ลานบ้านกลางเมือง/บูรพา โชติช่วง: เอาเข้าจริงหลายเรื่องเข้าทำนอง “ใกล้เกลือกินด่าง” อย่างเรื่อง “ธงกฐิน” ที่มีรูปจระเข้คาบดอกบัว รูปนางมัจฉาถือดอกบัว รูปตะขาบหรือแมลงป่อง รูปเต่า ส่วนตัวไม่ได้รู้ความหมายและที่มาของสัญลักษณ์แต่ละรูปเท่าใดนัก ทั้งๆ ที่ไปทอดกฐินแทบทุกปี เป็นแต่เพียงว่าทอดกฐินแล้วได้บุญ และเป็นการสืบทอดพระพุทธศาสนา ครั้งนี้จึงใคร่อยากรู้สัญลักษณ์ของแต่ละรูปในธงกฐิน มีประวัติหรือตำนาน หรือปริศนาธรรมอย่างไร ทำการสืบค้นข้อมูลจากกรมการศาสนาเรื่อง “กฐิน” ในที่นี้จะคัดเฉพาะเกี่ยวกับธงกฐิน สังเขป กฐิน ตามศัพท์แปลว่า ไม้สะดึง คือไม้แบบสำหรับขึงเพื่อตัดเย็บจีวร ในทางพระวินัยใช้เป็นชื่อเรียกสังฆกรรมอย่างหนึ่งที่พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตแก่สงฆ์ผู้จำพรรษาแล้ว...และภิกษุผู้ได้กรานกฐินแล้วได้รับอานิสงส์ 5 ประการ คือ ไปไหนไม่ต้องบอกลา, ไม่ต้องถือไตรจีวรไปครบสำรับสามผืน, ฉันคณโภชน์ ปรัมปรโภชน์ได้, เก็บอดิเรกจีวรไว้ได้โดยที่ยังมิได้วิกัป และอธิษฐาน โดยไม่ต้องอาบัติ, จีวรลาภอันเกิดขึ้น จักได้แก่ภิกษุผู้ได้กรานกฐินแล้ว ความเป็นมาของธงกฐิน หลังจากออกพรรษาในช่วงวันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 ไปจนถึงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 เป็นฤดูกาลถวายกฐิน ตลอดระยะเวลา 1 เดือนนี้ วัดวาอารามจะเนืองแน่นไปด้วยอุบาสกอุบาสิกาและญาติโยมที่มาร่วมงานถวายกฐินเป็นประจำทุกปี เพราะการถวายกฐินถือเป็นงานบุญสำคัญที่จะกระทำได้เพียงปีละ 1 ครั้ง สัญลักษณ์ที่คุ้นตาในเทศกาลทอดกฐินอย่างหนึ่งคือ เมื่อวัดใดได้รับกฐินแล้วจะมีธงรูปจระเข้คาบดอกบัวแขวนเคียงคู่กับธงรูปนางมัจฉา หรือนางเงือก/กินรี ในท่าประนมมือถือดอกบัว ในทางพระพุทธศาสนาไม่มีหลักฐานปรากฏถึงความหมายและที่มาของธงนี้ นักปราชญ์ได้เปรียบเทียบและให้ความหมายของธงสัญลักษณ์ ดังนี้ ธงรูปจระเข้คาบดอกบัว หมายถึง ความโลภ โดยปกติแล้วจระเข้เป็นสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ ในบางช่วงจะขึ้นมานอนอ้าปากบนบก ให้แมลงวันบินเข้ามาตอมอยู่ในปาก เมื่อแมลงวันเข้าไปรวมกันหลายตัวจึงได้งับปากเอาแมลงวันเป็นอาหาร เปรียบเหมือนคนที่มีความโลภ มีความรู้สึกสำนึกชั่วดีมีแต่จะเอาให้ได้อย่างเดียว ไม่คำนึงว่าที่ได้มานั้นสกปรกแปดเปื้อนด้วยความไม่ดีไม่งามหรืออกุศลหรือไม่ ไม่ใส่ใจว่าผู้อื่นจะได้รับผลอย่างไรจากการกระทำของตน ดังนั้นจึงเปรียบธงรูปจระเข้เหมือนกับความโลภ กอบโกยทุกสิ่งทุกอย่างเท่าที่จะมีช่องทางหรือโอกาส ธงรูปนางมัจฉา หรือนางเงือก หรือกินรีถือดอกบัว หมายถึง ความหลงหรือโมหะ รูปร่างและศัพท์ที่ใช้เรียกก็ชัดเจนอยู่แล้ว นั่นคือ กินรีเป็นคนหรือสัตว์ เพราะท่อนล่างเป็นปลา ท่อนบนเป็นคน คำว่า กินรี แปลว่า คนอะไร, คนผู้สงสัย, ผู้ยังสงสัย หรือผู้ที่ค้นพบเห็นก็เกิดความสงสัย คือ คนที่ไม่เป็นตัวของตัวเองทั้งทางด้านความคิด การกระทำหรือพฤติกรรม เพราะฉะนั้น จึงเปรียบกินรีเสมือนโมหะ คือ ความหลง หรือผู้หลง ธงรูปจระเข้ยังมีตำนานเล่าขานแตกต่างกันไป เรื่องแรก ในสมัยโบราณ การเดินทางต้องอาศัยดวงดาว เช่น ยกทัพเคลื่อนขบวนในตอนจวนจะสว่างต้องอาศัยดาวจระเข้ การทอดกฐินนั้นบางครั้งต้องไปทอด ณ วัดซึ่งอยู่ไกลบ้าน ดังนั้นการดูเวลาจึงต้องอาศัยดวงดาว เมื่อดาวจระเข้ขึ้นก็เคลื่อนองค์กฐินไปสว่างที่วัดพอดี ต่อมามีผู้คิดทำธงในงานกฐิน ในชั้นต้นน่าจะทำทิวธงประดับประดาให้สวยงามทั้งที่องค์กฐินและบริเวณวัด ภายหลังคาดว่าคงให้เป็นเครื่องหมายเนื่องด้วยการกฐิน จึงคิดทำธงรูปจระเข้ เสมือนประกาศให้รู้ว่าได้ทอดกฐินแล้ว เรื่องเล่าต่อมา เป็นนิทานโบราณว่า ในการแห่กฐินทางเรือของอุบาสกผู้หนึ่ง มีจระเข้ตัวหนึ่งอยากได้บุญจึงว่ายน้ำตามเรือไปด้วย แต่ยังไม่ทันถึงวัดก็หมดแรง ว่ายต่อไปไม่ไหว จึงร้องบอกว่า ตนเหนื่อยแล้ว ไม่สามารถจะว่ายตามไปร่วมกองกุศลได้ ขอให้ช่วยเขียนรูปตัวเอง เพื่อเป็นสักขีพยานว่าได้ไปร่วมการกุศลด้วย อุบาสกคนนั้นจึงเขียนรูปจระเข้ยกเป็นธงขึ้นในวัด อีกเรื่องเก่าแก่ เล่าว่าในอดีตกาล มีเศรษฐีตระหนี่ถี่เหนียวคนหนึ่ง ตอนที่มีชีวิตอยู่ หาแต่เงิน เก็บแต่เงิน นำเงินใส่ไห ใส่ตุ่ม ไปฝั่งไว้ที่ริมฝั่งแม่น้ำ แต่ไม่ทำบุญทำทาน ไม่ตักบาตร ไม่ถวายสร้างกุฏิ วิหาร โบสถ์ สะพาน ไม่ช่วยทำทางเข้าวัด เป็นต้น เมื่อตายไป ด้วยความห่วงสมบัติจึงไปเกิดเป็นจระเข้เฝ้าสมบัติอยู่แถวนั้น นานเข้าก็มาเข้าฝันญาติให้มาขุดเอาเงินไปทำบุญให้ จะทอดกฐินหรือผ้าป่าก็ได้ ญาติจึงนำเงินนั้นไปทอดกฐิน ในสมัยก่อนนั้นมักแห่กฐินทางเรือ จระเข้ตัวนั้นจึงว่ายตามเรือตามกองกฐินไป เมื่อทอดกฐินเสร็จ ญาติก็อุทิศส่วนกุศลให้โดยบอกให้จระเข้รู้ว่าได้นำเงินมาทอดกฐินถวายให้พระแล้ว จระเข้ก็โผล่ขึ้นมา ครั้นพระอนุโมทนาให้พรจบ จระเข้ตัวนั้นก็จมน้ำหายไป ปัจจุบัน ธงรูปจระเข้คาบดอกบัวจึงเป็นสัญลักษณ์การทอดกฐิน หรือธงตะขาบ มีตำนานคล้ายคลึงกัน ต่างกันเพียงแต่เมื่อตายไปก็เกิดเป็นตะขาบคอยเฝ้าสมบัติ ส่วนตำนานหรือนิทานพื้นบ้านเรื่องเล่าเกี่ยวกับธงกฐินรูปนางมัจฉายังไม่มีปรากฏให้เห็น นอกจากธงกฐินรูปจระเข้และนางมัจฉาแล้วบางแห่งใช้ธงเป็นรูปเต่า ตะขาบ หรือแมลงป่อง ดังนี้แล้วปริศนาธรรมในธงกฐิน ทั้ง 4 ประเภท คนโบราณที่กล่าวไว้ สรุปได้ จระเข้ หมายถึง ความโลภ, กินรีหรือนางมัจฉา หมายถึง ความหลง, ตะขาบ หมายถึง ความโกรธ และเต่า หมายถึง สติ นั่นเอง ส่วนเครื่องหมายและความสำคัญของธงกฐินนั้น ธงรูปจระเข้คาบดอกบัว เป็นเครื่องหมายแสดงว่าวัดนี้ได้มีการทอดกฐินแล้ว จะนำธงจระเข้นี้ไปปักไว้หน้าวัด ผู้คนที่ผ่านไปมาก็ยกมือขึ้นอนุโมทนาในกองการกุศลเรื่องกฐิน ธงรูปกินรีหรือนางมัจฉาถือดอกบัว เป็นเครื่องหมายที่แสดงถึงความเชื่อว่า อานิสงส์จากการถวายผ้าแก่พระภิกษุสงฆ์แล้ว ผู้ถวายจะมีรูปร่างงดงาม, ธงรูปตะขาบ เป็นเครื่องหมายที่แสดงว่า วัดนี้มีคนมาจองกฐินแล้ว เพื่อให้ผู้จะมาปวารณาทอดกฐินผ่านไปวัดอื่น ไม่ต้องเสียเวลามาถาม และธงรูปเต่า เป็นเครื่องหมายเพื่อแสดงว่า วัดนี้ทอดกฐินเรียบร้อยแล้ว โดยจะนำธงลงในวันเพ็ญ เดือน12