เกษตรกรเตรียมบุก ก. เกษตรฯ ค้านยกเลิก 3 สารพิษ ชี้เป็น “ทฤษฎีสมคบคิด” ด้านนักวิชาการ จุฬาฯ ขอให้ผู้บริหารบ้านเมืองใช้ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ อย่าตีขลุมแบน 3 ตัว วันที่ 17 ต.ค. นายสุกรรณ์ สังข์วรรณะ เลขาธิการสมาพันธ์เกษตรปลอดภัย กล่าวว่า ในวันที่ 21 ตุลาคม เวลา 10.00 น. กลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกพืชเศรษฐกิจหลัก 6 ชนิดได้แก่ อ้อย ปาล์มน้ามัน ยางพารา มันสาปะหลัง ข้าวโพด และไม้ผลจะร่วมกันแถลงข่าวที่โรงแรมเอเซีย เพื่อชี้แจงข้อมูลเชิงประจักษ์เกี่ยวกับผลกระทบต่อเกษตรกร หากรัฐยกเลิกใช้สารเคมี 3 ชนิด โดยเฉพาะพาราควอต ซึ่งเป็นสารกำจัดวัชพืชที่มีประสิทธิภาพและราคาถูก อีกทั้งจะแสดงข้อมูลแย้งเอ็นจีโอที่ระบุว่า พาราควอต ตกค้างในพืชผักซึ่งเป็นเรื่องเท็จ เนื่องจากพาราควอตมีฤทธิ์เผาไหม้ เกษตรกรใช้ฉีดกำจัดหญ้าเท่านั้น ไม่ได้ฉีดใส่ต้นผักหรือไม้ผล ทั้งนี้ล่าสุดผู้แทนเอ็นจีโอกล่าวว่า มีเกษตรกรใช้เครื่องพ่นยากำลัง 6 สูบฉีดพาราควอตต้นทุเรียนนั้น แสดงให้เห็นแล้วว่า สร้างความน่ากลัวเกินเหตุเพราะการฉีดยาฆ่าหญ้าใช้เครื่องพ่นขนาดเล็กและจะระวังไม่ให้ถูกไม้ประธานเพราะต้นไม้จะเสียหาย นายสุกรรณ์ กล่าวว่า ส่วนในช่วงบ่ายจะไปที่กระทรวงเกษตรฯ เพื่อพบนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อนำเสนอข้อมูลการใช้สารเคมีของเกษตรกรและขอให้แก้ปัญหานี้ ในฐานะทีนายเฉลิมชัย เป็นผู้บริหารสูงสุดของกระทรวงเกษตรฯ ซึ่งมีหน้าที่ต้องดูแลเกษตรกร ทั้งนี้กลุ่มเกษตรกรเชื่อว่า การเร่งเดินหน้ายกเลิกใช้สารเคมี 3 ชนิดเป็น “ทฤษฎีสมคบคิด” ของ 3 กลุ่มคือ องค์กรที่อ้างว่าทำทุกอย่างเพื่อประชาชน นักการเมืองโกหกที่ต้องการให้แบนสารนี้ และให้ใช้สารทดแทนซึ่งมีราคาแพงกว่า โดยตั้งบริษัทนำเข้าสารเคมีทดแทนไว้แล้ว และนักวิชาการที่ให้ข้อมูลบิดเบือน การที่กลุ่มบุคคลนี้ป่าวประกาศว่า ประเทศไทยอาบยาพิษส่งผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าเกษตรจึงไม่ได้เป็นการทำเพื่อเกษตรกร ทั้งยังทำให้เกิดความขัดแย้งวุ่นวายในสังคม “รัฐจะให้เกษตรกรเลิกใช้พาราควอต ขณะที่นำเข้าผักและผลไม้จำนวนมากจากจีนซึ่งเป็นประเทศที่ใช้พาราควอต ดังนั้นหากเกรงว่า พาราควอตเป็นพิษ คนไทยยังต้องบริโภคพืชผักจากประเทศอื่นที่ใช้พาราควอตอยู่ ขอเรียกร้องให้ผู้บริหารนำข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ซึ่งเป็นข้อมูลเชิงประจักษ์มาแสดงให้ประชาชนทั้งประเทศรับทราบและมีส่วนในการตัดสินใจเนื่องจากที่ผ่านมา เอ็นจีโอออกมาให้ข้อมูลฝ่ายเดียว ขณะที่กรมวิชาการเกษตรซึ่งกำกับดูแลการใช้สารเคมีทางการเกษตรไม่ได้นำเสนอข้อมูลทางวิชาการใดๆ เลย” นายสุกรรณ์ กล่าว รศ. เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์  ด้าน รศ. เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ควรแยกการพิจารณาสารทั้ง 3 ชนิดเนื่องจากเป็นสารคนละประเภท ระดับความเป็นพิษไม่เท่ากัน และวิธีการใช้ให้เหมาะสมก็แตกต่างกัน โดย คลอร์ไพรีฟอส ซึ่งเป็นยาฆ่าแมลงที่มีระดับความเป็นพิษปานกลาง หากใช้ไม่เหมาะสมอาจจะมาถึงผู้บริโภคได้ หากรัฐต้องการยกเลิกสามารถยกเลิกได้เลย รศ. เจษฎา กล่าวว่า ส่วน พาราควอต เป็นยาฆ่าหญ้าซึ่งวิธีการใช้ไม่ได้ทำให้ส่งผลตกค้างมามาสู่ผู้บริโภคจึงควรการกำหนดมาตรการต่างๆ เพื่อให้ใช้ได้อย่างเหมาะสมได้แก่ การอบรมเกษตรกรสาร รวมทั้งมีระเบียบการเก็บรักษาไม่ให้เสี่ยงเป็นอันตราย สำหรับยาฆ่าหญ้าอีกชนิดคือ ไกลโฟเซต นั้น องค์การอนามัยโลก (WHO) และองค์การอาหารโลก FAO จัดว่ามันเป็นสารที่ใช้ได้โดยไม่ก่อให้อันตรายต่อสุขภาพเพราะเป็นสารที่มีระดับความเป็นพิษต่ำ ประเทศต่างๆ ที่ต้องการยกเลิกใช้พาราควอตมักนิยมใช้ไกลโฟเซตเป็นสารทดแทน จึงไม่มีความจำเป็นต้องยกเลิก รศ. เจษฎา กล่าวว่า ทางออกที่รัฐควรเร่งทำคือ การจัดเวทีให้ทั้งผู้แทนฝ่ายหนุนและต้านการใช้นำข้อมูลทางวิทยาศาสตร์มานำเสอนให้ประชาชนได้รับทราบซึ่งเป็นวิธีการที่นานาอารยะประเทศใช้แก้ปัญหา กรณีที่สังคมมีความเห็นไม่ตรงกัน แล้วให้สังคมมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ แต่ทั้งนี้ต้องเป็นการนำเสนอปัญหา ผลกระทบ และทางแก้ไขที่เป็นข้อมูลทางวิทยาศาสตร์และข้อมูลเชิงประจักษ์อย่างแท้จริง ไม่ใช่เป็นเวทีตอบโต้กล่าวหากันไปมาซึ่งปรากฏในโซเชียลมีเดียเป็นเวลานานแล้ว “ขณะนี้พบว่า เมื่อฝ่ายหนึ่งหาข้อมูลทางวิทยาศาสตร์มาตอบไม่ได้ก็ใช้วิธีกล่าวหาตัวบุคคล ใครที่แสดงความเห็นว่า ต้องการใช้สารเคมีทางการเกษตรกลายเป็นผู้ร้าย โดยไม่ได้คำนึงว่า เกษตรกรยังจำเป็นต้องมีเครื่องมือในการประกอบอาชีพ หากผู้บริหารรู้สึกห่วงใยเรื่องความปลอดภัยควรรับฟังข้อมูลให้รอบด้าน การกล่าวว่า ผู้บริหารไม่จำเป็นต้องรู้ทุกเรื่องจึงเป็นคำพูดที่น่ากังวลมากเนื่องจากปัญหาสำคัญๆ นั้น ผู้บริหารต้องมีข้อมูลที่ถูกต้องในการตัดสินใจ ใช้อารมณ์และความรู้สึกเท่านั้นไม่ได้ แต่ไม่แน่ใจว่า จะสายเกินไปหรือไม่เนื่องจากคณะกรรมการวัตถุอันตรายจะประชุมวันที่ 22 ตุลาคมนี้แล้ว ขณะนี้หน่วยงานที่รับผิดชอบยังโยนกันไปมาและเลี่ยงที่จะแก้ปัญหาซึ่งผู้ได้รับผลกระทบรุนแรงที่สุดคือ เกษตรกรทั้งประเทศ” รศ. เจษฎา กล่าว