มติ ส.ว. อนุมัติ พ.ร.ก.โอนกำลัง 233 เสียง ขณะที่ “สมชาย” กร้าวใส่ "อนาคตใหม่" ตัวอันตราย หวั่นซ้ำรอยเดือนต.ค.เกิดความขัดแย้ง เมื่อวันที่ 20 ต.ค. เวลา 09.00 น.ที่รัฐสภา ในการประชุมวุฒิสภา เป็นพิเศษ ซึ่งมีนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา เป็นประธาน ได้พิจารณาพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) โอนอัตรากำลังและงบประมาณบางส่วนของกองทัพบก กองทัพไทย กระทรวงกลาโหม ไปเป็นของหน่วยงานบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ ซึ่งเป็นส่วนราชการในพระองค์ พ.ศ.2562 ซึ่งคณะรัฐมนตรี (ครม.) เป็นผู้เสนอ ทั้งนี้พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล รมช.กลาโหม ได้ชี้แจงหลักการและเหตุผล ในความจำเป็นเร่งด่วนที่จำเป็นต้องออกเป็นพระราชกำหนด ทั้งนี้ พล.ต.อ.ชัชวาลย์ สุขสมจิตร์ ส.ว. ฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การกฎหมาย การยุติธรรม และการตำรวจ ชี้แจงว่า หลังจากกมธ.พิจารณาพ.ร.ก.ฉบับนี้ พบว่าในการออกเป็นพ.ร.ก.ต้องอาศัยเหตุผล และความจำเป็น ตามที่บัญญัติไว้ในรธน. เพราะโดยปกติการโอนอัตรากำลังหรืองบประมาณ ต้องทำเป็นพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) แต่การที่รัฐบาลเลือกออกเป็นพ.ร.ก. ด้วยเหตุผลความจำเป็นตามรธน. มาตรา 172 ที่บัญญัติว่า กรณีเพื่อประโยชน์ในการรักษาความปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ หรือป้องปัดภัยพิบัติสาธารณะ พระมหากษัตริย์ทรงตราพ.ร.ก.ให้ใช้บังคับดังเช่นพ.ร.บ.ได้ พล.ต.อ.ชัชวาลย์ กล่าวว่า ประเทศไทยมี 3 สถาบันหลัก คือ ชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ สถาบันที่พวกเราต้องเทิดทูล ถวายความปลอดภัย คือสถาบันพระมหากษัตริย์ จึงเป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายจะต้องเร่งรัดดำเนินการ เพื่อให้การถวายความปลอดภัย และการเทิดพระเกียรติเป็นไปตามความมุ่งหมาย จะปล่อยให้เนิ่นนานไปคงไม่ได้ ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็นข้าราชการ ทหาร ตำรวจ หรือประชาชนทั่วไป ต้องเห็นเรื่องการถวายความปลอดภัยเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่ง และเป็นเรื่องที่ไม่อาจจะรอได้ เพราะบางเรื่องหากรออาจเกิดผลเสียหาย อย่างไรก็ตาม หน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยเป็นส่วนราชการอยู่ในพระองค์ มีความจำเป็นที่จะต้องพูดถึงการเพิ่มอัตรากำลัง และงบประมาณ ฉะนั้น การที่จำเป็นต้องโอนอัตราหรืองบบางส่วนของกองทัพบก กองทัพไทย และกระทรวงหลาโหม ไปอยู่ในหน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัย จึงเป็นเรื่องจำเป็นอย่างเร่งด่วนที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ กมธ.ฯ จึงเห็นว่ามีความจำเป็นจริงๆที่ต้องตราเป็นพ.ร.ก. โดยไม่อาจรอเป็นพ.ร.บ.แล้วไปเข้าตามช่องทางปกติ ซึ่งต้องใช้เวลานาน อาจไม่ทันการเรื่องการถวายความปลอดภัย จึงเห็นด้วยอย่างยิ่งกับการที่รัฐบาลได้เสนอออกเป็นพ.ร.ก. ทั้งนี้ขอตั้งคำถามว่าการโอนหน่วยงานบางส่วนต้องแก้ไขปรับปรุงกฎหมาย กฎระเบียบอะไรในหน่วยงานเดิมและใหม่ให้สอดคล้องหรือไม่ ขณะที่มีส.ว.​ จำนวน 5 คนคือ นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ นายเสรี สุวรรณภานนท์ นายอนุศักดิ์ คงมาลัย พล.อ.เลิศรัตน์ รันตวาณิช สนับสุนพรก.ดังกล่าว มีความสำคัญ และจำเป็นเร่งด่วน ไม่สามารถรอได้ และไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา172 กำหนดไว้ ขณะที่นายสมชาย แสวงการ ส.ว. สนับสนุนพ.ร.ก.ฉบับดังกล่าว และยังได้เรียกร้องให้ พรรคอนาคตใหม่รับผิดชอบต่อกรณีที่นายปิยบุตร แสงกนกกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ และเลขาธิการพรรคอนาคตใหม่รับผิดชอบต่อการอภิปรายที่ระบุไว้ในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพราะเป็นประเด็นที่ทำให้สังคมสับสนและอาจนำไปสู่ความเผชิญหน้าและขัดแย้งระหว่างประชาชนที่รักชาติ และสถาบันพระมหากษัตริย์ เนื่องจากการอภิปรายของส.ส.ในที่ประชุมสภาฯ​ เมื่อวันที่ 17 ตุลาคมระหว่างการพิจารณา พ.ร.ก. ดังกล่าว มีข้อมูลที่บิดเบือน และทำให้สังคมสับสนว่าการไม่เห็๋นด้วยกับ พ.ร.ก. และอ้างว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ไม่สมควรประกาศ พ.ร.ก. และตั้งคำถามว่าทำไมไม่ทำเป็นพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ทั้งนี้เรื่องความมั่นคงปลอดภัยประเทศ ว่าด้วยการอารักขา ถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ เป็นเรื่องสำคัญของชาติ หากทำเป็นพ.ร.บ. แม้สภาฯ จะพิจารณาแบบ 3 วาระรวดได้ เพื่อความรวดเร็ว แต่ต้องใช้การตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) เต็มสภา และส.ส.สามารถแปรญัตติ หาก ส.ส. 70 คนที่โหวตสวนมติอนุมัติ พ.ร.ก. แปรญัตติที่มีผลเปลี่ยนแปลงเนื้อหา ซึ่ง พ.ร.ก. ที่มีผลบังคับใช้แล้ว หากมีผลเปลี่ยนแปลงบางกรม หรือแก้ไขบางส่วน และมีข้อผิดพลาด รัฐสภา คือ สภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภาต้องรับผิดชอบ หรือหากผ่านสภาฯ โดยไม่แก้ไข ต้องเข้าสู่การประชุมวุฒิสภา ซึ่งการพิจารณาเป็นร่างพ.ร.บ. อาจใช้เวลานานเกือบ 1 ปี ดังนั้นการโอนย้ายหน่วยงาน ที่สำคัญ คือ กรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ และกรมทหารราบที่ 11มหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ ไปเป็นของหน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ อาจเป็นการถ่วงเวลา “คนไทยทั้งประเทศเข้าใจและเห็นด้วยกับการถวายอารักขาความปลอดภัยพระมหากษัตริย์ ทั้งนี้กรมทหารราบที่ 1 และกรมทหารราบที่11มหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์เป็หน่วยงานที่อยู่กับสังคมไทยมาแต่โบราณกาล กรณีเลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ให้สัมภาษณ์เพื่อประกา nhศจุดยืนของพรรคที่นำไปสู่การโหวตสวน ถือว่าไม่งดงาม และสร้างความแคลงใจให้กับประชาชนที่รักชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ ที่ท่านบอกว่าเป็นมาตรา 44 จำแลง ผมว่าเป็นการตะแบง เรื่องนี้นายฯ​ทำถูกต้องแล้ว หากท่านไม่สบายใจ ส.ส.ไม่ต้องมาสภา ซึ่งสิ่งที่ส.ส.พรรคอนาคตใหม่ทำนั้น สร้างความแปลกประหลาด ทั้งนี้ผมมองว่าขณะนี้มีกลุ่มการเมืองบางกลุ่ม ที่เป็นพวกปฏิกษัตริย์นิยม หรือคนที่มีความคิดนิติราษฎร์ พยายามนำมวลชนในโซเชียลลงสู่ถนนเหมือนเหตุการณ์ในฮ่องกง ทั้งนี้เราผ่านเหตุการณ์เดือนตุลา ปี2516 และ ปี 2519 มานานแล้ว ขอบางพรรคการเมืองอย่าพยายามพามวลชนเผชิญหน้า กับคนอีก 60 ล้านคน หากทำสังคมไทยอาจเกิดวิกฤตได้อีกรอบ ทั้งนี้สิ่งที่บางพรรคทำขอให้ทำเป็นครั้งสุดท้าย ส่วนสิ่งที่ทำต้องรับผิดชอบ”นายสมชาย อภิปราย ขณะที่ พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม ชี้แจงว่า การดำเนินการต่อไป คือ ออกประกาศกระทรวงกลาโหมและพิจารณาชี้แจงปรับโครงสร้างภายใมนกองทัพเพื่อให้สอดคล้องกับ พ.ร.ก.ต่อไป จากนั้นที่ประชุมได้ลงมติเอกฉันท์เห็นชอบด้วยคะแนน 223 เสียง งดออกเสียง 3