“สมคิด”มั่นใจชิมช้อมใช้ เฟส 2 ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ ขณะที่ประธานเครือสหพัฒน์หนุนเติมกำลังซื้อรายย่อย ย้ำเศรษฐกิจไทยไม่ได้ย่ำแย่ตามที่หลายฝ่ายห่วง ยันพื้นฐานแกร่ง วอนแบงก์ชาติดูแลค่าบาทอย่าให้แข็งมากเกินไป นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า โครงการชิมช้อปใช้เฟส 2 ยังจำเป็นต้องแจกเงิน 1,000 บาทให้กับผู้ลงทะเบียน เพราะเป็นเครื่องมือหนึ่งในการส่งเสริมให้ประชาชนใช้จ่ายเงินกระตุ้นเศรษฐกิจมากขึ้น และที่ผ่านมามองว่าประชาชนใช้จ่ายเงินคล่องมากขึ้น นับว่าการออกโครงการชิมช้อปใช้ เป็นวิธีการที่ได้ผล เพราะดึงดูดให้ประชาชนผู้ลงทะเบียนออกไปใช้จ่ายต่างจังหวัดมากขึ้น และยังดึงดูดให้ร้านค้ารายย่อย รายใหญ่ รายใหม่นับแสนรายเข้ามาร่วมโครงการมากขึ้น รัฐบาลจึงต้องเร่งพัฒนาระบบข้อมูล Big Data เพื่อเชื่อมโยงข้อมูลกับหลายหน่วยงานของรัฐ เพื่อรองรับการให้สวัสดิการรูปแบบต่างๆเพิ่มเติม สำหรับตัวเลขการส่งออกเดือนก.ย.62 แม้ติดลบร้อยละ 1.4 ยังถือว่าเป็นตัวเลขที่ดีสำหรับประเทศไทย เนื่องจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัว และไทยยังมีสินค้าอีกหลายกลุ่มสามารถทำตลาดเพื่อการส่งออกได้ เช่น สินค้าเกษตร และสินค้าทำตลาดเฉพาะกลุ่มในประเทศเป้าหมาย นายบุณยสิทธิ์ โชควัฒนา ประธานเครือสหพัฒน์ กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยไม่ได้แย่เหมือนที่หลายฝ่ายกังวล เพราะพื้นฐานเศรษฐกิจไทยยังเข้มแข็ง และการชะลอตัวลักษณะดังกล่าวเป็นแบบนี้มานานหลายปี เศรษฐกิจไทยยังดำเนินอยู่ไปได้ เศรษฐกิจไทยจึงไม่ได้เลวร้ายอย่างที่คิด สิ่งที่หลายฝ่ายกังวลคือ กำลังซื้อของรายย่อยที่ขาดหายไป จึงต้องเติมกำลังซื้อรูปแบบต่างๆเช่น ชิมช้อปใช้ เพื่อให้ภาคเกษตร ร้านค้ารายย่อย วิสาหกิจชุมชน มีอำนาจซื้อเพิ่มขึ้น ทั้งนี้สิ่งสำคัญต้องการให้ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ดูแลค่าเงินบาทอย่างใกล้ชิด เพื่อประคองเศรษฐกิจไทยให้เหมาะสม ยอมรับว่าเงินบาทแข็งค่าส่งผลดีต่อการลงทุน นำเข้าเครื่องมือเครื่องจักรเข้ามาขยายการลงทุน เพื่อพัฒนาโครงสร้างหลักของประเทศ อีกมุมหนึ่งการดูแลส่งออก ด้วยการให้เงินบาทอ่อนค่าสอดคล้องกับประเทศเพื่อนบ้าน ดูแลสินค้าเกษตร สร้างรายได้ให้เกษตรกร ยังเป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องดูแล ขณะที่การทำงานปัจจุบัน ธปท.ยังให้ความสำคัญกับการปรับทิศทางนโยบายดอกเบี้ยสอดคล้องกับแนวโน้มอัตราของธนาคารกลางสหรัฐฯ(เฟด) จนทำให้กองทุนเฮดฟันด์จับทิศทางนโยบายการเงินของไทยได้ ส่งผลให้เงินบาทแข็งค่าในปัจจุบัน ท้ายที่สุดส่งผลกระทบต่อภาคเกษตรรายย่อยของประเทศ ขณะที่หลายประเทศทั้งพัฒนาแล้วหรือบางประเทศ ธนาคารกลางใช้นโยบายการเงินช่วยดูแลเศรษฐกิจในประเทศในช่วงทั่วโลกประสบปัญหา จึงอยากให้ ธปท.พิจารณาปัจจัยดังกล่าวนี้ เพื่อดูแลเงินบาทอ่อนค่าลงดูแลภาคเกษตร