คนข้างวัด / อุทัย บุญเย็น ดร.สนอง วงอุไร เป็นที่รู้จักกันดีในวงการชาวพุทธผู้สนในการฟังธรรม จัดว่าเป็น “นักเทศน์” คนหนึ่งที่มีความรู้ทางธรรมแนว นรก สวรรค์ และการเวียนว่ายตายเกิดในสังสารวัฏฏ์ ดร.สนอง ไม่เคยบวชเรียนเป็นมหาเปรียญ แต่มีบทบาทในการเผยแพร่พุทธศาสนาที่มีประสิทธิภาพคนหนึ่ง ท่านพูดธรรมะได้น่าฟัง ปัจจุบัน เป็นวิทยาการหลักของ “ชมรมกัลยาณธรรม” ทางยูทูป มีคนติดตามฟังท่านรายการละเป็นพันคน ท่านมีการศึกษาทางวิทยาศาสตร์ตั้งแต่ระดับปริญญาตรี-โท (มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์) และได้รับทุนไปศึกษาต่อระดับปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยลอนดอน ประเทศอังกฤษ ในสาขาไวรัสวิทยา เป็น ดร.ทางวิทยาศาสตร์ เป็นรุ่นบุกเบิกของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่(มช.) เป็นอาจารย์ประจำที่ มช.และเกษียณอายุราชการที่นั่น (ปัจจุบัน อายุราว 80 ปีเศษ) แม้จะเกษียณแล้ว ดร.สนอง ก็ทำงาน (บรรยายธรรมไปทั่วประเทศ) ไม่เคยหยุดหย่อน แทบไม่ได้พัก เมื่อปี พ.ศ.2518 ท่านได้อุปสมบท (เป็นเวลา 1 เดือน) ที่วัดปริณายกกรุงเทพฯ และไปฝึกสมาชิกภาวนาที่วัดมหาธาตุฯท่าพระจันทร์ กับท่านเจ้าคุณเทพสิทธิมุนี (โชดก ป.ธ.9) สมาธิภาวนาที่นั่น เป็นแนว “ยุบหนอ-พองหนอ” ซึ่งเป็นการฝึกมีสติด้วยการกำหนดรู้อิริยบถตามหลัก “มหาสติปัฎฐาน” (ตามแบบพม่า) ท่านเจ้าคุณโชดก (มรณภาพแล้ว) จัดว่าเป็นอาจารย์กรรมฐานของ ดร.สนอง และดูเหมือน ดร.สนอง จะนับถือเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะนับถือใน “เจโตปริยญาณ” (กำหนดรู้ใจ หรือความคิดของผู้อื่น) อันเป็นความรู้อันเกิดจากสมาธิฌาน ที่เรียกว่า “อภิญญา” อย่างหนึ่ง (ในอภิญญา 6) ดร.สนองกล่าวว่า ท่านเองได้ปฏิบัติทางสมาธิภาวนาอย่างเข้มงวด ใช้เวลา 20 ชั่วโมงในแต่ละวัน (จำวัดเพียงวันละ 4 ชั่วโมง)ภายใน 7-8 วัน ท่านได้ฌาน (อัปปนาสมาธิ) และได้บรรลุอภิญญา 5 คือ 1.ทิพยโสต-หูทิพย์ (ได้ยินเสียงที่เกินวิสัยของหูทั่วไปได้ยิน) 2.เจโตปริยญาณ (กำหนดรู้ใจหรือความคิดของผู้อื่นได้) 3. บุพเพนิวาสา นุสสติญาณ (ระลึกชาติได้) 4. ทิพยจักขุญาณ-ตาทิพย์ (มองเห็นสิ่งที่ตาทั่วไปมองไม่เห็น เช่น เห็นผี และเทวดาในโลกทิพย์ เป็นต้น) ในจำนวนอภิญญา 5 อย่างนี้ ท่านไม่ได้พูดถึง “อิทธิวิธี” หรือการแสดงฤทธิ์ต่างๆได้ อภิญญา 5 อย่างนี้ เป็นความรู้พิเศษอันเกิดจากฌาน เป็นอภิญญาระดับโลกิยะ อภิญญาอีกอย่างหนึ่ง (ในอภิญญา 6) คือ “อาสวัขยญาณ”(ความรู้พิเศษที่กำจัดกิเลสได้สิ้นเชิง) เป็นอภิญญาระดับโลกุตระ และเป็นอภิญญาของอริยบุคคล คือ โสดาบัน สกิทาคามี อนาคามี และพระอรหันต์ อภิญญาของอริยบุคคล เป็น “อกุปปาวิมุตติ” คือไม่มีการกลับกลาย (ภาษาพระใช้คำว่า “ไม่กำเริบ”) ส่วนอภิญญาของปุถุชน (โลกิยชน) ทั่วไป อาจกลับกลาย หรือเสื่อม หรือกลับกำเริบได้น่าสังเกตอย่างหนึ่งว่า ผู้เป็นโสดาบันและสกิทาคามี (รวมถึงอนาคามี?) อาจไม่ได้ฌานและอภิญญาใดๆ แต่กิเลสที่ละได้แล้ว เป็นอันละได้เด็ดขาด ไม่กลับกลายหรือกำเริบได้อีก มีผู้โจมตี ดร.สนอง กรณีประกาศ(ในการบรรยายธรรมครั้งหนึ่ง) รับรองว่า “หลวงปู่เณรคำ “เป็นพระอริยบุคคล โจมตีว่า ดร.สนอง ยังไม่เป็นอริยบุคคลทำไมจึงรู้ว่าใครเป็นอริยบุคคลได้? เรื่องนี้ ดร.สนอง ยังไม่เคยโต้ตอบหรือชี้แจงใดๆ ในสมัยพุทธกาล (เท่าที่ได้อ่านในพระไตรปิฎก) ดูเหมือนมีแต่พระพุทธเจ้าเท่านั้นที่บอกว่าใครเป็นอริยบุคคลชั้นไหน (แม้แต่พระสาวกที่เป็นพระอรหันต์ก็ดูเหมือนไม่มีใครบอกว่าใครได้บรรลุธรรมเป็นอริยบุคคลชั้นใด) ผมมีความเห็นว่า อภิญญา 5 ที่ ดร.สนองได้จากฌานนั้นเป็นโลกิยอภิญญา อาจเสื่อมได้หรือกลับกลายได้ และเท่าที่ติดตามฟังก็ไม่เคยได้ยินจากปากท่านว่า ท่าเป็นอริยบุคคลชั้นใดๆ การชี้ว่า “หลวงปู่เณรคำ” เป็นอริยบุคคล (ไม่ว่าจะเป็นประเภทใด) น่าจะเป็นความเลื่อมใสส่วนตัว และน่าจะชี้แจงได้ว่า ความรู้ในระดับอภิญญา 5 นั้น อาจจะผิดพลาดได้ คือ ยอมรับผิดไป น่าจะเป็นการดี มีอีกเรื่องหนึ่งที่ค้างคาใจผมอยู่ คือ “การอวดอุตตริมนุสสธรรม” แม้ฆราวาสจะไม่อยู่ภายใต้สิกขาบท 227 ข้อของพระพุทธเจ้าแต่การอวดอ้างแทนครูบาอาจารย์หรือแทนพระภิกษุรูปใด ก็ไม่น่าจะเหมาะสมเพราะคำว่า “ศีล” นั้น ไม่ใช่แค่ศีลในพระปาติโมกข์ (227 ข้อ) แต่หมายถึง “ปาริสุทธิศีล” อีก 4 ข้อด้วย คือ 1.ศีลในพระปาติโมกข์ (ของพระภิกษุ) 2.อาชีวปาริสุทธิศีล (มีการเลี้ยงชีวิตที่ไม่คดโกง มีเล่ห์เหลี่ยม เป็นต้น) 3.อินทรียสังวร (ระวังบาปอกุศลที่จะผ่านมาทางอายตนสัมผัส) และ 4. ปัจจัยสัมนิสิตศีล (ศีลในการใช้สอบปัจจัย 4) ผมมีความเห็นว่า ผู้บรรยายธรรมของพระพุทธเจ้า แม้จะไม่ใช่พระภิกษุ ก็จะต้องมีการสำรวมระวังในเรื่องศีลด้วย เกรงว่า จะเกิดความเสียหายแก่ครูบาอาจารย์ได้ แม้ทางพระภิกษุเอง ก็ไม่อยากให้อวดอ้างอุตตริมนุสสธรรม (เช่น ฌาน สมาบัติ การบรรลุธรรม ฯลฯ เป็นต้น) แทนครูบาอาจารย์อย่างที่ทำกันอยู่ ยิ่งเป็นสมัยที่การสื่อสารแผ่าคลุมได้กว้างไกลอย่างทุกวันนี้ ก็ยิ่งเสี่ยงต่อการอวดอ้างคุณวิเศษเผยแพร่เพื่อลาภสักการะโดยไม่รู้ตัว คำกล่าวของ ดร.สนอง ที่ผมเห็นว่า ยังไม่ตรงกับความจริงอีกเรื่องหนึ่ง คือ ท่านมักจะอ้างว่า ท่านเป็น “นักวิทยาศาสตร์” แต่ผมเห็นว่า ท่านเป็น “นักศึกษาทางวิทยาศาสตร์” มากกว่า เพราะท่านยังไม่มีการทดลองทางวิทยาศาสตร์เป็นของตัวเองใดๆ เลย อยากจะพูดด้วยว่า ในประเทศไทยยังไม่มี “นักวิทยาศาสตร์” เพราะในระดับโลก ยังไม่มีชื่อนักวิทยาศาสตร์ไทยแม้แต่คนเดียว (เห็นมีแต่ “ด็อกเตอร์” ทางวิทยาศาสตร์เท่านั้น (ในวงการแพทย์เสียอีกกลับมีนายแพทย์ที่มีผลงานการพิสูจน์ทดลองหรืองานวิจัยเป็นชิ้นเป็นอัน) มีความเข้าใจผิดอย่างหนึ่งของ ดร.สนอง อยากจะให้เข้าใจตรงกันว่า การกำหนดลมหายใจเข้า-ออก หรือ วิธีอานาปานสติ นั้น ในพระไตรปิฎกไม่มีการภาวนาด้วยคำว่า “พุธ-โธ” หรือด้วยคำว่า “ยุบหนอ-พองหนอ” หรือด้วยคำว่า “สัมมา-อรหัง” มีแต่ให้กำหนดรู้ลมหายใจเข้า-ออก ยาวหรือสั้นเท่านั้น การกำหนดรู้ลมหายใจด้วยคำว่า “พุท-โธ” ฯลฯ เป็นเทคนิคหรือวิธีการที่คิดขึ้นสมัยหลัง ซึ่งก็ไม่ผิด เพราะมุ่งให้ใจดิ่งสู่สมาธิเป็นสำคัญ ที่กล่าวว่า การภาวนาด้วยคำว่า “พุท-โธ” เป็นวิธีอานาปานสติในพระไตรปิฎก เป็นความเข้าใจผิดของ ดร.สนอง การกำหนดลมหายใจ เมื่อหายใจเข้าว่า “พุท” และเมื่อหายใจออกว่า “โธ” นั้น เป็นวิธีที่นิยมในพระกรรมฐานสายพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต และสายพระอาจารย์ชา สุภัทโท อย่างไรก็ตาม ดร.สนอง วงอุไร ซึ่งได้เรียนวิชาวิทยาศาสตร์มาตั้งแต่ปริญญาตรี จนถึงปริญญาเอก ก็ได้ให้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ว่า เครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ที่เรียกว่า กล้องจุลทัศน์นั้นสามารถขยายภาพให้เห็นชีวิตเล็กๆที่ตามองไม่เห็นถึงพันเท่า เราจึงได้รู้ว่ามีชีวิตที่ตามองไม่เห็นอีกมากมายและยังมีชีวิตประเภทกายทิพย์ เช่น ผีและเทวดา อีกไม่รู้เท่าไร ซึ่งวิทยาศาสตร์ยังไม่เห็นหรือยังมองเห็นไม่ได้ เฉพาะ จิตนั้น เป็นพลังงานอย่างหนึ่ง ซึ่งวิทยาศาสตร์ยังไม่สนใจศึกษาแสดงว่า พระพุทธเจ้าได้พบชีวิตที่วิทยาศาสตร์ยังไม่พบ อันเป็นมิติมหัศจรรย์อีกมากมาย ทำให้ นึกถึง อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ (Albert Einstein) นักวิทยาศาสตร์ เจ้าของทฤษฎีสัมพันธภาพ (Theory of relativity) หรือที่มาของสูตรทางวิทยาศาสตร์ E=mc2 ซึ่งนำไปสู่การค้นพบวิธีผลิตระเบิดปรมาณู ไอน์สไตน์ใช้จินตนาการในการ สร้างสรรค์งานทางวิทยาศาสตร์ของเขา เขาเกิดจินตนาการจากการอ่านคำสอนของพระพุทธเจ้า คือจินตนาการในเรื่องจักรวาลซึ่งมีอยู่มากมายในพระไตรปิฎก จนเขาใช้คำว่า Cosmic Religion กับ พุทธศาสนา ไอน์สไตน์กล่าวว่า พุทธศาสนาเป็น cosmic religion ในความหมายว่า “ศาสนาแห่งจักรวาล” เพราะพระพุทธเจ้าตรัสถึงจักรวาล (โลกธาตุ)อันนับไม่ถ้วนในหลายพระสูตร ใน “พรหมนิมันตนสูตร” ที่เขียนถึงวันก่อน กล่าวถึงอำนาจของพกาพรหม (พรหมชั้นต่ำสุดของกลุ่มพรหมแรก คือ พรหมชั้นปาริสัชชา) ว่ามีอำนาจแผ่ไปไกลแค่ 1 พันจักรวาล ส่วนในธัมมจักกัปปวัตตนสูตร กล่าวว่า ข่าวการประกาศคำสอน (ในธัมมจักกัปปวัตตนสูตร) ของพระพุทธเจ้า กึกก้องไปถึง “หมื่นโลกธาตุ (จักรวาล) หรือ ไปถึง ทสสหัสสีโลกธาตุ” แสดงว่า มีจักรวาลอักนับไม่ถ้วน ไอน์สไตน์ ใช้จินตนาการคิดงานวิทยาศาสตร์ ส่วนนักศึกษาทางวิทยาศาสตร์ของไทยยังข้ามไม่พ้น “ความเชื่อ” เดิมๆ