เมื่อเวลา 08.39 น.วันที่15 ต.ค.62 ณ ห้องปฏิบัติราชการผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี ศาลากลางจังหวัดปทุมธานี ดร.พินิจ บุญเลิศ ผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี เป็นประธานพิธีอัญเชิญพระพุทธนวราชบพิตร ไปประดิษฐาน ณ พลับพลาพิธีฯ ในการเสด็จพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว และ สมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี เสด็จฯ ทรงเปิดพิพิธภัณฑ์พระรามเก้า ณ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ เทคโนธานี อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี วันอังคารที่ 15 ตุลาคม 2562 เวลา 17.00 น โดยมี นางดลวสา บุญเลิศ นายกเหล่ากาชาดจังหวัดปทุมธานี นายผล ดำธรรม รองผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี นายชาธิป รุจนเสรี รองผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี นายจรูญศักดิ์ สิงหเดช รองผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี หัวหน้าส่วนราชการ นายอำเภอทั้ง 7 อำเภอ เข้าร่วมพิธี พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงเป็นพระอัครศาสนูปถัมภกในพระบวรพุทธศาสนา และทรงดำเนินรอยตามสมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราชเจ้าในการทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาไว้โดยครบถ้วน ในปี พ.ศ.2508 พระองค์ทรงมีพระราชดำริจัดสร้างพระพุทธรูป เพื่อพระราชทานเป็นพระประจำจังหวัดทั่วราชอาณาจักร โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ ศาสตราจารย์ นายไพฑูรย์ เมืองสมบูรณ์ นายช่างกองหัตถศิลป์ กรมศิลปากร ปั้นหุ่นพระพุทธรูป ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน และทรงตรวจพระพุทธลักษณะด้วยพระองค์เองจนพอพระราชหฤทัยแล้ว จึงได้โปรดเกล้าฯ ให้เททองหล่อพระพุทธรูป เมื่อวันที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2509 พระราชทานพระนามว่า “พระพุทธนวราชบพิตร” พระพุทธนวราชบพิตร เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ขนาดหน้าตักกว้าง 23 ซม. สูง 40 ซม. ที่บัวฐานด้านหน้าบรรจุพระพิมพ์ ‘พระสมเด็จจิตรลดา’ ไว้องค์หนึ่ง ฐานขององค์พระมีอักขระบาลีจารึกไว้ว่า ‘ทยฺยชาติยา สามคฺคิยํ สติสญชานเนน โภชิสิยํ รกฺขนฺติ’ แปลว่า คนชาติไทยจะรักษาความเป็นไทยอยู่ได้ ด้วยมีสติ สำนึกอยู่ในความสามัคคี จากนั้นทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทาน “พระพุทธนวราชบพิตร” ให้เป็นพระพุทธรูปประจำจังหวัด ประดิษฐาน ณ ศาลากลางจังหวัดของทุกจังหวัด และเป็นพระพุทธรูปประจำหน่วยทหาร ประดิษฐาน ณ กองบัญชาการหน่วยทหาร โดย ‘สำนักพระราชวัง’ ได้ประกาศระเบียบปฏิบัติเกี่ยวกับ “พระพุทธนวราชบพิตร” ไว้ดังนี้ 1. เมื่อจังหวัดใดได้รับพระราชทานไปแล้ว ให้ประดิษฐานพระพุทธรูปนั้นไว้ ณ ที่อันควรในศาลากลางจังหวัด 2. เมื่อทางจังหวัดมีงานพิธีใดๆ ซึ่งต้องตั้งที่บูชาพระรัตนตรัย ก็ให้อัญเชิญพระพุทธนวราชบพิตรมาประดิษฐานเป็นพระบูชาในพิธีนั้นๆ ทั้งนี้ยกเว้นพิธีที่กระทำในโบสถ์ วิหาร หรือปูชนียสถานใดๆ ซึ่งมีพระประธานหรือมีปูชนียวัตถุอื่นใดเป็นประธานอยู่แล้ว และยกเว้นพิธีซึ่งต้องใช้พระพุทธรูปอื่นเป็นประธานโดยเฉพาะ เช่น พระพุทธคันธารราษฎร์ 3. เมื่อเสด็จพระราชดำเนินไปยังจังหวัด เพื่อทรงเป็นประธานพระราชพิธีหรือพิธีทางจังหวัดก็ดี ก็ให้ทางจังหวัดอัญเชิญพระพุทธนวราชบพิตรมาประดิษฐานเป็นพระประธานในพระราชพิธีและพิธีนั้นๆ ทุกครั้ง หากพระราชพิธีหรือพิธีนั้นๆ กระทำในพระอารามหรือในปูชนียสถาน ซึ่งมีพระประธานหรือปูชนียวัตถุอื่นใดเป็นประธานอยู่แล้ว ก็ให้อัญเชิญพระพุทธนวราชบพิตรไปประดิษฐาน ณ ที่บูชาเป็นต่างหากอีกที่หนึ่ง เพื่อทรงนมัสการ 4. เมื่อเสด็จพระราชดำเนินไปทรงประกอบพระราชกรณียกิจ ณ จังหวัด ให้ทางจังหวัดอัญเชิญพระพุทธนวราชบพิตรไปประดิษฐานไว้ ณ ที่บูชา เพื่อทรงนมัสการในพลับพลาหรือที่ประทับซึ่งได้จัดไว้ ในกรณีนี้ หากท้องที่ที่เสด็จพระราชดำเนินนั้นห่างไกลจากศาลากลางจังหวัด และเป็นที่ทุรกันดารไม่สะดวกแก่การคมนาคม หรือการเสด็จพระราชดำเนินนั้นเป็นการรีบด่วน หรือเพียงเป็นการเสด็จพระราชดำเนินผ่าน ทางจังหวัดจะพิจารณาให้งดเสียก็ได้ ตามแต่จะเห็นควร 5. เมื่อเสด็จพระราชดำเนินไปประทับแรม ณ จังหวัด ให้ทางจังหวัดอัญเชิญพระพุทธนวราชบพิตรมาประดิษฐานไว้ ณ ที่บูชา ในพลับพลา หรือในที่ประทับ ตลอดเวลาที่ประทับแรมอยู่ และให้อัญเชิญกลับไปยังศาลากลางจังหวัดเมื่อเสด็จพระราชดำเนินกลับแล้ว ในการนี้ ให้กองมหาดเล็กปฏิบัติเช่นเดียวกับระเบียบแบบแผนที่มีอยู่แล้วเกี่ยวกับพระชัยนวโลหะประจำรัชกาล 6. หากทางจังหวัดเห็นสมควรจะอัญเชิญพระพุทธนวราชบพิตรออกให้ประชาชนได้นมัสการบูชาในงานเทศกาลใดๆ ก็ให้กระทำได้ตามแต่จะเห็นควร อนึ่ง การปิดทองที่องค์พระพุทธรูปนั้น อาจทำให้พระพุทธรูปเสียความงามไปบ้าง ถ้าหากทางจังหวัดจะประดิษฐานพระพุทธนวราชบพิตรบนฐานซึ่งทำด้วยวัตถุอันอาจปิดทองได้อีกชั้นหนึ่งให้ประชาชนได้ปิดทองได้ ก็จะเป็นการเหมาะสมยิ่งขึ้น