กรมสุขภาพจิตให้ยึดหลัก อย่าตอบสนอง ไม่เอาคืน เก็บหลักฐาน รายงานความรุนแรง และตัดช่องทางติดต่อ จากกรณีการเสียชีวิตเน็ตไอดอลสาวชื่อดังของเกาหลี “ซอลลี่” ซึ่งเป็นหนึ่งที่ตกเป็นเหยื่อของการระรานกลั่นแกล้งในโลกไซเบอร์ หรือ Cyberbullying นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต อธิบดีกรมสุขภาพจิต เผยว่า สภาพสังคมในปัจจุบันที่เกิดปัญหาการระรานทางไซเบอร์ (Cyberbullying) นับวันยิ่งมีมากขึ้น เนื่องจากสื่อสังคมออนไลน์เข้าถึงง่ายและเข้าถึงได้ตลอดเวลา ซึ่งการระรานทางไซเบอร์ หมายถึง การกลั่นแกล้ง ให้ร้าย ต่อว่า หรือรังแกผู้อื่นทางสื่อสังคมต่างๆ เช่น เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ สาเหตุอาจเกิดขึ้นได้ ทั้งจากการแกล้งกันเล็กๆ น้อยๆ ล้อเล่นกันขำๆ แล้วบานปลายไปด้วยความไม่ตั้งใจ หรืออาจเกิดจากความขัดแย้ง เกลียดชัง ทั้งที่มีเหตุผลและไม่มีเหตุผล อาจแค่ไม่ชอบหน้า หรือความเห็นบางอย่างไม่ตรงกัน แล้วใช้พื้นที่ในโลกออนไลน์โจมตีกัน ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อสภาพจิตใจของผู้ที่โดนระราน อาจทำให้หงุดหงิดรำคาญใจ กินไม่ได้ นอนไม่หลับ และอาจจะมีปัญหาสุขภาพจิตตามมา เช่น ซึมเศร้า วิตกกังวล หรือมีความคิดอยากตาย เป็นต้น อีกทั้งบางรายอาจเปลี่ยนตัวเองกลายเป็นแกล้งคนอื่นต่อไป คล้ายกับที่ตัวเองเคยโดนแกล้ง ขึ้นกับความรุนแรง และความสามารถในการรับมือของผู้ถูกกลั่นแกล้งด้วย อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า ดังนั้นเพื่อป้องกันการใช้สื่อออนไลน์ในทางที่ผิด ควรเขียนข้อความหรือตอบข้อความต่างๆ ด้วยความระมัดระวัง ใช้เวลาไตร่ตรองข้อความที่ตนเองจะเขียนเสนอความเห็นต่างอย่างสร้างสรรค์ ให้โอกาสผู้อื่นได้อธิบายเสนอความคิดเห็น เปิดใจยอมรับมุมมองของผู้อื่น เน้นเอาใจเขามาใส่ใจเรา หลีกเลี่ยงใช้ถ้อยคำที่รุนแรงเโจมตีบุคคลอื่น หรือวิจารณ์อย่างรุนแรง โดยขาดข้อมูลสนับสนุนรอบด้าน และหยุดส่งต่อข้อความที่รุนแรงออกไปโดยไม่มีขอบเขต ซึ่งหากทุกคนช่วยสนับสนุนให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์เชิงบวกได้อย่างกว้างขวางแล้ว จะช่วยลดการระรานกันทางไซเบอร์ไปได้ ทั้งนี้ กรมสุขภาพจิต แนะนำวิธีจัดการกับการถูกระรานทางไซเบอร์ โดยเริ่มต้นด้วยการประเมินการใช้งานโซเชียลมีเดียของตนเอง ปรับเวลาใช้งานให้เหมาะสม ใช้เวลากับผู้คนในชีวิตจริงมากขึ้น หากเมื่อเกิดการระรานขึ้นกับตัวคุณ ให้ปฏิบัติดังนี้ 1. อย่าตอบสนองข้อความกลั่นแกล้ง เพราะจะทำให้สถานการณ์แย่ลง และเป็นสิ่งที่ผู้ระรานต้องการให้เกิดขึ้น 2.ไม่เอาคืน การแก้แค้นหรือตอบโต้ด้วยวิธีเดียวกันจะทำให้ไม่ต่างจากคนที่กลั่นแกล้งเรา อาจทำให้เรากระทำความผิดและเป็นจำเลยสังคมแทน 3. เก็บหลักฐาน บันทึกภาพและข้อความที่ทำร้ายคุณ เพื่อรายงานผู้ปกครองหรือผู้บังคับใช้กฎหมาย 4. รายงานความรุนแรง ส่งข้อมูลความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับทางโซเชียลมีเดีย 5. ตัดช่องทางติดต่อ โดยลบ แบน บล็อก ทุกช่องทางเชื่อมต่อกับคนที่มาระราน ระมัดระวังการติดต่อกับคนกลุ่มนี้ในอนาคต