เมื่อวันที่ 20 ต.ค.นางสาวปรกชล อู๋ทรัพย์ ผู้ประสานงานเครือข่ายสนับสนุนการแบนสารเคมีการเกษตรอันตราย 3 ชนิดกล่าวว่า พาราควอต ไกลโฟเสต และคลอร์ไพริฟอสมีพิษร้ายแรงเป็นอันตรายต่อสุขภาพของประชาชนเกินกว่าที่จะยอมรับได้ ช่วงเช้าวันพรุ่งนี้ (21 ตุลาคม) จะร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งมีความเห็นเป็นแนวทางเดียวกันเประกาศจุดยืนให้คณะกรรมการวัตถุอันตรายยกเลิกการใช้ ทั้งนี้ไม่เชื่อว่า มาตรการจำกัดการใช้ตามประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 5 ฉบับใช้ไม่ได้ผลจึงต้องการให้หมดจากประเทศไทยทันที จากนั้นให้รัฐหามาตรการช่วยเหลือเกษตรกรด้านต้นทุนที่จะสูงขึ้นทั้งค่าแรงงานในการกำจัดวัชพืช การจัดหาเครื่องจักรกลการเกษตร และหานวัตกรรมที่เป็นสารชีวภัณฑ์ให้เกษตรกรใช้ทดแทน
นางสาวปรกชล กล่าวว่า หากประเทศไทยไม่ปรับเปลี่ยนวิถีเกษตรกรรม โดยยังคงใช้สารเคมีจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกจากการกีดกันทางการค้าเนื่องจากกระแสโลกต้องการอาหารปลอดภัย ส่วนที่มีการระบุว่า หากยกเลิกไกลโฟเสตซึ่งเป็นสารกำจัดวัชพืช แล้วจะให้เกษตรกรใช้สารกลูโฟซิเนตแทนนั้นยืนยันว่า เป็นข้อมูลที่นักวิชาการของกรมวิชาการเกษตรให้ต่อมูลต่อคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจาณาศึกษาแนวทางการควบคุมการใช้สารเคมีในภาคเกษตรกรรม สภาผู้แทนราษฎรไม่ได้เป็นข้อเสนอของทางเครือข่ายฯ ตามที่มีกระแสกล่าวหาว่า ทางเครือข่ายต้านการใช้สารเคมี 3 ชนิดเพื่อสนับสนุนการใช้สารเคมีชนิดใหม่แต่อย่างใด
ด้าน นายสุกรรณ์ สังขวรรณะ เลขาธิการสมาพันธ์เกษตรปลอดภัย กล่าวว่า วันพรุ่งนี้ช่วงเช้าจะร่วมกับผู้แทนสมาคมเกษตรกรผู้ปลูกพืชเศรษฐกิจ 6 ชนิด คือ อ้อย ปาล์มน้ำมัน ยางพารา มันสำปะหลัง ข้าวโพด และไม้ผลแถลงจุดยืนที่โรงแรมเอเชีย เพื่อให้รัฐชะลอการพิจารณายกเลิกสาร 3 ชนิดออกไป โดยหานวัตกรรมและแนวทางการช่วยเหลือเกษตรกรให้ได้ก่อน ที่สำคัญเห็นว่า การยกเลิกสารเคมีทั้ง 3 ชนิดจะทำให้เกษตรกรได้รับผลกระทบทั้งต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น ปริมาณและคุณภาพผลผลิตต่ำลง จากงานวิจัยของรศ.พูนพิภพ เกษมทรัพย์ ภาควิชาพืชสวน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ระบุว่า แปลงมันสำปะหลังนั้น หากควบคุมวัชพืชไม่ได้ ภายใน 2 เดือน ผลผลิตจะเสียหายถึงร้อยละ 80 ส่วนตนเองนั้นปลูกอ้อย 400 กว่าไร่ หากไม่ป้องกันกำจัดหญ้า ผลผลิตจะลดน้อยลงเช่นกัน
นายสุกรรณ์ กล่าวว่า การยกเลิกสารเคมี 3 ชนิดไม่ใช่ทางออกเพราะมีความสุ่มเสี่ยงที่เกษตรกรบางส่วนที่จำเป็นต้องใช้เนื่องจากยังไม่มีนวัตกรรมใดที่มีประสิทธิภาพทัดเทียมมาทดแทนจะแอบซื้อแอบใช้ ตลอดจนหาสารเคมีชนิดอื่นมาใช้ แต่มาตรการจำกัดการใช้ที่สอนให้เกษตรกรรู้วิธีป้องกันตัวเองขณะฉีดพ่น ใช้ในปริมาณที่เหมาะสม เก็บเกี่ยวผลผลิตหลังฉีดพ่นสารเคมีตามข้อกำหนดจะทำให้ทุกฝ่ายปลอดภัย
"ส่วนที่รัฐมนตรีของพรรคภูมิใจไทยระบุว่า หากยกเลิกสารเคมี 3 ชนิดไม่ได้จะลาออกทั้งหมดนั้น กลุ่มเกษตกรต้องการให้ลาออกเสียก่อนที่จะมีการพิจารณา โดยเฉพาะนางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รมช.เกษตรและสหกรณ์ที่นำเสนอนโยบายอย่างไม่คำนึงถึงความมั่นคงในการประกอบอาชีพของเกษตรกร อีกทั้งทำลายโครงสร้างภาคการเกษตรซึ่งเป็นสิ่งที่กระทรวงเกษตรฯ ต้องรับผิดชอบ"นายสุกรรณ์ กล่าว
นายสุกรรณ์ กล่าวอีกว่า จากนั้นในช่วงบ่ายกลุ่มเกษตรกรจะไปพบกับนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์ ในฐานะผู้บริหารสูงสุดให้รับทราบถึงความเดือดร้อนของเกษตรกร อีกทั้งจะเสนอทางออกจากปัญหาที่สังคมสับสนว่า ข้อมูลฝ่ายใดจริง ฝ่ายใดเท็จ รัฐสามารถให้มีการนำเสนอข้อมูลทางวิชาการและข้อมูลเชิงประจักษ์ให้ประชาชนรับทราบอย่างทั่วถึง หากยังมีประเด็นใดไม่ชัดเจนสามารถวิจัยใหม่ได้ จากนั้นจึงค่อยพิจารณาแก้ปัญหาให้ตรงจุดเนื่องจากการเลิกใช้สารเคมีชนิดใดชนิดหนึ่ง แล้วให้ใช้สารเคมีชนิดใหม่ทดแทนไม่ได้ทำให้ผู้บริโภคปลอดภัยขึ้น ผู้ได้ประโยชน์คือ ผู้ค้าสารเคมีซึ่งไม่ว่า จะใช้สารใดก็ขายได้ทั้งนั้น
“อย่ามองว่า เกษตรกรเป็นฆาตกรเพราะไม่มีใครต้องการใช้สารเคมีโดยไม่จำเป็น เมื่อใช้ก็เป็นต้นทุนการผลิต จึงเรียกร้องให้รัฐทำวิจัยใหม่ โดยต้องไม่ใช่ทั้งกระทรวงเกษตรฯ หรือกระทรวงสาธารณสุขทำ แต่ควรเป็นคณะนักวิจัยจากหลายหน่วยงานซึ่งผลนั้นจะเชื่อถือได้ว่า เป็นกลาง หากรัฐตัดสินใจกำจัดเครื่องมือในการประกอบอาชีพของเกษตรกรออกไป เกษตรกรจำเป็นต้องลุกฮือขึ้นเพื่อให้รัฐรับรู้และแก้ปัญหาความเดือดร้อนของเกษตรกรซึ่งมีอยู่ประมาณ 7.5 ล้านคน"นายสุกรรณ์ กล่าว