วันนี้ (8 มี.ค.60) นายอนันต์ มหัจฉริยพันธุ์ สหกรณ์จังหวัดพิษณุโลก เป็นประธานเปิดโครงการตลาดเกษตรกรของสหกรณ์ (Co-op Market) เพื่อสนับสนุนให้สหกรณ์มีบทบาทหน้าที่ทางด้านการตลาดให้แก่เกษตรกรในการรวบรวมผลผลิต การจัดหาสินค้ามาจำหน่าย เพื่อการพัฒนาระบบตลาดสินค้าเกษตรให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น โดยมีนายนพดล จัตุรัส ผู้อำนวยการนิคมสหกรณ์วังทอง พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่จากกลุ่มส่งเสริมและพัฒนาธุรกิจสหกรณ์ สมาชิกสหกรณ์และเกษตรกรในพื้นที่ที่เข้าร่วมโครงการฯ ร่วมประชุม ณ เทศบาลตำบลไทรย้อย อ.เนินมะปราง จ.พิษณุโลก นายอนันต์ มหัจฉริยพันธุ์ สหกรณ์จังหวัดพิษณุโลก นายอนันต์ มหัจฉริยพันธุ์ สหกรณ์จังหวัดพิษณุโลก กล่าวว่า กรมส่งเสริมสหกรณ์ มีนโยบายส่งเสริมและสนับสนุนการจัดตั้งตลาดเกษตรกร ภายใต้แผนงานพัฒนาเศรษฐกิจระดับฐานรากผลผลิตสหกรณ์/กลุ่มเกษตรกร เพื่อส่งเสริมและพัฒนาตลาดสินค้าสหกรณ์ตลอดห่วงโซ่คุณค่า (CDC) โดยส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการจัดตั้งตลาดเกษตรกร ตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ.2557 เป็นต้นมา เพื่อส่งเสริมสนับสนุนให้สหกรณ์มีบทบาทหน้าที่ทางด้านการตลาดให้แก่เกษตรกรในการรวบรวมผลผลิตและจัดหาสินค้ามาจำหน่ายให้แก่สมาชิก รวมทั้งการผลักดันกิจกรรมต่างๆ ของเกษตรกรให้เกิดการเชื่อมโยงเครือข่ายระหว่างเกษตรกรกับตลาดหรือผู้ซื้อ เพื่อให้สหกรณ์ได้อำนวยความสะดวกในการบริหารจัดการตลาดสินค้าเกษตรร่วมกับสมาชิกสหกรณ์ กลุ่มผู้ผลิตสินค้าเกษตรในพื้นที่ให้มีสถานที่จำหน่ายผลผลิตสินค้าเกษตรกรสู่ผู้บริโภคโดยตรง สหกรณ์จังหวัดพิษณุโลก กล่าวว่า สำนักงานสหกรณ์จังหวัดพิษณุโลก ได้คัดเลือกสหกรณ์นิคมเนินมะปราง จำกัด เข้าร่วมโครงการตลาดเกษตรกรของสหกรณ์ (Co-op Market) เพื่อแก้ปัญหาตลาดสินค้าเกษตรของสมาชิกสหกรณ์ และกลุ่มผู้ผลิตสินค้าเกษตรในพื้นที่แบบมีส่วนร่วม จากข้อมูลเบื้องต้น เกษตรกรประกอบอาชีพทำสวนมะม่วง ปลูกพืชผัก พริก แตงกวา มะนาว เป็นต้น ปัจจุบันยังคงประสบปัญหาด้านตลาดและราคาผลผลิตตกต่ำ การขาดแคลนแหล่งน้ำทำการเกษตร การขาดแคลนเงินทุนประกอบอาชีพ ซึ่งการดำเนินโครงการดังกล่าว จึงเป็นอีกหนึ่งช่องทางที่จะช่วยสร้างโอกาสให้แก่เกษตรกรได้เกิดการรวมกลุ่ม เพื่อการแก้ไขปัญหาช่วยเหลือซึ่งกันและกัน โดยมีสหกรณ์เป็นองค์กรหลักในการขับเคลื่อนแผนงานโครงการ เพื่อส่งเสริมให้มีการร่วมกลุ่มการผลิต การลดต้นทุนการผลิต การสินค้าเกษตรกรให้ได้คุณภาพมาตรฐานความปลอดภัย (GAP) ในรูปแบบของการทำเกษตรอินทรีย์ เพื่อให้เกษตรกรสามารถพัฒนาผลผลิตของตนเองให้มีคุณภาพตรงต่อความต้องการของตลาด เพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรช่วยให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น นายอนันต์ กล่าวอีกว่า ได้มีการหารือแนวทางร่วมกัน ในการวางแผนขับเคลื่อนจัดทำตลาดเกษตรกร (Co-op Market) ให้ประสบผลสำเร็จ แผนการนำเทคโนโลยีระบบคิวอาร์โค้ด (QR Code) มาประยุกต์ใช้ในสินค้าเกษตรแต่ละชนิดที่ผ่านการรับรองมาตรฐาน GAP โดยให้สหกรณ์ดำเนินการจัดทำฐานข้อมูลสมาชิก เพื่อการวางระบบตรวจสอบคุณภาพสินค้าจากแหล่งผลิตผ่านระบบคิวอาร์โค้ด (QR Code) เพื่อเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคในการเลือกซื้อสินค้าเกษตรผ่านระบบสหกรณ์ต่อไป