาชิกสภาท้องถิ่น และข้าราชการส่วนท้องถิ่น ในทุกภูมิภาคผ่านเวทีการประชุมสัมมนาทางวิชาการที่สมาคมฯจัดขึ้นในห้วงปี 2562 ที่ผ่านมา ทุกเวทีได้ร้องขอให้สมาคมฯได้นำประเด็นปัญหาต่างๆ ให้นำเสนอต่อคณะกรรมาธิการฯ เพื่อช่วยตรวจสอบ และเร่งรัดให้หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องดำเนินการแก้ไขให้ลุล่วงไปโดยเร็ว เนื่องจากที่ผ่านมาได้ไปร้องต่อหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรงหลายครั้งแต่ยังไม่มีการแก้ไข โดยมีประเด็นที่สำคัญๆ ประกอบด้วย ๑) ด้านรายได้ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จากที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้รับการถ่ายโอนภารกิจจากกระทรวง ทบวง กรม ต่างๆ ตามพระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. ๒๕๔๒ โดยภารกิจส่วนใหญ่มิได้จัดสรรงบประมาณตามมาด้วย หรือจัดสรรแต่มีจำนวนน้อยไม่เพียงพอต่อการบริหารจัดการ ทำให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้องรับภาระดังกล่าวเพิ่มเติม โดยสมาคมฯมีข้อเสนอแนะเพิ่มเติม ดังนี้ ๑.๑)ขอให้รัฐบาลจัดสรรงบประมาณในรูปของเงินอุดหนุนทั่วไปที่ไม่กำหนดวัตถุประสงค์เพิ่มมากขึ้น โดยให้ลดเงินอุดหนุนเฉพาะกิจหรือเงินอุดหนุนทั่วไปที่กำหนดวัตถุประสงค์ไว้แล้ว ๑.๒)ขอให้รัฐบาลได้ชดเชยรายได้ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ได้รับผลกระทบจากการยกเลิก ภาษีบำรุงท้องที่ และภาษีโรงเรือน เพื่อให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นขนาดเล็กมีรายได้เพียงพอต่อการพัฒนาและบริการประชาชนอย่างทั่วถึงและเสมอภาค ๑.๓)ขอให้รัฐบาลได้ตัดโอนงบประมาณที่หน่วยงานส่วนกลางหรือส่วนภูมิภาคเคยได้รับในภารกิจที่ได้ถ่ายโอนให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแล้ว จัดสรรให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้นๆ เพิ่มเติมอย่างต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี ๒) ปัญหาด้านการบริหารงานบุคคลขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ๒.๑)ขอให้ตรวจสอบการล็อคมิให้มีการโอนย้ายระหว่างข้าราชการหรือพนักงานส่วนท้องถิ่นสายงานบริหาร/อำนวยการ ด้วยคณะกรรมการกลางข้าราชการหรือพนักงานส่วนท้องถิ่น (ก.จ./ก.ท./ก.อบต.) ได้มีมติมิให้ข้าราชการส่วนท้องถิ่นสายงานผู้บริหาร/อำนวยการ โอน(ย้าย) ไปดำรงตำแหน่งภายหลังจากที่ตำแหน่งว่างเกิน ๖๐ วัน ทำให้เกิดปัญหาแก่การบริหารงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอย่างกว้างขวาง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหลายแห่งประสบปัญหาการขาดแคลนตำแหน่งสายงานผู้บริหาร เช่น ปลัดฯ รองปลัดฯ ผู้อำนวยการกองคลัง ผู้อำนวยการกองช่าง เป็นต้น ทำการให้บริการและดูแลทุกข์สุขแก่ประชาชนขาดประสิทธิภาพเพราะข้าราชการที่มีอยู่ไม่กล้าตัดสินใจดำเนินการในโครงการหรือกิจกรรมต่างๆ เพราะขาดผู้ดำรงตำแหน่งตัวจริงในการตัดสินใจให้เป็นไปตามกฎหมาย รวมทั้ง กรณีที่มีการบรรจุแต่งตั้งข้าราชการส่วนท้องถิ่นสายงานผู้บริหารจากการสอบคัดเลือกหรือคัดเลือกเมื่อปี ๒๕๖๑ ปรากฏข้อเท็จจริงว่า มีข้าราชการส่วนท้องถิ่นผู้ที่ได้รับการบรรจุแต่งตั้งในครั้งดังกล่าวมีความประสงค์โอน(ย้าย)กลับภูมิลำเนาแต่ติดขัดตรงเงื่อนไขดังกล่าว ดังนั้น เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนบุคลากรสายงานผู้บริหารในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหลายแห่ง การส่งเสริมสนับสนุนให้ข้าราชการส่วนท้องถิ่นได้กลับสู่ภูมิลำเนาเพื่อพัฒนาบ้านเกิด สมาคมฯจึงเรียนมาเพื่อร้องขอให้คณะกรรมาธิการฯได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงดังกล่าว เพื่อให้มีการปลดล็อคการโอน(ย้าย)สายงานผู้บริหาร/อำนวยการ ให้เป็นไปตามความประสงค์ของแต่ละองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยสมาคมฯมีความเห็นว่า ควรที่คณะกรรมการกลางข้าราชการหรือพนักงานส่วนท้องถิ่นพึงจะมีมติให้มีการปลดล็อคการโอน(ย้าย)ข้าราชการหรือพนักงานส่วนท้องถิ่นสายงานอำนวยการและสายงานผู้บริหาร ก่อนที่จะมีการเปิดสอบคัดเลือก/คัดเลือกสายงานผู้บริหาร และหากภายหลังการสอบคัดเลือก/คัดเลือกสายงานผู้บริหารสิ้นสุดลง หากยังไม่มีผู้สอบคัดเลือก/คัดเลือกได้หรือสอบได้ไม่เพียงพอต่อตำแหน่งที่ต้องการบรรจุแต่งตั้ง ขอให้มีการปลดล็อคในเรื่องดังกล่าวอีกครั้งหนึ่ง ๒.๒)ขอให้ตรวจสอบการสอบคัดเลือก/คัดเลือกสายงานผู้บริหาร ตามที่หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีคำสั่งที่ ๘/๒๕๖๐ ลงวันที่ ๒๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๐ ให้คณะกรรมการกลางข้าราชการหรือพนักงานส่วนท้องถิ่น (ก.กลาง) ดำเนินการสอบคัดเลือกหรือคัดเลือก สายงานผู้บริหาร (บริหารท้องถิ่น/อำนวยการท้องถิ่น) แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทั้งนี้ คณะกรรมการกลางข้าราชการหรือพนักงานส่วนท้องถิ่นอาจมอบอำนาจให้คณะกรรมการข้าราชการหรือพนักงานส่วนท้องถิ่นจังหวัด (ก.จังหวัด) ดำเนินการแทน นั้น จากการที่คณะกรรมการกลางข้าราชการหรือพนักงานส่วนท้องถิ่น(ก.กลาง)ได้ดำเนินการจัดสอบคัดเลือก/คัดเลือกสายงานผู้บริหารเมื่อปี ๒๕๖๑ ปรากฏข้อเท็จจริงว่า การสอบดังกล่าวประสบปัญหาหลายด้าน จนเป็นสาเหตุทำให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นขาดแคลนผู้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าหน่วยงานทั้งในตำแหน่ง ปลัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รองปลัดฯ ผู้อำนวยการสำนัก ผู้อำนวยการกอง หัวหน้าฝ่าย จำนวนมาก เป็นสาเหตุสำคัญอย่างหนึ่งที่ทำให้การบริหารงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหลายแห่งในห้วงปีที่ผ่านมา ไม่สามารถขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาลได้อย่างเต็มที่ ดังนั้น เพื่อให้การบริหารงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดำเนินไปด้วยความเรียบร้อย สามารถปฏิบัติหน้าที่บำบัดทุกข์บำรุงสุขแก่พี่น้องประชาชนในพื้นที่ได้อย่างเต็มศักยภาพ สมาคมฯจึงใคร่ขอความอนุเคราะห์จากคณะกรรมาธิการฯได้โปรดพิจารณาให้มีการตรวจสอบกระบวนการสอบคัดเลือก/คัดเลือกสายงานผู้บริหารท้องถิ่นที่จะจัดให้มีขึ้นในปีงบประมาณ ๒๕๖๓ นี้ ทั้งนี้ สมาคมฯมีความเห็นว่า ก่อนการจัดสอบคัดเลือกหรือคัดเลือกควรที่จะมีการปรับปรุงแก้ไขข้อบกพร่องต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากการสอบคัดเลือก/คัดเลือกเมื่อปี ๒๕๖๑ กล่าวคือ (๑) สถาบันหรือองค์กรที่จะออกข้อสอบ ไม่ควรให้สถาบันการศึกษาใดสถาบันการศึกษาหนึ่งเป็นการเฉพาะแต่ควรแต่งตั้งจากผู้ที่มีความรอบรู้ เข้าใจ ในกฎหมาย ระเบียบ หลักเกณฑ์ ที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้องถือปฏิบัติ (๒) พึงพิจารณาแนวทางการออกข้อสอบที่ครอบคลุมเนื้อหาที่ได้ประกาศไว้อย่างครบถ้วนและควรเป็นข้อสอบที่สามารถตรวจสอบความเที่ยงแท้ได้แม่นยำ โดยใช้ดุลยพินิจของผู้ตรวจข้อสอบน้อยที่สุด (๓) พึงใช้ข้อสอบที่ตรงตามมาตรฐานกำหนดตำแหน่งของแต่ละสายงาน มิใช่ใช้ข้อสอบชุดเดียวกันใช้ทดสอบกับทุกตำแหน่งทุกสายงาน ซึ่งไม่สามารถประเมินความรู้ความสามารถตามมาตรฐานกำหนดตำแหน่งนั้นๆ ได้ (๔) พึงแยกวันเวลาในการสอบ สำหรับตำแหน่งในระดับต้น กลาง สูง เป็นคนละวันกันเพื่อความสะดวกในการบริหารจัดการและการดูแลผู้เข้าสอบอย่างทั่วถึง (๕) พึงแต่งตั้งผู้แทนจาก ก.พ. / ก.พ.ร. / ก.ค. / ตัวแทนสถาบันการศึกษาของรัฐ / ตัวแทนจากสมาคมองค์การบริหารส่วนจังหวัดแห่งประเทศไทย สมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย สมาคมองค์การบริหารส่วนตำบลแห่งประเทศไทยและสมาคมข้าราชการส่วนท้องถิ่นแห่งประเทศไทย เพื่อร่วมสังเกตการณ์ในการดำเนินการสอบทุกขั้นตอน (๖) การสรรหาผู้ดำรงตำแหน่งในสายงานผู้บริหารระหว่างการ สอบคัดเลือกสายงานผู้ปฏิบัติ (วิชาการ) ขึ้นดำรงตำแหน่งสายงานผู้บริหาร(บริหารท้องถิ่นระดับต้น/อำนวยการท้องถิ่นระดับต้น) กับการคัดเลือกผู้ซึ่งดำรงตำแหน่งสายงานผู้บริหารอยู่แล้วเพื่อเลื่อนตำแหน่งให้สูงขึ้น (บริหารท้องถิ่น/อำนวยการท้องถิ่น จากระดับต้นเพื่อเลื่อนขึ้นดำรงตำแหน่งระดับกลาง หรือจากระดับกลางเพื่อเลื่อนขึ้นดำรงตำแหน่งระดับสูง) โดยสมาคมฯมีความเห็นว่า พึงใช้วิธีสอบคัดเลือกสำหรับการสอบเปลี่ยนงานจากสายงานวิชาการให้ดำรงตำแหน่งในสายงานผู้บริหารระดับต้น (สอบข้อเขียน) และใช้วิธีคัดเลือกสำหรับการเลื่อนระดับให้สูงขึ้น (ประเมินจากผลงานที่ล่วงมาแล้ว ๓ ปี / ประวัติการทำงาน / สัมภาษณ์วิสัยทัศน์) ซึ่งสอดคล้องกับการสอบคัดเลือกหรือคัดเลือกของข้าราชการพลเรือน (๗) เพื่อประสิทธิภาพในการดำเนินการจัดสอบคัดเลือกหรือคัดเลือกให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ ๘/๒๕๖๐ และประหยัดงบประมาณของรัฐที่ต้องใช้สำหรับข้าราชการส่วนท้องถิ่นที่ต้องเดินทางเข้ามาสอบในส่วนกลาง ซึ่งครั้งหนึ่งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้องใช้งบประมาณกว่า ๑๐๐ ล้านบาทสำหรับเป็นค่าใช้จ่ายในการเดินทางของข้าราชการส่วนท้องถิ่นที่เข้าสอบ (คำนวณจากผู้เข้าสอบ ๒๐,๐๐๐ ราย คูณด้วยประมาณการค่าใช้จ่ายคนละ ๕,๐๐๐ บาท) หากการดำเนินการสอบในครั้งนี้ ยังมีข้อบกพร่องที่คณะกรรมการกลางข้าราชการหรือพนักงานส่วนท้องถิ่นไม่สามารถแก้ไขหรือปรับปรุงให้เป็นไปตามมาตรฐานหรือเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพได้ สมาคมฯมีความเห็นว่า พึงที่คณะกรรมการกลางข้าราชการหรือพนักงานส่วนท้องถิ่นจะมอบอำนาจการดำเนินการสอบคัดเลือกหรือคัดเลือกสายงานผู้บริหารในระดับต้น และระดับกลาง ให้คณะกรรมการข้าราชการองค์การบริหารส่วนจังหวัด (ก.จ.จ.) คณะกรรมการพนักงานเทศบาลจังหวัด (ก.ท.จ.) และคณะกรรมการพนักงานส่วนตำบลจังหวัด (ก.อบต.จังหวัด) ดำเนินการแทนตามนัยแห่งคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ ๘/๒๕๖๐ ข้อ ๒ วรรคสอง ๒.๓) ขอให้ตรวจสอบกรณีที่ข้าราชการส่วนท้องถิ่นที่สอบแข่งขันบัญชีการสอบได้ของ กสถ.ได้ และขอใช้บัญชีเพื่อย้ายเปลี่ยนสายงานลดอัตราเงินเดือนลง จากการที่คณะกรรมการกลางการสอบแข่งขันพนักงานส่วนท้องถิ่น (กสถ.) ได้ดำเนินการสอบแข่งขันบุคคลภายนอกเพื่อบรรจุแต่งตั้งเป็นพนักงานส่วนท้องถิ่นในสังกัด องค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาล องค์การบริหารส่วนตำบล และเมืองพัทยา ในปี ๒๕๖๐ และล่าสุดปี ๒๕๖๒ นั้น ในการสอบดังกล่าวได้มีข้าราชการหรือพนักงานส่วนท้องถิ่นในสายงานประเภททั่วไปได้เข้าสอบแข่งขันด้วย ทั้งนี้ เพื่อต้องการขอใช้บัญชีการสอบดังกล่าวย้ายเปลี่ยนสายงานเป็นสายงานประเภทวิชาการ ดังเช่นที่เคยปฏิบัติมาก่อนหน้านี้ที่ ก.จังหวัด หรือ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแต่ละแห่งได้จัดสอบขึ้นก่อนที่จะมีคำสั่งของหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติให้ กสถ.เป็นผู้ดำเนินการสอบแข่งขันแทน โดยไม่มีการลดอัตราเงินเดือนลง แต่ในการจัดสอบครั้งที่ผ่านมา ในปี ๒๕๖๐ กสถ.กลับให้ผู้สอบแข่งขันได้ที่เป็นข้าราชการหรือพนักงานส่วนท้องถิ่นอยู่แล้ว ลดอัตราเงินเดือนและมิให้ขอสงวนบัญชีการสอบของตนเองไว้ กรณีที่สอบได้ในลำดับต้นและถูกเรียกให้มาบรรจุแต่งตั้ง ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวสมาคมฯมีความเห็นว่า ไม่เป็นธรรมต่อผู้เข้าสอบที่เป็นข้าราชการหรือพนักงานส่วนท้องถิ่นอยู่ก่อนแล้ว และยังเป็นการไม่ส่งเสริมสนับสนุนความเจริญก้าวหน้าของข้าราชการหรือพนักงานส่วนท้องถิ่นที่มีความรู้ความสามารถอีกด้วย ดังนั้น สมาคมฯจึงเรียนมาเพื่อร้องขอให้คณะกรรมาธิการฯได้โปรดพิจารณาให้มีการตรวจสอบการกระทำดังกล่าวของ กสถ.ว่า ชอบด้วยกฎหมายที่เกี่ยวข้องหรือไม่ และขอให้มีการทบทวนหลักเกณฑ์ดังกล่าว โดยให้คืนสิทธิแก่ข้าราชการหรือพนักงานส่วนท้องถิ่นผู้สอบแข่งขันได้จากบัญชีการสอบเมื่อปี ๒๕๖๐ และขอได้โปรดพิจารณาแก้ไขหลักเกณฑ์นี้ในการสอบแข่งขันปี ๒๕๖๒ ด้วย ๒.๔)ขอให้ตรวจสอบความคุ้มค่าของการจัดสอบแข่งขันเข้ารับราชการของ กสถ. จากการที่ กสถ.ได้จัดให้มีการสอบแข่งขันบุคคลภายนอกเข้ารับราชการในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในปี ๒๕๖๒ ที่ผ่านมา ปรากฏว่าข้อเท็จจริงว่า มีหลายตำแหน่งที่มีผู้สอบได้และขึ้นบัญชีไว้น้อยกว่าตำแหน่ง ที่ว่างอยู่ โดยบางตำแหน่งไม่มีผู้สอบผ่านแม้แต่รายเดียว ซึ่งมีความไม่เพียงพอต่อความต้องการขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยเฉพาะตำแหน่งในสายงานด้านช่าง และด้านการเงินและบัญชี ซึ่งเป็นปัญหาต่อการบริหารงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการบริหารจัดการแก้ไขปัญหาต่างๆ ให้กับประชาชนในพื้นที่อย่างกว้างขวาง ดังนั้น สมาคมฯจึงใคร่ขอให้คณะกรรมาธิการฯได้ตรวจสอบความคุ้มค่าของการจัดสอบของ กสถ. ดังกล่าว ทั้งนี้ สมาคมฯมีความเห็นว่า คณะกรรมการกลางข้าราชการหรือพนักงานส่วนท้องถิ่น (ก.กลาง) พึงที่จะมอบอำนาจการจัดการสอบแข่งขันเพื่อสรรหาบุคคลภายนอกเข้ารับราชการในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในตำแหน่งที่ขาดแคลน เช่น สายงานด้านช่าง สายงานด้านการเงินและบัญชี การคลัง และการพัสดุ เป็นต้น ประเภททั่วไป (เจ้าพนักงาน/นายช่าง) ไปให้คณะกรรมการข้าราชการหรือพนักงานส่วนท้องถิ่นจังหวัด (ก.จังหวัด) เพื่อมิให้เกิดความเสียหายแก่ราชการในภาพรวม ๒.๕) ขอให้ตรวจสอบความไม่เป็นธรรมของหลักเกณฑ์การขึ้นสู่ตำแหน่งที่สูงขึ้นของสายงานบริหาร/อำนวยการ จากการคณะกรรมการกลางข้าราชการหรือพนักงานส่วนท้องถิ่น (ก.จ./ก.ท./ก.อบต.) ได้กำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการขึ้นสู่ตำแหน่งของผู้อำนวยการกอง และปลัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในระดับกลางไว้ที่เสมือนเป็นการกีดกันความเจริญก้าวหน้าของข้าราชการส่วนท้องถิ่น กล่าวคือ การที่ข้าราชการส่วนท้องถิ่นจะมีสิทธิสอบขึ้นดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการกองได้นั้น จะต้องดำรงตำแหน่งหัวหน้าฝ่ายมาแล้วไม่น้อยกว่าระยะเวลาที่คณะกรรมการกลางข้าราชการหรือพนักงานส่วนท้องถิ่นกำหนด ซึ่งการที่จะกำหนดฝ่ายได้นั้นมีขั้นตอนที่ยุ่งยาก สลับซับซ้อน ทำให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นขนาดเล็กไม่มีโอกาสได้กำหนดฝ่ายขึ้นได้ ทำให้ไม่สามารถสรรหาผู้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการกองให้เพียงพอต่อตำแหน่งที่ขาดแคลนได้ อีกทั้ง การที่ข้าราชการส่วนท้องถิ่นจะสามารถเข้ารับการคัดเลือกหรือสอบคัดเลือกขึ้นดำรงตำแหน่งปลัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นระดับกลางได้นั้น จะต้องดำรงตำแหน่งปลัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในระดับต้นมาก่อน ซึ่งปัจจุบันตำแหน่งปลัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในระดับต้น มีจำนวนน้อยมาก ด้วยเหตุดังกล่าวข้างต้น สมาคมฯจึงเรียนมาเพื่อขอให้คณะกรรมาธิการฯได้ตรวจสอบความชอบธรรม ความเสมอภาคในโอกาส จากการกำหนดหลักเกณฑ์ดังกล่าวของคณะกรรมการกลางข้าราชการหรือพนักงานส่วนท้องถิ่น ทั้งนี้ สมาคมฯมีความเห็นว่า พึงที่คณะกรรมการกลางข้าราชการหรือพนักงานส่วนท้องถิ่นจะแก้ไขหลักเกณฑ์ในการเปิดกรอบตำแหน่งหัวหน้าฝ่ายได้ง่ายขึ้น เพื่อรองรับการเจริญก้าวหน้าของข้าราชการส่วนท้องถิ่น และพึงที่จะเปิดโอกาสให้ผู้ดำรงตำแหน่งรองปลัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นผู้ดำรงตำแหน่งมาแล้วไม่น้อยกว่าระยะเวลาหนึ่งสามารถเข้ารับการคัดเลือกหรือสอบคัดเลือกเพื่อดำรงตำแหน่งปลัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในระดับกลางได้ ๒.๖)การเทียบโอนข้าราชการตามกฎหมายอื่นมาบรรจุเป็นพนักงานส่วนท้องถิ่นไม่เป็นธรรม ด้วยคณะกรรมการมาตรฐานการบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น โดยประธานกรรมการมาตรฐานการบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น (นายพงศ์โพยม วาศภูติ) ได้ลงนามในประกาศมาตรฐานกลางเกี่ยวกับการรับโอนข้าราชการตามกฎหมายอื่นมาบรรจุเป็นพนักงานส่วนท้องถิ่น ลงวันที่ ๑๒ มิถุนายน ๒๕๖๒ และประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๖ ตอนพิเศษ ๑๗๗ ง ลงวันที่ ๑๑ กรกฎาคม ๒๕๖๒ โดยให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ ๑ กันยายน ๒๕๖๒ เป็นต้นไป สมาคมข้าราชการส่วนท้องถิ่นแห่งประเทศไทย ได้พิจารณารายละเอียดของประกาศฉบับดังกล่าวอย่างถ้วนถี่แล้ว มีความไม่เห็นพ้องด้วยกับประกาศและบัญชีเทียบระดับตำแหน่งเพื่อรับโอนข้าราชการตามกฎหมายอื่นมาบรรจุเป็นพนักงานส่วนท้องถิ่นแนบท้ายประกาศฉบับดังกล่าว เนื่องจาก (๑) การเทียบตำแหน่งตามบัญชีนี้ไม่เป็นธรรม ไม่สอดคล้อง หรืออาจขัด หรือแย้งกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช ๒๕๖๐ มาตรา ๒๕๑ ซึ่งบัญญัติให้การบริหารงานบุคคลขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้องใช้ระบบคุณธรรม คำนึงถึงความเหมาะสมและความจำเป็นของแต่ละท้องถิ่นและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแต่ละรูปแบบ โดยให้มีมาตรฐานที่สอดคล้องกันเพื่อให้นำไปสู่การพัฒนาร่วมกันหรือการสับเปลี่ยนบุคลากรระหว่างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นด้วยกันได้ จึงจะเห็นได้ว่าเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญมาตรานี้ได้บัญญัติให้ความสำคัญกับบุคลากรขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่ในปัจจุบันให้มีขวัญกำลังใจ ในการปฏิบัติหน้าที่ สามารถจะพัฒนาทักษะประสบการณ์ของตนเองเพื่อให้มีความเจริญก้าวหน้าในตำแหน่งหน้าที่สูงขึ้นตามลำดับ ดังนั้น การประกาศใช้มาตรฐานฉบับนี้รวมทั้งบัญชีแทบท้าย จึงเป็นการลิดรอนสิทธิของข้าราชการส่วนท้องถิ่น ทำลายขวัญกำลังใจในการปฏิบัติหน้าที่ของข้าราชการส่วนท้องถิ่น เป็นการขัดขวาง ตัดตอน ความก้าวหน้าของข้าราชการส่วนท้องถิ่น และเป็นการละเมิดหรือขัดหรือแย้งกับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ อีกทั้ง บัญชีการเทียบตำแหน่งดังกล่าวที่เทียบตำแหน่งของข้าราชการพลเรือนสูงกว่าข้าราชการส่วนท้องถิ่น ทั้งที่ข้าราชการทั้งสองประเภทมีหน้าที่บริการสาธารณะเหมือนกัน ภาระงานเหมือนกัน จึงเป็นการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม อันขัดต่อมาตรา ๒๗ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (๒) การที่คณะกรรมการมาตรฐานการบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น อ้างอาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๓๓ (๑) ของพระราชบัญญัติระเบียบบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น พ.ศ. ๒๕๔๒ เพื่อออกประกาศฉบับนี้นั้น อาจไม่ชอบด้วยบทบัญญัติตามมาตราดังกล่าว เพราะบทบัญญัตินี้ มีเจตนารมณ์ให้คณะกรรมการมาตรฐานการบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่นได้ยึดถือหลักคุณธรรมเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคล แต่การออกประกาศฉบับนี้ มีความขัดแย้งกับคุณธรรมอย่างชัดเจน เพราะหลักคุณธรรมซึ่ เป็นส่วนสำคัญของระบบคุณธรรม (THE MERIT SYSTEM) ในการบริหารทรัพยากรบุคคลนั้น มีองค์ประกอบที่สำคัญได้แก่ หลักความเสมอภาคในโอกาส หลักความสามารถ หลักความมั่นคงในอาชีพ และหลักความเป็นกลางทางการเมือง กล่าวคือ (๒.๑) ความไม่เสมอภาคในโอกาส เนื่องจากข้าราชการส่วนท้องถิ่นหากมีความประสงค์ต้องการย้ายเปลี่ยนสายงานจากสายงานวิชาการเป็นสายงานอำนวยการและสายงานบริหารนั้น ต้องใช้วิธีสอบคัดเลือก โดยคณะกรรมการกลางข้าราชการหรือพนักงานส่วนท้องถิ่น (ก.จ./ก.ท./ก.อบต.) ได้วางหลักเกณฑ์ปิดกั้นโอกาสกรณีที่ผู้ขอย้ายเปลี่ยนสายงานมีระยะเวลาในการดำรงตำแหน่งในระดับชำนาญการไม่ครบถ้วนตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด แต่ประกาศและบัญชีแนบท้ายประกาศฉบับนี้ได้ให้สิทธิพิเศษแก่ข้าราชการพลเรือนในระดับชำนาญการเหนือกว่าข้าราชการส่วนท้องถิ่น เพราะสามารถโอนมาเป็นข้าราชการส่วนท้องถิ่นในสายงานอำนวยการในระดับต้นได้ทันที จึงเป็นการปฏิบัติที่ไม่เท่าเทียม ไม่เสมอภาค ไม่เป็นธรรม เป็นการกีดกันความเจริญก้าวหน้าของข้าราชการส่วนท้องถิ่น และเปิดช่องให้มีการรับโอนข้าราชการประเภทอื่นโดยไม่ต้องผ่านกระบวนการสอบ (๒.๒) กีดกันความสามารถของข้าราชการส่วนท้องถิ่น เนื่องจากการที่ข้าราชการส่วนท้องถิ่นในสายงานอำนวยการและสายงานบริหารจะได้รับการแต่งตั้งให้เลื่อนตำแหน่งในระดับที่สูงขึ้น ต้องใช้วิธีสอบคัดเลือก โดยมีการกำหนดระยะเวลาที่ดำรงตำแหน่ง เงินเดือน ประสบการณ์ และผลงานในด้านบริหารงานท้องถิ่น แต่จากบัญชีแนบท้ายประกาศนี้กลับเปิดช่องให้ข้าราชการพลเรือนซึ่งมีระดับตำแหน่งที่ต่ำกว่า และคนละสายงาน สามารถโอนมาดำรงตำแหน่งในสายงานอำนวยการและสายงานบริหารได้ทันทีโดยไม่ต้องผ่านระบบการสอบคัดเลือก ซึ่งเป็นการกีดกันความสามารถของข้าราชการส่วนท้องถิ่นและไม่เป็นธรรมกับข้าราชการส่วนท้องถิ่นที่ตั้งใจปฏิบัติหน้าที่ เป็นการลดเกียรติศักดิ์ของข้าราชการส่วนท้องถิ่น ตอกย้ำความด้อยโอกาสและตอกย้ำความรู้สึกอัดอั้นตันใจของข้าราชการส่วนท้องถิ่นที่มีความคิดว่าถูกข้าราชการพลเรือนกดขี่มาอย่างต่อเนื่องโดยผ่านกระบวนการที่ข้าราชการพลเรือนเหล่านั้น เป็นผู้กำหนดกฎในการบริหารงานบุคคลทั้งในระดับมาตรฐานกลาง มาตรฐานทั่วไป และหลักเกณฑ์ทั่วไปที่ผ่านมติของคณะกรรมการมาตรฐานการบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น (กถ.) คณะกรรมการกลางข้าราชการหรือพนักงานส่วนท้องถิ่น (ก.จ./ก.ท./ก.อบต.) และคณะกรรมการข้าราชการหรือพนักงานส่วนท้องถิ่นจังหวัด (ก.จ.จ./ก.ท.จ./ก.อบต.จังหวัด) (๒.๓) ขาดความมั่นคงในอาชีพ การประกาศใช้มาตรฐานกลางฉบับนี้ นอกจากเป็นการบั่นทอนขวัญกำลังใจของข้าราชการส่วนท้องถิ่นอย่างมากแล้ว ยังสร้างความไม่เชื่อมั่นต่อระบบคุณธรรมในการบริหารงานบุคคลที่มีคณะกรรมการมาตรฐานการบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่นเป็นองค์กรกลาง สั่นคลอนความมั่นคงในอาชีพของข้าราชการส่วนท้องถิ่น ที่มีความตั้งใจปฏิบัติหน้าที่แต่หากมีการเปิดช่องให้มีการรับโอนข้าราชการประเภทอื่นที่มีระดับตำแหน่งต่ำกว่าระดับตำแหน่งของข้าราชการส่วนท้องถิ่นมาดำรงตำแหน่งในสายงานบริหารและสายงานอำนวยการได้ จะทำให้โอกาสในการเจริญเติบโตก้าวหน้าในตำแหน่งหน้าที่ที่สูงขึ้นของข้าราชการส่วนท้องถิ่นลดลง เพราะอาจมีข้าราชการพลเรือนหรือข้าราชการประเภทอื่นจำนวนมากโอนมาดำรงตำแหน่งเหล่านั้นแทน อนึ่ง สมาคมฯเห็นว่า ประกาศฯฉบับนี้มีสภาพเป็นกฎที่เห็นได้ชัดแจ้งว่าเป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ด้วยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น สมาคมข้าราชการส่วนท้องถิ่นแห่งประเทศไทย จึงใคร่ขอให้คณะกรรมาธิการฯ ได้โปรดพิจารณาให้มีการตรวจสอบการบังคับใช้ตามประกาศดังกล่าว โดยสมาคมฯมีความเห็นว่า ควรที่จะมีการแต่งตั้งคณะทำงานขึ้นมาศึกษารายละเอียดประกาศหลักเกณฑ์ดังกล่าวอีกครั้งหนึ่ง โดยขอให้มีผู้แทนของข้าราชการส่วนท้องถิ่นสายงานบริหารท้องถิ่น สายงานอำนวยการท้องถิ่น และสายงานวิชาการท้องถิ่น เข้าร่วมเป็นคณะทำงานไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่ง เพื่อร่วมกันพิจารณาปรับปรุงแก้ไขบัญชีเทียบระดับตำแหน่งเพื่อรับโอนข้าราชการตามกฎหมายอื่นมาบรรจุเป็นพนักงานส่วนท้องถิ่น แนบท้ายประกาศคณะกรรมการมาตรฐานการบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น เรื่อง มาตรฐานกลางเกี่ยวกับการรับโอนข้าราชการตามกฎหมายอื่นมาบรรจุเป็นพนักงานส่วนท้องถิ่น ลงวันที่ ๑๒ มิถุนายน ๒๕๖๒ ให้เกิดความเสมอภาค และเป็นธรรมต่อทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องโดยทันที เมื่อได้ข้อสรุปเป็นประการใดแล้วขอได้โปรดจัดให้มีการรับฟังความเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ตามนัยมาตรา ๗๗ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช ๒๕๖๐ ก่อนจะเสนอต่อคณะกรรมการกลางข้าราชการหรือพนักงานส่วนท้องถิ่น ให้มีมติเห็นชอบและประกาศใช้ ๓) ขอความอนุเคราะห์ช่วยดำเนินการผลักดันร่างพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการส่วนท้องถิ่น พ.ศ...เข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรโดยเร็ว เนื่องจากกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย และหน่วยงานหลายแห่งได้พยายามยกร่างพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการส่วนท้องถิ่น พ.ศ.... มาหลายรัฐบาล ตั้งแต่หลังมีรัฐธรรมนูญ ๒๕๕๐ กว่า ๑๒ ปี เพื่อปรับปรุงแก้ไขระบบการบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่นให้เกิดความเป็นเอกภาพและแก้ไขปัญหาต่างๆ ได้อย่างทันสถานการณ์ แต่ยังไม่ประสบผลสำเร็จ ดังนั้น สมาคมฯจึงใคร่ขอความอนุเคราะห์จากคณะกรรมาธิการฯได้พิจารณาผลักดันให้ร่างกฎหมายดังกล่าวได้เข้าสู่กระบวนการพิจารณาของรัฐสภาภายในปีงบประมาณ ๒๕๖๓ นี้ ทั้งนี้ โดยการนำร่างพระราชบัญญัติเดิมที่มีการร่างไว้ก่อนหน้านี้หลายฉบับมาปรับปรุงให้เหมาะสม และให้มีผู้แทนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั้งฝ่ายการเมืองและฝ่ายข้าราชการประจำเข้ามามีส่วนร่วมในการยกร่างในครั้งนี้ด้วย 4) ขอความอนุเคราะห์ช่วยดำเนินการผลักดันร่างพระราชบัญญัติกระจายหน้าที่และอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ...เข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรโดยเร็ว ตามที่คณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้ยกร่างพระราชบัญญัติกระจายหน้าที่และอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ.... ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๖๐ เป็นต้นมา เพื่อปรับปรุงแก้ไขปัญหาต่างๆ ของความไม่ชัดเจนในหน้าที่และอำนาจขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ ๒๕๖๐ ซึ่งสมาคมฯพิจารณาแล้วเห็นว่า ร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวจะสามารถแก้ไขปัญหาความไม่ชัดเจนในหน้าที่และอำนาจขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดังที่สำนักงานตรวจเงินแผ่นดินได้อ้างขึ้นเพื่อทักท้วงการปฏิบัติหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จนทำให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไม่สามารถจัดบริการสาธารณะให้กับประชาชนได้อย่างเต็มศักยภาพได้ ทำให้ประชาชนเสียประโยชน์จากการที่จะได้รับบริการจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ดังนั้น สมาคมฯจึงใคร่ขอความอนุเคราะห์จากคณะกรรมาธิการฯได้ติดตามและเร่งรัด ผลักดันให้ร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรโดยเร็ว นายพิพัฒน์ฯกล่าว ด้าน ศ.ดร.โกวิทย์ พวงงาม รองประธานคณะกรรมาธิการการกระจายอำนาจฯคนที่ 1 กล่าวว่า ต้องขอบคุณคณะของสมาคมฯที่ได้สรุปปัญหาอุปสรรคต่างๆ มายังคณะกรรมาธิการให้รับทราบ ส่วนตัวแล้วก็รับทราบปัญหาต่างๆ มาบ้างแล้ว แต่ยังไม่มีหน่วยงานใดที่ส่งมาให้เป็นลายลักษณ์อักษร ตนและอาจารย์ชำนาญฯ ได้ปรึกษาหารือกันตลอดว่า จะร่วมกับพวกเราที่เป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแก้ไขปัญหาให้พวกเราอย่างไร ซึ่งคณะกรรมาธิการฯก็มีอำนาจหน้าที่เพียงแต่การตรวจสอบ และเรียกบุคคลที่เกี่ยวข้องมาชี้แจง และสรุปเสนอต่อรัฐมนตรีหรือคณะรัฐมนตรี เพื่อเร่งรัดแก้ไข “ประเด็นที่นำเสนอวันนี้ มีหลายเรื่องที่น่าสนใจ โดยเฉพาะเรื่องเทียบโอนข้าราชการตามกฎหมายอื่นมาบรรจุแต่งตั้งยังองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่ไปลดระดับของข้าราชการส่วนท้องถิ่นเทียบได้ต่ำกว่าพลเรือน ซึ่งผมเป็นอดีตข้าราชการมาก็ยังไม่เคยเห็น ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญ เป็นเรื่องใหญ่ ที่มีผลกระทบต่อขวัญกำลังใจของข้าราชการส่วนท้องถิ่น ผมจะได้เสนอประธานกรรมาธิการฯให้เชิญประธาน ก.ถ.มาชี้แจงเป็นการเร่งด่วนต่อไป สำหรับประเด็นอื่นๆ ก็จะนำเสนอต่อคณะกรรมาธิการฯซึ่งอาจต้องแยกประเด็นเป็นเรื่องๆ ไป” ศ.ดร.โกวิทย์ กล่าว ส่วนนายชำนาญ จันทร์เรือง รองประธานคณะกรรมาธิการการกระจายอำนาจฯคนที่ 2 กล่าวว่า ตนเคยเป็นอดีตข้าราชการพลเรือน ข้าราชการศาลปกครอง ผมก็ไม่เคยเห็นปรากฏการณ์เช่นนี้มาก่อน ที่ไปเทียบตำแหน่งของข้าราชการพลเรือนสูงกว่าข้าราชการส่วนท้องถิ่น ซึ่งโดยหลักกฎหมายมหาชนแล้ว แม้ว่าคุณจะจบปริญญาตรี โท เอก จากสถาบันการศึกษาใดไม่ว่า จะเป็นจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยรามคำแหง เป็นต้น คุณจะมาเลือกปฏิบัติแบบนี้ไม่ได้ว่า หากจบสถาบันโน้นได้เงินเดือนเท่านี้ จากสถาบันนี้ได้เงินเดือนแค่นี้ เพราะไม่ได้เป็นบริษัทเอกชนที่จะเลือกปฏิบัติแบบนั้นได้ เช่นเดียวกันกับ การเทียบตำแหน่ง มันต้องเทียบเท่าระหว่างกัน ไม่ว่าคุณจะเป็นข้าราชการประเภทใด ส่วนกลาง ภูมิภาค หรือท้องถิ่น หลักความเสมอภาคนี้ต้องเท่าเทียมกัน จึงไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งกับ ก.ถ.ที่กำหนดแบบนี้ออกมา “และเห็นด้วยกับอาจารย์โกวิทย์ฯที่บอกว่า เป็นเรื่องใหญ่ และสำคัญ ที่จะต้องพิจารณาเร่งด่วน สำหรับประเด็นอื่นๆ นั้น จะได้นำเสนอต่อประธานกรรมาธิการฯเพื่อพิจารณาร่วมกันต่อไปว่า จะเชิญใครมาชี้แจงบ้าง และอาจต้องแยกเป็นประเด็นๆ ออกมา บางประเด็นสามารถดำเนินการได้ทันที บางประเด็นต้องมีการตั้งคณะทำงานเล็กๆ เพื่อศึกษา โดยอาจจะเชิญตัวแทนพวกเราเข้ามามีส่วนร่วมด้วย” นายชำนาญ กล่าว ขณะที่นายพิพัฒน์ ได้กล่าวทิ้งท้ายว่า พวกเราข้าราชการส่วนท้องถิ่นมีความหวังกับคณะกรรมาธิการการกระจายอำนาจฯเป็นอย่างมากว่า จะสามารถแก้ไขปัญหาต่างๆ เหล่านี้ ซึ่งหมักหมมมานานนับสิบๆ ปี ให้ลุล่วงไปโดยเร็ว เพราะคณะกรรมาธิการฯมีตัวแทนที่เป็นอดีตผู้บริหารท้องถิ่น สมาชิกสภาท้องถิ่น และนักวิชาการด้านการปกครองท้องถิ่นจำนวนมาก +++++++++++++++++