รวบรวมข้อมูลทั่วไทยรายงานแบบเรียลไทม์ ทั้งคาดการณ์ล่วงหน้าเพื่อรับมือ และจะร่วมกับสธ.ติดตั้งเครื่องวัดฝุ่นที่รพ.สต.8 พันแห่งทั่วประเทศ กรมควบคุมมลพิษแจ้งว่า จากการติดตามตรวจสอบคุณภาพอากาศในพื้นที่กทม.และปริมณฑล ประจำวันที่ 16 ตุลาคม 2562 เวลา 07.00 น. พบว่าปริมาณฝุ่นละออง PM2.5 ตรวจวัดได้ระหว่าง 15 - 40 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ปริมาณฝุ่นละอองมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากวันก่อนหน้าเล็กน้อย แต่ยังอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานทุกสถานี (ค่ามาตรฐานไม่เกิน 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร) คุณภาพอากาศอยู่ในระดับดีถึงดีมาก ทั้งนี้ กรมอุตุนิยมวิทยา รายงานว่า พื้นที่กทม.และปริมณฑล มีเมฆเป็นส่วนมาก โดยมีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 40 และมีฝนตกหนักบางแห่ง ลักษณะเช่นนี้จะช่วยให้ฝุ่นละอองไม่เกิดการสะสม ประชาชนสามารถติดตามสถานการณ์คุณภาพอากาศแบบ Real Time เพิ่มเติมได้ที่ http://air4thai.pcd.go.th/webV2/ แอปพลิเคชั่น Air4Thai และ http://bangkokairquality.com/bma/index.php ด้านดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รมว.กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) แจ้งว่า ได้เปิดตัวระบบข้อมูลคุณภาพอากาศแบบเบ็ดเสร็จ ซึ่งเกิดจากความร่วมมือของอว. โดย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) เครือข่ายพันธมิตรมหาวิทยาลัยเพื่อการวิจัย ร่วมกับ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกรมควบคุมมลพิษ สร้าง Platform การตรวจวัดและข้อมูลค่าฝุ่นละอองที่ถูกต้อง แม่นยำ เป็นมาตรฐานเดียวกันเพื่อให้ข้อมูลกับประชาชนอย่างทันท่วงที ผ่านระบบข้อมูลคุณภาพอากาศแบบเบ็ดเสร็จ ด้วยเว็บไซต์ https://pm2_5.nrct.go.th เรียกว่า ศูนย์เฝ้าระวังคุณภาพอากาศ วช. (NRCT Air Quality Information Center, NRCT AQIC) ทั้งนี้ จะแสดงผลคุณภาพอากาศจากการรวบรวมข้อมูลการรายงานค่าความเข้มข้นฝุ่นละออง PM2.5 และ PM10 จากหลายๆ หน่วยงานทั่วประเทศ รวมจุดติดตั้งประมาณ 800 จุด ซึ่งระบบมีจุดเด่น คือ เป็นSingle Database เป็นฐานข้อมูลแบบเบ็ดเสร็จ, Real-time รายงานสภาพอากาศรายชั่วโมง รายวัน, AQI Forecast คาดการณ์สภาพคุณภาพอากาศล่วงหน้า 3 วัน, Hotspot การตรวจหาจุดความร้อน, Easy Access ประชาชนเข้าถึงง่าย, Prepare ข้อมูลการปฏิบัติตนอย่างถูกต้องและคำแนะนำในการรับมือสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็ก โครงการนี้เป็นความสำเร็จหนึ่งของโครงการท้าทายไทย (Grand Challenges Thailand) เรื่อง ระบบคุณภาพอากาศแบบเบ็ดเสร็จ เป็น 1 ใน 4 Platform สำคัญ โดยเรื่อง Grand Challenge นี้ อว.มอบหมายให้ วช. ขับเคลื่อนและขยายผลต่อยอดจากแผนงานวิจัยท้าทายไทยเพื่อบรรเทาปัญหาหมอกควัน รวมทั้ง อว. จะร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขขยายผลและติดตั้งเครื่องวัดฝุ่นละอองขนาดเล็ก Dustboy ที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ทั่วประเทศ และคาดว่าจะติดตั้งเครื่องตรวจวัดคุณภาพอากาศได้ 8,000 แห่งทั่วประเทศ เพื่อให้ประชาชนตระหนักและเข้าถึงข้อมูล พร้อมทั้งสามารถรับมือกับสถานการณ์ฝุ่นละอองได้อย่างทันท่วงที