นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง โพสต์ข้อความผ่านเพจเฟซบุ๊ก THIRACHAI PHUVANATNARANUBALA ระบุว่า...
จดหมายเปิดผนึกถึงนายกฯ เรื่องไฮสปีด (ฉบับที่ ๔) ด่วนที่สุด เอกสารต้นฉบับส่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับ ​​​​​​​​​​​​​​วันที่ ๑๘ ตุลาคม ๒๕๖๒ เรื่อง สัญญารถไฟความเร็วสูงของการรถไฟแห่งประเทศไทยที่อาจผิดกฎหมาย (ฉบับที่ ๔) กราบเรียน ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) อ้างถึง ๑. หนังสือของนายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล ฉบับลงวันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๖๒ ฉบับลงวันที่ ๑๖ ตุลาคม ๒๕๖๒ และฉบับลงวันที่ ๑๗ ตุลาคม ๒๕๖๒ ๒. ข่าวในเว็บไซต์ The Bangkokbiznews วันที่ ๑๘ ตุลาคม ๒๕๖๒ ตามที่ข้าพเจ้าได้มีหนังสือฉบับลงวันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๖๒ ฉบับลงวันที่ ๑๖ ตุลาคม ๒๕๖๒ และฉบับลงวันที่ ๑๗ ตุลาคม ๒๕๖๒ แจ้งท่านว่าโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม ๓ สนามบินมีประเด็นที่อาจผิดกฎหมาย และร่างสัญญามีเงื่อนไขที่ทำให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เสียเปรียบ นั้น บัดนี้ได้ปรากฎข่าวเพิ่มเติมเกี่ยวกับกำหนดการลงนามในสัญญาที่เกี่ยวข้อง ข้าพเจ้าจึงเห็นจำเป็นต้องแจ้งแก่ท่านและคณะกรรมการ ร.ฟ.ท. เพิ่มเติม ดังต่อไปนี้ ข้อ ๑. มติ กพอ. ไม่ตรงกับทีโออาร์ (Request For Proposal) ปรากฏในข่าวในเว็บไซต์ The Bangkokbiznews วันที่ ๑๘ ตุลาคม ๒๕๖๒ ว่า ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชาเป็นประธานเมื่อวันที่ ๑๖ ตุลาคม ๒๕๖๒ กพอ. มีมติเห็นชอบให้แก้ไขสัญญาร่วมทุนโครงการรถไฟความเร็วสูง ๓ สนามบิน “ “ที่ประชุมเห็นชอบแก้สัญญาตามข้อเสนอของเครือซีพี ในสัญญาจะให้ใช้ข้อความว่า "จะแก้ไขผลกระทบที่เกิดขึ้นกับเอกชน" ซีพี ขอ subsidy หรือ ทำไปจ่ายไป จากสัญญาเดิมที่จ่ายเมื่อก่อสร้างเสร็จ” ทั้งนี้ ตามเงื่อนไขการร่วมลงทุน ร.ฟ.ท. จะต้องจ่ายเงินค่าร่วมลงทุนจำนวน ๑๑๗,๒๒๗ ล้านบาท ให้แก่ซีพี ภายในระยะเวลา ๑๐ ปี หลังจากก่อสร้างแล้วเสร็จและเปิดให้บริการ” ” ข้าพเจ้าได้รับข้อมูลว่า การแก้ไขดังกล่าวอ้างอิงร่างสัญญาข้อ ๑๘ ซึ่งมีข้อความว่า “ร.ฟ.ท. จะชำระเงินที่รัฐร่วมลงทุนในโครงการฯ โดยแบ่งชำระเป็นรายปีภายหลังจากวันที่เริ่มระยะเวลาของงานในระยะที่ ๒ ในส่วนของรถไฟความเร็วสูงตามที่ระบุไว้ในหนังสือรับรองการเริ่มให้บริการเดินรถทั้งระบบ โดยกำหนดการแบ่งจ่ายเป็นระยะเวลาสิบ (๑๐) ปี ปีละเท่าๆ กัน .... ทั้งนี้ กรณีมีเหตุจำเป็น อาจให้ทยอยจ่ายเงินดังกล่าวให้เอกชนคู่สัญญาหลังจากเริ่มเปิดเดินรถไฟความเร็วสูงบางส่วน โดยแบ่งจ่ายเงินที่รัฐร่วมลงทุนในโครงการฯ ตามระยะทางของการเดินรถไฟความเร็วสูง” ข้าพเจ้ามีความเห็นว่า เหตุผลที่มีการกำหนดเงื่อนไขให้ ร.ฟ.ท. ยังไม่ต้องจ่ายเงินค่าร่วมลงทุนจนกว่าเอกชนจะก่อสร้างระบบรถไฟแล้วเสร็จนั้น เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของ ร.ฟ.ท. และผลประโยชน์ของรัฐกล่าวคือใช้หลัก “ยื่นหมูยื่นแมว” โดย ร.ฟ.ท. จะจ่ายค่าร่วมลงทุน ก็ต่อเมื่อจะเริ่มได้ประโยชน์จากกิจการรถไฟที่ชัดเจนแล้ว ดังนั้น การแก้ไขตามที่ระบุในข่าวดังกล่าว จึงทำให้ ร.ฟ.ท. เสียเปรียบเอกชนคู่สัญญา ซึ่งผิดกฎหมาย นอกจากนี้ ข้าพเจ้าได้ข้อมูลว่า ข้อความในร่างสัญญา “กรณีมีเหตุจำเป็น อาจให้ทยอยจ่ายเงินดังกล่าวให้เอกชนคู่สัญญาหลังจากเริ่มเปิดเดินรถไฟความเร็วสูงบางส่วน โดยแบ่งจ่ายเงินที่รัฐร่วมลงทุนในโครงการฯ ตามระยะทางของการเดินรถไฟความเร็วสูง” นั้น ก็ไม่ตรงกับทีโอ อาร์ (Request For Proposal) ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นก็ผิดกฎหมายอีกเช่นกัน เพราะเป็นเงื่อนไขที่มิได้เปิดเผยแก่ผู้เข้าร่วมประมูลตั้งแต่แรก กพอ. จึงจำเป็นจะต้องตัดข้อความนี้ออกไปจากร่างสัญญาเสียก่อน ข้อ ๒. การเปิดช่องให้เอกชนสามารถยกเลิกโครงการได้ เป็นการผิดกฎหมาย ปรากฏในข่าวในเว็บไซต์ The Bangkokbiznews วันที่ ๑๘ ตุลาคม ๒๕๖๒ “นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก กล่าวว่า กพอ. รับทราบเอกสารแนบท้ายร่างสัญญาและแผนการส่งมอบพื้นที่แบ่งเป็น ๓ ช่วง คือ ๑. พญาไท-สุวรรณภูมิ ๒. สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา ส่งมอบภายใน ๑ ปี ๓ เดือน ๓. พญาไท-ดอนเมือง ส่งมอบภายใน ๒ ปี ๓ เดือน กรณีส่งมอบพื้นที่ไม่ทัน จะหารือกับเอกชนพิจารณารายกรณี คือ ๑. ขยายระยะเวลาก่อสร้าง แต่ไม่มีการจ่ายชดเชยให้เอกชน ๒. กรณีเลวร้ายที่สุด ร.ฟ.ท. ไม่สามารถส่งมอบพื้นที่ได้เลยในช่วง ๑ ปี ๓ เดือน เอกชนมีสิทธิ์เจรจาและอาจขอ Exit ได้ หลังจากนี้คณะกรรมการ ร.ฟ.ท. จะพิจารณารายละเอียดการส่งมอบพื้นที่ และลงนามในวันที่ ๒๕ ต.ค.นี้” ข้าพเจ้าได้ตั้งข้อสังเกตมาโดยตลอดว่า กรณีส่งมอบพื้นที่ไม่ทัน การที่จะขยายระยะเวลาก่อสร้างนั้น จะทำให้ ร.ฟ.ท. เสียเปรียบ เข้าลักษณะเป็น “ค่าโง่” เพราะในพื้นที่ช่วง ๑. พญาไท-สุวรรณภูมิ ที่กำหนดให้ ร.ฟ.ท. ต้องส่งมอบทันทีนั้น จะรวมที่มักกะสันด้วย เอกชนจึงจะสามารถหาประโยชน์ในที่มักกะสันได้ทันที ในขณะที่ประโยชน์ที่ ร.ฟ.ท. หวังไว้จากกิจการรถไฟจะเลื่อนลอย ทั้งนี้ ในการขยายระยะเวลาก่อสร้าง ถึงแม้ไม่มีการจ่ายชดเชยให้เอกชน ก็มิได้ทำให้ความเสียหายต่อ ร.ฟ.ท. จากผลประโยชน์ที่เลื่อนลดลงไปแต่อย่างใด ดังนั้น คณะกรรมการ ร.ฟ.ท. กพอ. และคณะรัฐมนตรีจึงมีหน้าที่จะต้องทำให้แน่ใจโดยมีเอกสารหลักฐานประกอบชัดเจนเสียก่อนลงนามในสัญญา ว่าการส่งมอบพื้นที่ภายหลังลงนามในสัญญานั้นจะสามารถเกิดขึ้นได้จริงภายในกำหนดเวลา มิฉะนั้นก็จะต้องชะลอการลงนามไว้ก่อนจนกว่าเตรียมการเรื่องการส่งมอบพื้นที่เรียบร้อยแล้ว ส่วนข้อพิจารณาว่า “กรณีเลวร้ายที่สุด ร.ฟ.ท. ไม่สามารถส่งมอบพื้นที่ได้เลยในช่วง ๑ ปี ๓ เดือน เอกชนมีสิทธิ์เจรจาและอาจขอ Exit ได้” นั้น ก็จะมีปัญหาหนัก เพราะเมื่อเอกชนได้ที่มักกะสันไป แล้วเริ่มการปรับปรุงพัฒนาแล้ว ถ้าการยกเลิกโครงการรวมไปถึงยกเลิกการพัฒนาที่มักกะสัน เอกชนก็จะเสียหายและเรียกร้องต่อ ร.ฟ.ท. ได้ แต่ถ้าการยกเลิกโครงการหมายถึงเฉพาะการยกเลิกการลงทุนในส่วนของรถไฟความเร็วสูง ร.ฟ.ท. ก็จะเสียหายซ้ำสอง เพราะเสียที่มักกะสันโดยไม่ได้ประโยชน์จากกิจการรถไฟ ซึ่ง คณะกรรมการ ร.ฟ.ท. กพอ. และคณะรัฐมนตรีจะต้องรับผิดชอบ อนึ่ง ในการที่คณะกรรมการ ร.ฟ.ท. จะพิจารณารายละเอียดการส่งมอบพื้นที่ เพื่อลงนามในสัญญาในวันที่ ๒๕ ตุลาคม ๑๕๖๒ นั้น ข้าพเจ้าเคยแจ้งข้อสังเกตไว้ว่าคณะกรรมการ ร.ฟ.ท. กพอ. และคณะรัฐมนตรีจะอนุมัติให้มีการลงนามได้ก็ต่อเมื่อมีหลักฐานชัดเจนว่าการส่งมอบพื้นที่ภายหลังลงนามในสัญญาจะเกิดขึ้นภายในกำหนดอย่างแน่นอน มิฉะนั้น ก็ไม่ควรเร่งรีบลงนาม แต่ควรจะเร่งรีบเตรียมการส่งมอบพื้นที่ให้เรียบร้อยเสียก่อน ทั้งนี้ เนื่องจากการโยกย้ายสาธารณูปโภคในกรุงเทพมีความซับซ้อนทางเทคนิกสูง โดยระบบท่อในบางจุดวางอยู่ซ้อนกัน หลายหน่วยงานจึงต้องทำงานเหลื่อมกันเป็นหนึ่งเดียว ข้าพเจ้าจึงเห็นว่า กพอ. ต้องกำชับให้คณะกรรมการ ร.ฟ.ท. จัดการให้ ๘ หน่วยงานเสนอแผนงานเป็นลายลักษณ์อักษร ที่ระบุขอบเขตการทำงาน (Scope of work) ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้อง และกำหนดเวลาทำงานแต่ละช่วง โดยจะต้องผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการของทั้ง ๘ หน่วยงานเสียก่อนเพื่อให้มีผลผูกพันที่ชัดเจน มิฉะนั้น จะเป็นการทำงานโดยขาดความรอบคอบ เข้าข่ายประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง ข้อ ๓. สภาพของการส่งมอบแอร์พอร์ตเรลลิงค์ ข้าพเจ้าได้รับข้อมูลว่า ในการส่งมอบรถไฟแอร์พอร์ตเรลลิงค์นั้น มีเงื่อนไขที่ ร.ฟ.ท. จะต้องทำการปรับสภาพรถไฟและระบบรางให้ดีเสียก่อน ซึ่งถ้าเป็นจริงก็จะยิ่งเพิ่มความเสียหายแก่ ร.ฟ.ท. เนื่องจากร่างสัญญากำหนดให้ต้องยกรถไฟแอร์พอร์ตเรลลิงค์เพื่อประโยชน์แก่เอกชนโดย ร.ฟ.ท. ได้รับเงินตอบแทนเพียงหนึ่งหมื่นล้านบาท ทั้งที่ ร.ฟ.ท. ลงทุนไปสามหมื่นห้าพันล้านบาท ประกอบกับขณะนี้รถไฟแอร์พอร์ตเรลลิงค์มีผู้โดยสารแต่ละวันเกือบแสนคน จึงเป็นการเสียประโยชน์อย่างมากอยู่แล้ว แต่ถ้ามีเงื่อนไขนี้ก็จะยิ่งทำให้ ร.ฟ.ท. เสียประโยชน์เพิ่มขึ้น เนื่องจากเงื่อนไขที่ให้ ร.ฟ.ท. ได้รับเงินตอบแทนสำหรับรถไฟแอร์พอร์ตเรลลิงค์นั้น ต่ำกว่าเงินที่ ร.ฟ.ท. ลงทุน เพื่อให้ความเป็นธรรมแก่ประชาชนในฐานะเจ้าของ ร.ฟ.ท. ข้าพเจ้าจึงขอเรียกร้องให้ กพอ. ทบทวนเงื่อนไขดังกล่าว หรือหากเห็นว่าจำเป็นต้องมี ก็จะต้องชดเชยให้แก่ ร.ฟ.ท. จากงบประมาณแผ่นดินหรือโดยทางอื่น เนื่องจากเรื่องนี้เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ของประชาชนในวงกว้าง ข้าพเจ้าจึงใคร่ขอให้ท่านสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาข้อเรียกร้อง แล้วเปิดเผยความเห็นเกี่ยวกับข้อร้องเรียนเหล่านี้ต่อสาธารณะเป็นการเร่งด่วนที่สุด จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณาว่าการกระทำโดยบุคคลที่เกี่ยวข้องถูกต้องตามหลักของกฎหมายและหลักธรรมาภิบาลหรือไม่