นายพิพัฒน์ วรสิทธิดำรงค์ นายกสมาคมข้าราชการส่วนท้องถิ่นแห่งประเทศไทย นำสมาชิกสมาคมฯเข้ายื่นหนังสือต่อนาย นายประยูร รัตนเสนีย์ อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น เพื่อให้เร่งรัดแก้ไขปัญหาการบริหารงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น นายพิพัฒน์ กล่าวว่าสมาคมข้าราชการส่วนท้องถิ่นแห่งประเทศไทย ได้จัดให้มีเวทีสัมมนาทางวิชาการเพื่อรับฟังความเห็นจากตัวแทนผู้บริหารท้องถิ่น สมาชิกสภาท้องถิ่น และข้าราชการส่วนท้องถิ่น ทั่วประเทศ เกี่ยวกับการปัญหาอุปสรรคในการปฏิบัติหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในอดีตและปัจจุบัน นอกจากนั้น สมาคมฯยังได้รวบรวมความคิดเห็น ข้อเสนอแนะจากผู้บริหารท้องถิ่น สมาชิกสภาท้องถิ่น ข้าราชการส่วนท้องถิ่น ลูกจ้างประจำและพนักงานจ้างขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผ่านช่องทางสื่อออนไลน์ เช่น เฟสบุ๊ค ไลน์ เว็บไซด์ เป็นต้น และได้นำความเห็น ข้อเสนอแนะจากเวทีสัมมนาทางวิชาการและข้อเสนอแนะดังกล่าว จัดประชุมสัมมนาคณะกรรมการบริหารสมาคมฯ จึงได้สรุปเป็นข้อเสนอต่อท่านอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น เพื่อประกอบการพิจารณาในการเสนอให้มีการปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย ระเบียบ หลักเกณฑ์ ต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ เพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติที่ถูกต้อง เหมาะสมกับสภาพการณ์ที่เปลี่ยนไปในปัจจุบันและอนาคตแก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั่วประเทศต่อไป ดังนี้ ๑) ด้านรายได้ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จากที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้รับการถ่ายโอนภารกิจจากกระทรวง ทบวง กรม ต่างๆ ตามพระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. ๒๕๔๒ โดยภารกิจส่วนใหญ่มิได้จัดสรรงบประมาณตามมาด้วย หรือจัดสรรแต่มีจำนวนน้อยไม่เพียงพอต่อการบริหารจัดการ ทำให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้องรับภาระดังกล่าวเพิ่มเติม จึงขอให้ดำเนินการแก้ไข ดังนี้ ๑.๑)ขอให้รัฐบาลจัดสรรงบประมาณในรูปของเงินอุดหนุนทั่วไปที่ไม่กำหนดวัตถุประสงค์เพิ่มมากขึ้น โดยให้ลดเงินอุดหนุนเฉพาะกิจหรือเงินอุดหนุนทั่วไปที่กำหนดวัตถุประสงค์ไว้แล้ว ๑.๒)ขอให้รัฐบาลได้ชดเชยรายได้ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ได้รับผลกระทบจากการยกเลิก ภาษีบำรุงท้องที่ และภาษีโรงเรือน เพื่อให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นขนาดเล็กมีรายได้เพียงพอต่อการพัฒนาและบริการประชาชนอย่างทั่วถึงและเสมอภาค ๑.๓)ขอให้รัฐบาลได้ตัดโอนงบประมาณที่หน่วยงานส่วนกลางหรือส่วนภูมิภาคเคยได้รับในภารกิจที่ได้ถ่ายโอนให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแล้ว จัดสรรให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้นๆ เพิ่มเติมอย่างต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี ๒) ปัญหาระเบียบว่าด้วยค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรมฯ จากที่กระทรวงมหาดไทยได้วางระเบียบว่าด้วยค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรมและการเข้ารับการฝึกอบรมของเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น พ.ศ. ๒๕๕๗ ในข้อ ๒๘ ได้แบ่งแยกระหว่างหน่วยงานผู้จัดซึ่งเป็นหน่วยงานราชการกับหน่วยงานอื่น โดยกำหนดให้หน่วยงานราชการของรัฐสามารถเรียกเก็บค่าลงทะเบียนฝึกอบรมไม่มีขอบเขตจำกัด แต่สำหรับหน่วยงานที่เป็นองค์กรอื่น สามารถเก็บอัตราค่าลงทะเบียนได้เพียงวันละ ๓๐๐ – ๖๐๐ บาท ซึ่งไม่สอดคล้องกับระเบียบของกระทรวงการคลังว่าด้วยการดังกล่าวด้วยที่ไม่ได้กำหนดวงเงินและแบ่งแยกหน่วยงาน โดยให้อยู่ในดุลยพินิจของหัวหน้าหน่วยงาน จากเหตุดังกล่าวเป็นอุปสรรคต่อองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีความประสงค์จะพัฒนาศักยภาพของบุคลากรในด้านต่างๆ โดยเฉพาะด้านภาษาต่างประเทศ เช่น ภาษาอังกฤษ จีน พม่า เขมร เป็นต้น หรือพัฒนาทางความรู้ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ด้านระบบดิจิทัล ด้านการประชาสัมพันธ์ ฯลฯ เนื่องจากหน่วยงานที่จัดอบรมในลักษณะดังกล่าวจะเป็นองค์กรภาคเอกชน และมีการจัดอบรมภาษีเป็นลักษณะเหมาจ่าย มีระยะเวลาต่อเนื่องในช่วงเย็นของแต่ละวันหรือในช่วงวันหยุดราชการ ซึ่งระเบียบกระทรวงมหาดไทยดังกล่าว ได้กำหนดอัตราค่าใช้จ่ายที่ไม่สอดคล้องกับข้อเท็จจริงที่เปลี่ยนไปในปัจจุบันและในอนาคต สมาคมฯจึงใคร่ขอความอนุเคราะห์ให้ท่านได้พิจารณาสั่งการให้มีการแก้ไขบัญชีแนบท้ายระเบียบนี้ ให้สอดคล้องกับสภาพการณ์ในปัจจุบัน และสอดรับกับระเบียบกระทรวงการคลัง ว่าด้วยค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรมการจัดงาน และการประชุมระหว่างประเทศ พ.ศ. ๒๕๔๙ รวมที่แก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ ๒ พ.ศ. ๒๕๕๒ และฉบับที่ ๓ พ.ศ. ๒๕๕๕ ๓) การสนับสนุนการดำเนินงานขององค์กรข้าราชการส่วนท้องถิ่น ๓.๑)ขอให้แก้ไขระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยรายจ่ายขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเกี่ยวกับค่าบำรุงสมาคม พ.ศ. ๒๕๕๕ ตามระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยรายจ่ายขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเกี่ยวกับค่าบำรุงสมาคม พ.ศ. ๒๕๕๕ ได้กำหนดให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอาจมีรายจ่ายเป็นค่าบำรุงสมาคมได้ แต่มีขอบเขตจำกัดเพียงสมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย สมาคมองค์การบริหารส่วนจังหวัดแห่งประเทศไทย และสมาคมองค์การบริหารส่วนตำบลแห่งประเทศไทย เท่านั้น ซึ่งมีความไม่เป็นธรรมและไม่เสมอภาค เนื่องจากสมาคมที่จัดตั้งขึ้นโดยข้าราชการส่วนท้องถิ่นมีความมุ่งหมายเพื่อส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพของข้าราชการส่วนท้องถิ่น ลูกจ้างประจำ และพนักงานจ้าง เป็นส่วนรวม ทั้งนี้ โดยมีเป้าหมายเพื่อให้ข้าราชการส่วนท้องถิ่นฯมีองค์ความรู้ มีศักยภาพเพียงพอในการบริการประชาชนในเขตพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ฉะนั้น จึงเห็นควรได้มีการพิจารณาให้มีการปรับปรุงแก้ไขระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยรายจ่ายขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเกี่ยวกับค่าบำรุงสมาคม พ.ศ. ๒๕๕๕ ให้ครอบคลุมถึงสมาคมของฝ่ายข้าราชการส่วนท้องถิ่น ซึ่งได้รับการจดทะเบียนเป็นภาพรวมของประเทศ เช่น สมาคมข้าราชการส่วนท้องถิ่นแห่งประเทศไทย สมาคมข้าราชการองค์การบริหารส่วนจังหวัดแห่งประเทศไทย และสมาคมพนักงานเทศบาลแห่งประเทศไทย เป็นต้น ๓.๒)การสนับสนุนให้องค์กรข้าราชการส่วนท้องถิ่นมีความเข้มแข็ง เนื่องจากข้าราชการส่วนท้องถิ่น ลูกจ้างประจำ และพนักงานจ้าง มีต้นสังกัดที่หลากหลายแตกต่างกัน ซึ่งทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำกันในหลายมิติ ทั้งมิติในด้านความเป็นธรรม มิติความเท่าเทียมด้านความก้าวหน้าในสายงาน มิติการได้รับโอกาสในการเรียนรู้ ทำให้มีความจำเป็นต้องมีองค์กรที่คอยให้การดูแล ส่งเสริม สนับสนุนการปฏิบัติหน้าที่ และคุ้มครองสิทธิประโยชน์ที่พึงได้รับตามกฎหมาย ระเบียบ หลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง จึงทำให้มีการรวมตัวของข้าราชการส่วนท้องถิ่น ลูกจ้างประจำ และพนักงานจ้าง ในรูปแบบ “สมาคม” หรือ “สมาพันธ์” หรือ “สหพันธ์” เพิ่มมากขึ้น ฉะนั้น จึงเห็นควรที่กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นควรช่วยเหลือให้ความอนุเคราะห์แก่ข้าราชการส่วนท้องถิ่น ลูกจ้างประจำ และพนักงานจ้าง โดยการสนับสนุนให้องค์กรที่ข้าราชการส่วนท้องถิ่น หรือลูกจ้างประจำ หรือพนักงานจ้าง เกิดความเข้มแข็ง เช่น (๑) วางระเบียบให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถให้การสนับสนุนงบประมาณแก่ องค์กรของข้าราชการส่วนท้องถิ่น ลูกจ้างประจำ และพนักงานจ้าง ซึ่งได้รับการจดทะเบียนถูกต้องตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หรือตามกฎหมายอื่น (๒) ให้การอนุเคราะห์ในการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ แจ้งเวียน ไปยังผู้ว่าราชการจังหวัด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กรณีที่องค์กรของข้าราชการส่วนท้องถิ่น ลูกจ้างประจำ และพนักงานจ้าง ร้องขอความช่วยเหลือหรือขอความอนุเคราะห์ กรณีที่มีการจัดกิจกรรม ฝึกอบรม ประชุมสัมมนา ผ่านช่องทางต่างๆ ของกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น และสำนักงานส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นจังหวัด (๓) กรณีที่กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น มีการกำหนดระเบียบ หลักเกณฑ์ ประกาศใดๆ ที่กระทบต่อสิทธิประโยชน์ สวัสดิการ ความก้าวหน้าของข้าราชการส่วนท้องถิ่น ลูกจ้างประจำ และพนักงานจ้าง ขอให้กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นได้เชิญตัวแทนของสมาคม สมาพันธ์ สหพันธ์ ของข้าราชการส่วนท้องถิ่น ลูกจ้างประจำ และพนักงานจ้าง ซึ่งได้รับการจดทะเบียนถูกต้องตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หรือตามกฎหมายอื่น มาซักซ้อม มาชี้แจง หรือรับฟังความเห็นก่อนที่จะมีการบังคับใช้ เพื่อสร้างบรรยากาศการมีส่วนร่วมระหว่างกัน ๔) การส่งเสริมและสนับสนุนการปฏิบัติหน้าที่ของกรรมการข้าราชการหรือพนักงานส่วนท้องถิ่นจังหวัด (ก.จังหวัด) ด้วยในห้วงเวลาที่ผ่านมา คณะกรรมการกลางข้าราชการหรือพนักงานส่วนท้องถิ่น (ก.กลาง) ได้มีการออกประกาศมาตรฐานทั่วไป หลักเกณฑ์ และมติต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการบริหารงานบุคคลจำนวนมาก ซึ่งบ่อยครั้งการนำไปสู่ภาคปฏิบัติไม่เป็นไปในทิศทางเดียวกันทั่วประเทศ จึงทำให้เกิดความลักลั่นในมาตรฐานการปฏิบัติที่แตกต่างกันระหว่างคณะกรรมการข้าราชการหรือพนักงานส่วนท้องถิ่นจังหวัด ในแต่ละจังหวัด ฉะนั้น จึงเห็นควรที่กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น จะได้พิจารณาจัดให้มีการประชุมสัมมนาระหว่างฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการกลางข้าราชการหรือพนักงานส่วนท้องถิ่น (ก.กลาง) กับ กรรมการข้าราชการหรือพนักงานส่วนท้องถิ่นจังหวัด (ก.จังหวัด) ซึ่งมาจากฝ่ายของข้าราชการส่วนท้องถิ่นทุกประเภท ทุกๆ ๓ เดือน เพื่อเป็นการเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเจตนารมณ์แห่งการออกประกาศ มาตรฐาน หลักเกณฑ์ หรือมติของคณะกรรมการกลางข้าราชการหรือพนักงานส่วนท้องถิ่น (ก.กลาง) รวมทั้งรับทราบปัญหาอุปสรรคในการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการฯในระดับจังหวัดด้วย ๕) ปัญหาด้านการบริหารงานบุคคลขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ๕.๑)ขอให้ปลดล็อคการโอนย้ายระหว่างข้าราชการหรือพนักงานส่วนท้องถิ่นสายงานบริหาร/อำนวยการก่อนและหลังการเปิดสอบสายงานผู้บริหาร ตามที่คณะกรรมการกลางข้าราชการหรือพนักงานส่วนท้องถิ่น (ก.กลาง) ได้มีมติมิให้ข้าราชการส่วนท้องถิ่นสายงานผู้บริหาร/อำนวยการ โอน(ย้าย) ไปดำรงตำแหน่งภายหลังจากที่ตำแหน่งว่างเกิน ๖๐ วัน ทำให้เกิดปัญหาแก่การบริหารงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอย่างกว้างขวาง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหลายแห่งประสบปัญหาการขาดแคลนตำแหน่งสายงานผู้บริหาร เช่น ปลัดฯ รองปลัดฯ ผู้อำนวยการกองคลัง ผู้อำนวยการกองช่าง เป็นต้น ทำการให้บริการและดูแลทุกข์สุขแก่ประชาชนขาดประสิทธิภาพเพราะข้าราชการที่มีอยู่ไม่กล้าตัดสินใจดำเนินการในโครงการหรือกิจกรรมต่างๆ เพราะขาดผู้ดำรงตำแหน่งตัวจริงในการตัดสินใจให้เป็นไปตามกฎหมาย รวมทั้ง กรณีที่มีการบรรจุแต่งตั้งข้าราชการส่วนท้องถิ่นสายงานผู้บริหารจากการสอบคัดเลือกหรือคัดเลือกเมื่อปี ๒๕๖๑ ปรากฏข้อเท็จจริงว่า มีข้าราชการส่วนท้องถิ่นผู้ที่ได้รับการบรรจุแต่งตั้งในครั้งดังกล่าวมีความประสงค์โอน(ย้าย)กลับภูมิลำเนาแต่ติดขัดตรงเงื่อนไขดังกล่าว ดังนั้น เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนบุคลากรสายงานผู้บริหารในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหลายแห่ง การส่งเสริมสนับสนุนให้ข้าราชการส่วนท้องถิ่นได้กลับสู่ภูมิลำเนาเพื่อพัฒนาบ้านเกิด สมาคมฯได้รับการร้องขอจากข้าราชการส่วนท้องถิ่นสายงานผู้บริหารจำนวนมาก เพื่อร้องขอให้ท่านอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นได้พิจารณาสั่งการให้มีการเสนอต่อคณะกรรมการกลางข้าราชการหรือพนักงานส่วนท้องถิ่นเพื่อปลดล็อคการโอน(ย้าย)สายงานผู้บริหาร/อำนวยการ ให้เป็นไปตามความประสงค์ของแต่ละองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ก่อนที่จะมีการเปิดสอบคัดเลือก/คัดเลือกสายงานผู้บริหารอีกครั้งหนึ่ง และหากภายหลังการสอบคัดเลือก/คัดเลือกสายงานผู้บริหารสิ้นสุดลง หากยังไม่มีผู้สอบคัดเลือก/คัดเลือกได้หรือสอบได้ไม่เพียงพอต่อตำแหน่งที่ต้องการบรรจุแต่งตั้ง ขอให้ปลดล็อคในเรื่องดังกล่าวอีกครั้งหนึ่ง ๕.๒)ขอให้ทบทวนการสอบคัดเลือก/คัดเลือกสายงานผู้บริหาร ตามที่หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีคำสั่งที่ ๘/๒๕๖๐ ลงวันที่ ๒๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๐ ให้คณะกรรมการกลางข้าราชการหรือพนักงานส่วนท้องถิ่น (ก.กลาง) ดำเนินการสอบคัดเลือกหรือคัดเลือก สายงานผู้บริหาร (บริหารท้องถิ่น/อำนวยการท้องถิ่น) แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทั้งนี้ คณะกรรมการกลางข้าราชการหรือพนักงานส่วนท้องถิ่นอาจมอบอำนาจให้คณะกรรมการข้าราชการหรือพนักงานส่วนท้องถิ่นจังหวัด (ก.จังหวัด) ดำเนินการแทน นั้น จากการที่คณะกรรมการกลางข้าราชการหรือพนักงานส่วนท้องถิ่น(ก.กลาง)ได้ดำเนินการจัดสอบคัดเลือก/คัดเลือกสายงานผู้บริหารเมื่อปี ๒๕๖๑ ปรากฏข้อเท็จจริงว่า การสอบดังกล่าวประสบปัญหาหลายด้าน จนเป็นสาเหตุทำให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นขาดแคลนผู้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าหน่วยงานทั้งในตำแหน่ง ปลัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รองปลัดฯ ผู้อำนวยการสำนัก ผู้อำนวยการกอง หัวหน้าฝ่าย จำนวนมาก เป็น สาเหตุสำคัญอย่างหนึ่งที่ทำให้การบริหารงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหลายแห่งในห้วงปีที่ผ่านมา ไม่สามารถขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาลได้อย่างเต็มที่ ดังนั้น เพื่อให้การบริหารงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดำเนินไปด้วยความเรียบร้อย สามารถปฏิบัติหน้าที่บำบัดทุกข์บำรุงสุขแก่พี่น้องประชาชนในพื้นที่ได้อย่างเต็มศักยภาพ สมาคมฯจึงใคร่ขอความอนุเคราะห์จากท่านอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นได้โปรดพิจารณาให้มีการทบทวนการสอบคัดเลือก/คัดเลือกสายงานผู้บริหารท้องถิ่นที่จะจัดให้มีขึ้นในปีงบประมาณ ๒๕๖๓ นี้ โดยขอให้มีการปรับปรุงแก้ไขข้อบกพร่องต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากการสอบคัดเลือก/คัดเลือกเมื่อปี ๒๕๖๑ กล่าวคือ (๑) สถาบันหรือองค์กรที่จะออกข้อสอบ ไม่ควรให้สถาบันการศึกษาใดสถาบันการศึกษาหนึ่งเป็นการเฉพาะแต่ควรแต่งตั้งจากผู้ที่มีความรอบรู้ เข้าใจ ในกฎหมาย ระเบียบ หลักเกณฑ์ ที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้องถือปฏิบัติ (๒) พึงพิจารณาแนวทางการออกข้อสอบที่ครอบคลุมเนื้อหาที่ได้ประกาศไว้อย่างครบถ้วนและควรเป็นข้อสอบที่สามารถตรวจสอบความเที่ยงแท้ได้แม่นยำ โดยใช้ดุลยพินิจของผู้ตรวจข้อสอบน้อยที่สุด (๓) พึงใช้ข้อสอบที่ตรงตามมาตรฐานกำหนดตำแหน่งของแต่ละสายงาน มิใช่ใช้ข้อสอบชุดเดียวกันใช้ทดสอบกับทุกตำแหน่งทุกสายงาน ซึ่งไม่สามารถประเมินความรู้ความสามารถตามมาตรฐานกำหนดตำแหน่งนั้นๆ ได้ (๔) พึงแยกวันเวลาในการสอบ สำหรับตำแหน่งในระดับต้น กลาง สูง เป็นคนละวันกันเพื่อความสะดวกในการบริหารจัดการและการดูแลผู้เข้าสอบอย่างทั่วถึง (๕) พึงแต่งตั้งผู้แทนจาก ก.พ. / ก.พ.ร. / ก.ค. / ตัวแทนสถาบันการศึกษาของรัฐ / ตัวแทนจากสมาคมองค์การบริหารส่วนจังหวัดแห่งประเทศไทย สมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย สมาคมองค์การบริหารส่วนตำบลแห่งประเทศไทยและสมาคมข้าราชการส่วนท้องถิ่นแห่งประเทศไทย เพื่อร่วมสังเกตการณ์ในการดำเนินการสอบทุกขั้นตอน (๖) ขอให้พิจารณาถึงการสรรหาผู้ดำรงตำแหน่งในสายงานผู้บริหารระหว่างการ สอบคัดเลือกสายงานผู้ปฏิบัติ (วิชาการ) ขึ้นดำรงตำแหน่งสายงานผู้บริหาร(บริหารท้องถิ่นระดับต้น/อำนวยการท้องถิ่นระดับต้น) กับการคัดเลือกผู้ซึ่งดำรงตำแหน่งสายงานผู้บริหารอยู่แล้วเพื่อเลื่อนตำแหน่งให้สูงขึ้น (บริหารท้องถิ่น/อำนวยการท้องถิ่น จากระดับต้นเพื่อเลื่อนขึ้นดำรงตำแหน่งระดับกลาง หรือจากระดับกลางเพื่อเลื่อนขึ้นดำรงตำแหน่งระดับสูง) ซึ่งแต่เดิมมาตรฐานทั่วไปในเรื่องดังกล่าวใช้วิธีสอบคัดเลือกสำหรับการสอบเปลี่ยนงานจากสายงานวิชาการให้ดำรงตำแหน่งในสายงานผู้บริหารระดับต้น (สอบข้อเขียน) และใช้วิธีคัดเลือกสำหรับการเลื่อนระดับให้สูงขึ้น (ประเมินจากผลงานที่ล่วงมาแล้ว ๓ ปี / ประวัติการทำงาน / สัมภาษณ์วิสัยทัศน์) ซึ่งสอดคล้องกับการสอบคัดเลือกหรือคัดเลือกของข้าราชการพลเรือน (๗) เพื่อประสิทธิภาพในการดำเนินการจัดสอบคัดเลือกหรือคัดเลือกให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ ๘/๒๕๖๐ และประหยัดงบประมาณของรัฐที่ต้องใช้สำหรับข้าราชการส่วนท้องถิ่นที่ต้องเดินทางเข้ามาสอบในส่วนกลาง ซึ่งครั้งหนึ่งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้องใช้งบประมาณกว่า ๑๐๐ ล้านบาทสำหรับเป็นค่าใช้จ่ายในการเดินทางของข้าราชการส่วนท้องถิ่นที่เข้าสอบ (คำนวณจากผู้เข้าสอบ ๒๐,๐๐๐ ราย คูณด้วยประมาณการค่าใช้จ่ายคนละ ๕,๐๐๐ บาท) หากการดำเนินการสอบในครั้งนี้ ยังมีข้อบกพร่องที่คณะกรรมการกลางข้าราชการหรือพนักงานส่วนท้องถิ่นไม่สามารถแก้ไขหรือปรับปรุงให้เป็นไปตามมาตรฐานหรือเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพได้ พึงที่คณะกรรมการกลางข้าราชการหรือพนักงานส่วนท้องถิ่นจะมอบอำนาจการดำเนินการสอบคัดเลือกหรือคัดเลือกสายงานผู้บริหารในระดับต้น และระดับกลาง ให้คณะกรรมการข้าราชการองค์การบริหารส่วนจังหวัด (ก.จ.จ.) คณะกรรมการพนักงานเทศบาลจังหวัด (ก.ท.จ.) และคณะกรรมการพนักงานส่วนตำบลจังหวัด (ก.อบต.จังหวัด) ดำเนินการแทนตามนัยแห่งคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ ๘/๒๕๖๐ ข้อ ๒ วรรคสอง ๕.๓)ขอให้ทบทวนกรณีที่ข้าราชการส่วนท้องถิ่นที่สอบแข่งขันบัญชีการสอบได้ของ กสถ.ได้ และขอใช้บัญชีเพื่อย้ายเปลี่ยนสายงานลดอัตราเงินเดือนลง จากการที่คณะกรรมการกลางการสอบแข่งขันพนักงานส่วนท้องถิ่น (กสถ.) ได้ดำเนินการสอบแข่งขันบุคคลภายนอกเพื่อบรรจุแต่งตั้งเป็นพนักงานส่วนท้องถิ่นในสังกัด องค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาล องค์การบริหารส่วนตำบล และเมืองพัทยา ในปี ๒๕๖๐ และล่าสุดปี ๒๕๖๒ นั้น ในการสอบดังกล่าวได้มีข้าราชการหรือพนักงานส่วนท้องถิ่นในสายงานประเภททั่วไปได้เข้าสอบแข่งขันด้วย ทั้งนี้ เพื่อต้องการขอใช้บัญชีการสอบดังกล่าวย้ายเปลี่ยนสายงานเป็นสายงานประเภทวิชาการ ดังเช่นที่เคยปฏิบัติมาก่อนหน้านี้ที่ ก.จังหวัด หรือ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแต่ละแห่งได้จัดสอบขึ้นก่อนที่จะมีคำสั่งให้ กสถ.เป็นผู้ดำเนินการสอบแข่งขันแทน โดยไม่มีการลดอัตราเงินเดือนลง แต่ในการจัดสอบครั้งที่ผ่านมา ในปี ๒๕๖๐ กสถ.กลับให้ผู้สอบแข่งขันได้ที่เป็นข้าราชการหรือพนักงานส่วนท้องถิ่นอยู่แล้ว ลดอัตราเงินเดือนและมิให้ขอสงวนบัญชีการสอบของตนเองไว้ กรณีที่สอบได้ในลำดับต้นและถูกเรียกให้มาบรรจุแต่งตั้ง ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวนอกจากไม่เป็นธรรมต่อผู้เข้าสอบที่เป็นข้าราชการหรือพนักงานส่วนท้องถิ่นอยู่ก่อนแล้ว ยังเป็นการไม่ส่งเสริมสนับสนุนความเจริญก้าวหน้าของข้าราชการหรือพนักงานส่วนท้องถิ่นที่มีความรู้ความสามารถอีกด้วย ดังนั้น สมาคมฯจึงเรียนมาเพื่อร้องขอให้ท่านอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นได้โปรดพิจารณาให้มีการทบทวนหลักเกณฑ์ดังกล่าว โดยให้คืนสิทธิแก่ข้าราชการหรือพนักงานส่วนท้องถิ่นผู้สอบแข่งขันได้จากบัญชีการสอบเมื่อปี ๒๕๖๐ และขอได้โปรดพิจารณาแก้ไขหลักเกณฑ์นี้ในการสอบแข่งขันปี ๒๕๖๒ ด้วย ๕.๔)การปลดล็อคการโอน(ย้าย)สายงานวิชาการภายหลังการสอบแข่งขันสิ้นสุดลงและทบทวนการมอบอำนาจให้ก.จังหวัดเป็นผู้จัดสอบแข่งขันในบางตำแหน่งแทนก.กลาง จากการที่ กสถ.ได้จัดให้มีการสอบแข่งขันบุคคลภายนอกเข้ารับราชการในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในปี ๒๕๖๒ ที่ผ่านมา ปรากฏว่าข้อเท็จจริงว่า มีหลายตำแหน่งที่มีผู้สอบได้และขึ้นบัญชีไว้น้อยกว่าตำแหน่ง ที่ว่างอยู่และไม่เพียงพอต่อความต้องการขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยเฉพาะตำแหน่งในสายงานด้านช่าง และด้านการเงินและบัญชี ซึ่งจะเป็นปัญหาต่อการบริหารงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการบริหารจัดการแก้ไขปัญหาต่างๆ ให้กับประชาชนในพื้นที่ ดังนั้น เพื่อเป็นการเตรียมการแก้ไขปัญหาดังกล่าว สมาคมฯจึงเรียนมาเพื่อขอให้ท่านอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นได้พิจารณาเสนอต่อคณะกรรมการกลางข้าราชการหรือพนักงานส่วนท้องถิ่น (ก.กลาง) ได้ ปลดล็อคการโอน(ย้าย)หลังจากที่ได้บรรจุแต่งตั้งผู้ที่สอบผ่านและขึ้นบัญชีจนครบถ้วนแล้วโดยเร็ว เพื่อให้มีการปรับเกลี่ยอัตรากำลังโดยการโอน(ย้าย)ระหว่างข้าราชการส่วนท้องถิ่นในแต่ละองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อประสิทธิภาพในการให้บริการแก่ประชาชนในพื้นที่ และขอได้โปรดพิจารณาเสนอต่อคณะกรรมการกลางข้าราชการหรือพนักงานส่วนท้องถิ่น (ก.กลาง) ให้มอบอำนาจการจัดการสอบแข่งขันเพื่อสรรหาบุคคลภายนอกเข้ารับราชการในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในตำแหน่งที่ขาดแคลน เช่น สายงานด้านช่าง สายงานด้านการเงินและบัญชี การคลัง และการพัสดุ เป็นต้น ประเภททั่วไป (เจ้าพนักงาน/นายช่าง) แก่คณะกรรมการข้าราชการหรือพนักงานส่วนท้องถิ่นจังหวัด (ก.จังหวัด) เพื่อมิให้เกิดความเสียหายแก่ราชการในภาพรวม ๕.๕)ขอให้แก้ไขหลักเกณฑ์การขึ้นสู่ตำแหน่งที่สูงขึ้นของสายงานบริหาร/อำนวยการ จากการคณะกรรมการกลางข้าราชการหรือพนักงานส่วนท้องถิ่น (ก.กลาง) ได้กำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการขึ้นสู่ตำแหน่งของผู้อำนวยการกอง และปลัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในระดับกลางไว้ที่เสมือนเป็นการกีดกันความเจริญก้าวหน้าของข้าราชการส่วนท้องถิ่น กล่าวคือ การที่ข้าราชการส่วนท้องถิ่นจะมีสิทธิสอบขึ้นดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการกองได้นั้น จะต้องดำรงตำแหน่งหัวหน้าฝ่ายมาแล้วไม่น้อยกว่าระยะเวลาที่คณะกรรมการกลางข้าราชการหรือพนักงานส่วนท้องถิ่นกำหนด ซึ่งการที่จะกำหนดฝ่ายได้นั้นมีขั้นตอนที่ยุ่งยาก สลับซับซ้อน ทำให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นขนาดเล็กไม่มีโอกาสได้กำหนดฝ่ายขึ้นได้ ทำให้ไม่สามารถสรรหาผู้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการกองให้เพียงพอต่อตำแหน่งที่ขาดแคลนได้ ดังนั้น จึงเห็นควรที่จะมีการแก้ไขหลักเกณฑ์ดังกล่าว เพื่อให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นขนาดเล็กสามารถกำหนดฝ่ายได้ง่ายขึ้น อีกทั้ง การที่ข้าราชการส่วนท้องถิ่นจะสามารถเข้ารับการคัดเลือกหรือสอบคัดเลือกขึ้นดำรงตำแหน่งปลัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นระดับกลางได้นั้น จะต้องดำรงตำแหน่งปลัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในระดับต้นมาก่อน ซึ่งปัจจุบันตำแหน่งปลัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในระดับต้น มีจำนวนน้อยมาก จึงเห็นควรที่จะเปิดโอกาสให้ผู้ดำรงตำแหน่งรองปลัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นผู้ดำรงตำแหน่งมาแล้วไม่น้อยกว่าระยะเวลาหนึ่งสามารถเข้ารับการคัดเลือกหรือสอบคัดเลือกเพื่อดำรงตำแหน่งปลัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในระดับกลางได้ ๕.๖)การเทียบโอนข้าราชการตามกฎหมายอื่นมาบรรจุเป็นพนักงานส่วนท้องถิ่น ด้วยคณะกรรมการมาตรฐานการบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น โดยประธานกรรมการมาตรฐานการบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น (นายพงศ์โพยม วาศภูติ) ได้ลงนามในประกาศมาตรฐานกลางเกี่ยวกับการรับโอนข้าราชการตามกฎหมายอื่นมาบรรจุเป็นพนักงานส่วนท้องถิ่น ลงวันที่ ๑๒ มิถุนายน ๒๕๖๒ และประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๖ ตอนพิเศษ ๑๗๗ ง ลงวันที่ ๑๑ กรกฎาคม ๒๕๖๒ โดยให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ ๑ กันยายน ๒๕๖๒ เป็นต้นไป สมาคมข้าราชการส่วนท้องถิ่นแห่งประเทศไทย พร้อมด้วยตัวแทนของผู้บริหารท้องถิ่น สมาชิกสภาท้องถิ่น และข้าราชการส่วนท้องถิ่น ตามบัญชีรายชื่อแนบท้ายหนังสือฉบับนี้ ได้พิจารณารายละเอียดของประกาศฉบับดังกล่าวอย่างถ้วนถี่แล้ว มีความไม่เห็นพ้องด้วยกับประกาศและบัญชีเทียบระดับตำแหน่งเพื่อรับโอนข้าราชการตามกฎหมายอื่นมาบรรจุเป็นพนักงานส่วนท้องถิ่นแนบท้ายประกาศฉบับดังกล่าว เนื่องจาก (๑) การเทียบตำแหน่งตามบัญชีนี้ไม่เป็นธรรม ไม่สอดคล้อง หรืออาจขัด หรือแย้งกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช ๒๕๖๐ มาตรา ๒๕๑ ซึ่งบัญญัติให้การบริหารงานบุคคลขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้องใช้ระบบคุณธรรม คำนึงถึงความเหมาะสมและความจำเป็นของแต่ละท้องถิ่นและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแต่ละรูปแบบ โดยให้มีมาตรฐานที่สอดคล้องกันเพื่อให้นำไปสู่การพัฒนาร่วมกันหรือการสับเปลี่ยนบุคลากรระหว่างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นด้วยกันได้ จึงจะเห็นได้ว่าเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญมาตรานี้ได้บัญญัติให้ความสำคัญกับบุคลากรขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่ในปัจจุบันให้มีขวัญกำลังใจ ในการปฏิบัติหน้าที่ สามารถจะพัฒนาทักษะประสบการณ์ของตนเองเพื่อให้มีความเจริญก้าวหน้าในตำแหน่งหน้าที่สูงขึ้นตามลำดับ ดังนั้น การประกาศใช้มาตรฐานฉบับนี้รวมทั้งบัญชีแทบท้าย จึงเป็นการลิดรอนสิทธิของข้าราชการส่วนท้องถิ่น ทำลายขวัญกำลังใจในการปฏิบัติหน้าที่ของข้าราชการส่วนท้องถิ่น เป็นการขัดขวาง ตัดตอน ความก้าวหน้าของข้าราชการส่วนท้องถิ่น และเป็นการละเมิดหรือขัดหรือแย้งกับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ อีกทั้ง บัญชีการเทียบตำแหน่งดังกล่าวที่เทียบตำแหน่งของข้าราชการพลเรือนสูงกว่าข้าราชการส่วนท้องถิ่น ทั้งที่ข้าราชการทั้งสองประเภทมีหน้าที่บริการสาธารณะเหมือนกัน ภาระงานเหมือนกัน จึงเป็นการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม อันขัดต่อมาตรา ๒๗ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (๒) การที่คณะกรรมการมาตรฐานการบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น อ้างอาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๓๓ (๑) ของพระราชบัญญัติระเบียบบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น พ.ศ. ๒๕๔๒ เพื่อออกประกาศฉบับนี้นั้น อาจไม่ชอบด้วยบทบัญญัติตามมาตราดังกล่าว เพราะบทบัญญัตินี้ มีเจตนารมณ์ให้คณะกรรมการมาตรฐานการบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่นได้ยึดถือหลักคุณธรรมเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคล แต่การออกประกาศฉบับนี้ มีความขัดแย้งกับคุณธรรมอย่างชัดเจน เพราะหลักคุณธรรมซึ่งเป็นส่วนสำคัญของระบบคุณธรรม (THE MERIT SYSTEM) ในการบริหารทรัพยากรบุคคลนั้น มีองค์ประกอบที่สำคัญได้แก่ หลักความเสมอภาคในโอกาส หลักความสามารถ หลักความมั่นคงในอาชีพ และหลักความเป็นกลางทางการเมือง กล่าวคือ (๒.๑) ความไม่เสมอภาคในโอกาส เนื่องจากข้าราชการส่วนท้องถิ่นหากมีความประสงค์ต้องการย้ายเปลี่ยนสายงานจากสายงานวิชาการเป็นสายงานอำนวยการและสายงานบริหารนั้น ต้องใช้วิธีสอบคัดเลือก โดยคณะกรรมการกลางข้าราชการหรือพนักงานส่วนท้องถิ่น (ก.จ./ก.ท./ก.อบต.) ได้วางหลักเกณฑ์ปิดกั้นโอกาสกรณีที่ผู้ขอย้ายเปลี่ยนสายงานมีระยะเวลาในการดำรงตำแหน่งในระดับชำนาญการไม่ครบถ้วนตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด แต่ประกาศและบัญชีแนบท้ายประกาศฉบับนี้ได้ให้สิทธิพิเศษแก่ข้าราชการพลเรือนในระดับชำนาญการเหนือกว่าข้าราชการส่วนท้องถิ่น เพราะสามารถโอนมาเป็นข้าราชการส่วนท้องถิ่นในสายงานอำนวยการในระดับต้นได้ทันที จึงเป็นการปฏิบัติที่ไม่เท่าเทียม ไม่เสมอภาค ไม่เป็นธรรม เป็นการกีดกันความเจริญก้าวหน้าของข้าราชการส่วนท้องถิ่น และเปิดช่องให้มีการรับโอนข้าราชการประเภทอื่นโดยไม่ต้องผ่านกระบวนการสอบ (๒.๒) กีดกันความสามารถของข้าราชการส่วนท้องถิ่น เนื่องจากการที่ข้าราชการส่วนท้องถิ่นในสายงานอำนวยการและสายงานบริหารจะได้รับการแต่งตั้งให้เลื่อนตำแหน่งในระดับที่สูงขึ้น ต้องใช้วิธีสอบคัดเลือก โดยมีการกำหนดระยะเวลาที่ดำรงตำแหน่ง เงินเดือน ประสบการณ์ และผลงานในด้านบริหารงานท้องถิ่น แต่จากบัญชีแนบท้ายประกาศนี้กลับเปิดช่องให้ข้าราชการพลเรือนซึ่งมีระดับตำแหน่งที่ต่ำกว่า และคนละสายงาน สามารถโอนมาดำรงตำแหน่งในสายงานอำนวยการและสายงานบริหารได้ทันทีโดยไม่ต้องผ่านระบบการสอบคัดเลือก ซึ่งเป็นการกีดกันความสามารถของข้าราชการส่วนท้องถิ่นและไม่เป็นธรรมกับข้าราชการส่วนท้องถิ่นที่ตั้งใจปฏิบัติหน้าที่ เป็นการลดเกียรติศักดิ์ของข้าราชการส่วนท้องถิ่น ตอกย้ำความด้อยโอกาสและตอกย้ำความรู้สึกอัดอั้นตันใจของข้าราชการส่วนท้องถิ่นที่มีความคิดว่าถูกข้าราชการพลเรือนกดขี่มาอย่างต่อเนื่องโดยผ่านกระบวนการที่ข้าราชการพลเรือนเหล่านั้น เป็นผู้กำหนดกฎในการบริหารงานบุคคลทั้งในระดับมาตรฐานกลาง มาตรฐานทั่วไป และหลักเกณฑ์ทั่วไปที่ผ่านมติของคณะกรรมการมาตรฐานการบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น (กถ.) คณะกรรมการกลางข้าราชการหรือพนักงานส่วนท้องถิ่น (ก.จ./ก.ท./ก.อบต.) และคณะกรรมการข้าราชการหรือพนักงานส่วนท้องถิ่นจังหวัด (ก.จ.จ./ก.ท.จ./ก.อบต.จังหวัด) (๒.๓) ขาดความมั่นคงในอาชีพ การประกาศใช้มาตรฐานกลางฉบับนี้ นอกจากเป็นการบั่นทอนขวัญกำลังใจของข้าราชการส่วนท้องถิ่นอย่างมากแล้ว ยังสร้างความไม่เชื่อมั่นต่อระบบคุณธรรมในการบริหารงานบุคคลที่มีคณะกรรมการมาตรฐานการบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่นเป็นองค์กรกลาง สั่นคลอนความมั่นคงในอาชีพของข้าราชการส่วนท้องถิ่น ที่มีความตั้งใจปฏิบัติหน้าที่แต่หากมีการเปิดช่องให้มีการรับโอนข้าราชการประเภทอื่นที่มีระดับตำแหน่งต่ำกว่าระดับตำแหน่งของข้าราชการส่วนท้องถิ่นมาดำรงตำแหน่งในสายงานบริหารและสายงานอำนวยการได้ จะทำให้โอกาสในการเจริญเติบโตก้าวหน้าในตำแหน่งหน้าที่ที่สูงขึ้นของข้าราชการส่วนท้องถิ่นลดลง เพราะอาจมีข้าราชการพลเรือนหรือข้าราชการประเภทอื่นจำนวนมากโอนมาดำรงตำแหน่งเหล่านั้นแทน อนึ่ง สมาคมฯและผู้ร้องเห็นว่า ประกาศฯฉบับนี้มีสภาพเป็นกฎที่เห็นได้ชัดแจ้งว่าเป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ด้วยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น สมาคมข้าราชการส่วนท้องถิ่นแห่งประเทศไทย จึงใคร่ของให้ท่านอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ได้โปรดพิจารณาให้มีการทบทวนการบังคับใช้ตามประกาศดังกล่าว โดยขอได้โปรดพิจารณาเสนอต่อคณะกรรมการกลางข้าราชการหรือพนักงานส่วนท้องถิ่น มีมติไม่เห็นชอบกับประกาศดังกล่าว และขอได้โปรดพิจารณาแต่งตั้งคณะทำงานขึ้นมาศึกษารายละเอียดอีกครั้งหนึ่งโดยขอให้มีผู้แทนของข้าราชการส่วนท้องถิ่นสายงานบริหารท้องถิ่น สายงานอำนวยการท้องถิ่น และสายงานวิชาการท้องถิ่น เข้าร่วมเป็นคณะทำงานไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่ง เพื่อร่วมกันพิจารณาปรับปรุงแก้ไขบัญชีเทียบระดับตำแหน่งเพื่อรับโอนข้าราชการตามกฎหมายอื่นมาบรรจุเป็นพนักงานส่วนท้องถิ่น แนบท้ายประกาศคณะกรรมการมาตรฐานการบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น เรื่อง มาตรฐานกลางเกี่ยวกับการรับโอนข้าราชการตามกฎหมายอื่นมาบรรจุเป็นพนักงานส่วนท้องถิ่น ลงวันที่ ๑๒ มิถุนายน ๒๕๖๒ ให้เกิดความเสมอภาค และเป็นธรรมต่อทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องโดยทันที เมื่อได้ข้อสรุปเป็นประการใดแล้วขอได้โปรดจัดให้มีการรับฟังความเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ตามนัยมาตรา ๗๗ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช ๒๕๖๐ ก่อนจะเสนอต่อคณะกรรมการกลางข้าราชการหรือพนักงานส่วนท้องถิ่น ให้มีมติเห็นชอบและประกาศใช้ ๖) การสนับสนุนการดำเนินงานของเครือข่ายคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยพนักงานส่วนท้องถิ่น ตามที่กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นได้จัดให้มีผู้แทนเครือข่ายคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยพนักงานส่วนท้องถิ่นมาตามลำดับ แต่ในปัจจุบันปรากฏว่าไม่มีการส่งเสริมและสนับสนุนบทบาทของ คณะกรรมการเครือข่ายฯให้มีความเข้มแข็ง โดยไม่มีการจัดประชุมหรือสัมมนาเป็นประจำเช่นทุกปี เพื่อทบทวนความรู้ ทักษะ ประสบการณ์ ดังนั้น จึงขอความอนุเคราะห์จากท่านได้โปรดสนับสนุนการดำเนินงานของเครือข่ายคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยพนักงานส่วนท้องถิ่นให้มีความต่อเนื่องดังนี้ (๑) การดำเนินการจัดอบรมหลักสูตรการดำเนินการทางวินัยพนักงานส่วนท้องถิ่น (หลักสูตร ๕ วัน) หลักสูตรคณะกรรมการสอบสวนทางวินัย (หลักสูตร ๗ วัน) และหลักสูตร พัฒนาและเพิ่มทักษะคณะกรรมการ สอบสวนทางวินัย (หลักสูตร ๑๕ วัน) เพื่อสนับสนุนให้บุคลากรขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีความรู้ ความเชี่ยวชาญด้านการสอบสวนทางวินัยตามนัยข้อ ๔๙ วรรคสอง ของประกาศ ก.จ. ก.ท. และ ก.อบต. เรื่อง มาตรฐานทั่วไปเกี่ยวกับวินัยและการรักษาวินัยและการดำเนินการทางวินัย พ.ศ. ๒๕๕๘ (๒) การจัดประชุมสัมมนาทางวิชาการเครือข่ายคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยพนักงานส่วนท้องถิ่น และผู้แทนเครือข่าย ปีละ ๑ – ๒ ครั้ง เพื่อทบทวนความรู้ ทักษะ ประสบการณ์ และแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกันในทางการสอบสวนทางวินัย หรือเรื่องอื่นที่เกี่ยวข้อง (๓) การส่งเสริมให้เครือข่ายคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยมีทักษะความรู้ความเชี่ยวชาญด้านการสอบสวนความรับผิดทางละเมิด เพื่อให้เป็นอีกหนึ่งภารกิจของผู้ที่ผ่านการฝึกอบรมหลักสูตรพัฒนาและเพิ่มทักษะคณะกรรมการสอบสวนทางวินัย (หลักสูตร ๑๕ วัน) (๔) การส่งเสริมและสนับสนุนให้แต่ละจังหวัดมีคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยพนักงานส่วนท้องถิ่น ประจำจังหวัดอย่างน้อยจังหวัดละ ๓ – ๕ ชุดๆ ละ ๓ คน พร้อมพัฒนาบุคลากรดังกล่าวให้มีทักษะ ความรู้ความเชี่ยวชาญด้านการสอบสวนทางวินัย และความรับผิดทางละเมิด เพื่อให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นภายในจังหวัดนั้นๆ ขอสนับสนุนจากต้นสังกัดหรือโดยความเห็นชอบของ ก.จังหวัด แต่งตั้งเป็นคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยทั้งร้ายแรง และไม่ร้ายแรง รวมทั้งคณะกรรมการสอบสวนทางละเมิดด้วย (๕) การเสริมสร้างขวัญและกำลังใจแก่เครือข่ายคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยที่ได้รับการแต่งตั้งให้ปฏิบัติหน้าที่ตาม (๔) โดยการประกาศยกย่องเชิดชูเกียรติ การให้ความดีความชอบเป็นกรณีพิเศษ (การเลื่อนขั้นเงินเดือนประจำปี) (๖) ควรพัฒนาทักษะความรู้ความเชี่ยวชาญให้ผู้ที่ผ่านการฝึกอบรมหลักสูตรวินัย ๑๕ วันแล้ว ให้เข้ารับการอบรมในหลักสูตร “นักสอบสวนทางวินัยมืออาชีพ” โดยการจัดหลักสูตรพัฒนาทักษะ ความเชี่ยวชาญ ร่วมกับหน่วยงานของรัฐอื่นที่มีความเชี่ยวชาญ เช่น สำนักงานข้าราชการพลเรือน สำนักงานข้าราชการตำรวจแห่งชาติ สำนักงานศาลปกครอง เป็นต้น และเมื่อจบหลักสูตรแล้ว ควรที่จะพิจารณาให้บุคลากรเหล่านี้ได้รับเงินเพิ่มพิเศษสำหรับตำแหน่งดังกล่าว ๗) การพิจารณาให้ลูกจ้างประจำสอบคัดเลือกเป็นกรณีพิเศษเป็นข้าราชการส่วนท้องถิ่น จากแนวนโยบายของอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นก่อนหน้านี้หลายท่าน ได้รับเรื่องร้องทุกข์จากลูกจ้างประจำจำนวนมาก ขอให้พิจารณาออกหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการเปิดโอกาสให้ลูกจ้างประจำได้มีสิทธิสอบคัดเลือกเป็นกรณีพิเศษโดยไม่ต้องสอบแข่งขัน เพื่อเปลี่ยนสถานะเป็นข้าราชการหรือพนักงานส่วนท้องถิ่น ในตำแหน่งที่ตนดำรงตำแหน่งอยู่ในปัจจุบันโดยได้รับเงินเดือนไม่สูงกว่าเดิม ดังนั้น เพื่อเป็นการสร้างขวัญกำลังใจแก่ลูกจ้างประจำขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งได้ปฏิบัติ หน้าที่มาเป็นระยะเวลานาน ประกอบกับปัจจุบันหน่วยงานราชการต่างๆ รวมทั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ได้ ยกเลิกตำแหน่งลูกจ้างประจำเพื่อการบรรจุแต่งตั้งใหม่มาหลายปีแล้ว สมาคมฯจึงขอความอนุเคราะห์จากท่านอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ได้สนับสนุนการออกหลักเกณฑ์เพื่อเปิดโอกาสให้ลูกจ้างประจำที่มีความรู้ ทักษะ ประสบการณ์ มีความสามารถสอบคัดเลือกเป็นกรณีพิเศษโดยไม่ต้องสอบแข่งขัน เพื่อบรรจุแต่งตั้งให้เป็นข้าราชการหรือพนักงานส่วนท้องถิ่นในตำแหน่งและอัตราเงินเดือนไม่สูงกว่าเดิม ๘) ขอช่วยดำเนินการผลักดันร่างพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการส่วนท้องถิ่น พ.ศ...เข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาโดยเร็ว เนื่องจากกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย และหน่วยงานหลายแห่งได้พยายามยกร่างพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการส่วนท้องถิ่น พ.ศ.... มาหลายรัฐบาล ตั้งแต่หลังมีรัฐธรรมนูญ ๒๕๕๐ กว่า ๑๒ ปี เพื่อปรับปรุงแก้ไขระบบการบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่นให้เกิดความเป็นเอกภาพและแก้ไขปัญหาต่างๆ ได้อย่างทันสถานการณ์ แต่ยังไม่ประสบผลสำเร็จ ดังนั้น สมาคมฯจึงใคร่ขอความอนุเคราะห์จากท่านอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นได้พิจารณาผลักดันให้ร่างกฎหมายดังกล่าวได้เข้าสู่กระบวนการพิจารณาของรัฐสภาภายในปีงบประมาณ ๒๕๖๓ นี้ ทั้งนี้ โดยการนำร่างพระราชบัญญัติเดิมที่มีการร่างไว้ก่อนหน้านี้หลายฉบับมาปรับปรุงให้เหมาะสม และให้มีผู้แทนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั้งฝ่ายการเมืองและฝ่ายข้าราชการประจำเข้ามามีส่วนร่วมในการยกร่างในครั้งนี้ด้วย ๙) การเสริมสร้างความเข้าใจอันดีระหว่างบุคลากรของกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นกับบุคลากรขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น นับแต่เดือนตุลาคม ๒๕๔๕ ที่มีการจัดตั้งกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นขึ้น บุคลากรของกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค กับข้าราชการหรือพนักงานส่วนท้องถิ่น จำนวนมากมีความเข้าใจอันดีระหว่างกัน แต่ก็มีจำนวนไม่น้อยที่มีความขัดแย้งและไม่เข้าใจระหว่างกัน ทำให้เกิดปัญหาการทำงานร่วมกัน ซึ่งแท้จริงแล้วบุคลากรขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกับบุคลากรของกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นต่างมีเป้าหมายเดียวกันคือ การบำบัดทุกข์บำรุงสุขให้พี่น้องประชาชนในแต่ละท้องถิ่น เพียงแต่วิธีการการดำเนินการในแต่ละพื้นที่นั้นอาจมีแนวทางปฏิบัติที่แตกต่างกันหรือมีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนจนนำไปสู่ความขัดแย้งหรือไม่มีความมือร่วมใจสามัคคีระหว่างกัน ทั้งนี้ ปัญหาส่วนหนึ่งเกิดจากการที่มีความรู้ ความเข้าใจในกฎหมาย ระเบียบ หลักเกณฑ์ หนังสือซักซ้อม ที่กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นได้ส่งมายังจังหวัด อำเภอ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ไม่คนละทิศทาง ดังนั้น เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวเป็นไปอย่างเป็นรูปธรรม โดยการมีส่วนร่วมของผู้ที่เกี่ยวข้อง สมาคมฯจึงใคร่ขอเสนอแนะให้กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น พิจารณาจัดตั้งคณะทำงานแก้ไขปัญหาขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในแต่ละด้าน โดยการมีส่วนร่วมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจากผู้แทนสมาคม สมาพันธ์ สหพันธ์ ชมรม ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีการขับเคลื่อนกิจกรรมอย่างต่อเนื่องในระดับประเทศทั้งฝ่ายการเมืองและฝ่ายข้าราชการประจำ ร่วมกับผู้แทนของกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น และผู้ทรงคุณวุฒิที่มาจากนักวิชาการด้านการเมืองการปกครองท้องถิ่น อันจะเป็นการลดช่องว่างความรู้สึกที่มีต่อกันระหว่างข้าราชการในสังกัดกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นและสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้อีกทางหนึ่งด้วย รวมทั้งการจัดให้มีการประชุมร่วมกันระหว่างผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกับผู้แทนของกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอเป็นประจำทุกเดือนหรือทุกไตรมาส ทั้งในระดับอำเภอ จังหวัด และระดับประเทศ ++++++++++++++++++++