สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ Fan Page ได้โพสต์ระบุ #ข่าวดีต้อนรับเช้าวันอังคาร #คิวริออซิตีพบร่องรอยน้ำที่หายไปบนดาวอังคาร โดยว่า “ยานสำรวจดาวอังคารคิวริออซิตีขององค์การนาซา (NASA's Mars Curiosity rover) ค้นพบหลักฐานร่องรอยของน้ำที่หายไปบริเวณ #หลุมอุกกาบาตเกล (Gale crater) (บริเวณภายในวงรีสีดำด้านล่างของภาพ) คาดว่ากระบวนการนี้เกิดขึ้นเมื่อหลายล้านปีมาแล้ว ข้อมูลล่าสุดจากยานคิวริออซิตีที่เผยแพร่ในวารสาร Nature Geoscience เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2562 แสดงให้เห็นว่า เมื่อประมาณ 3,500 ล้านปีก่อน อุกกาบาตพุ่งชนดาวอังคาร ทำให้เกิดหลุมขนาดใหญ่กว้างประมาณ 160 กิโลเมตร ลึกมากกว่า 100 เมตร คาดว่าเป็นสาเหตุทำให้น้ำบนดาวอังคารเริ่มระเหย เนื่องจากพบร่องรอยเกลือปนอยู่กับกำมะถันเรียกว่าซัลเฟต (Sulfates)ในชั้นหินของหลุมอุกกาบาตเกลอายุประมาณ 3,300 - 3,700 ล้านปี บ่งชี้ว่าน้ำในทะเลสาบระเหยจากพื้นผิวในช่วงเวลานี้ ส่วนหินที่มีอายุมากกว่านั้นไม่สามารถวิเคราะห์ได้เนื่องจากไม่พบความเข้มข้นของเกลือ ชั้นหินที่มีเกลือความเข้มข้นสูงบ่งบอกว่าสภาพอากาศของดาวอังคารเปลี่ยนแปลงไปมากในช่วงเวลาหลังจากนั้น นักวิทยาศาสตร์ศึกษาความเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมภายในหลุมอุกกาบาตเกลเพิ่มเติมพบว่าหินชั้นล่างสุดเก่าแก่กว่าชั้นหินด้านบน จึงใช้ความแตกต่างของชั้นหินวิเคราะห์องค์ประกอบทางเคมี เพื่อหาอายุและศึกษาสภาพแวดล้อมที่เกิดขึ้นในอดีตของดาวอังคาร วิลเลียม ราแป็ง (William Rapin) นักวิทยาศาสตร์ดาวเคราะห์จากสถาบันเทคโนโลยีแห่งแคลิฟอร์เนีย(Caltech) กล่าวว่า "จากการศึกษาทางธรณีวิทยาและสภาพอากาศของโลกที่ผ่านมา ทำให้เราทราบว่าสิ่งที่เกิดขึ้นบนดาวอังคารนั้นแตกต่างจากโลกมาก การศึกษานี้จึงช่วยให้เราเข้าใจวิวัฒนาการและการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมบนดาวอังคารในช่วงหลายล้านปีที่ผ่านมาได้ดียิ่งขึ้น" เรียบเรียง : นายกฤษณะ ล่ามสมบัติ เจ้าหน้าที่สารสนเทศดาราศาสตร์-สดร. ประจำหอดูดาวภูมิภาคฯ นครราชสีมา อ้างอิง: http://astronomy.com/…/this-lake-on-mars-was-drying-up-bill… http://astronomy.com/…/nasas-mars-curiosity-rover-finds-clu… https://www.nature.com/articles/s41561-019-0458-8 ขอบคุณเรื่อง-ภาพ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ Fan Page