ชาวไทยเบิ้ง จ.ลพบุรี ร่วมสืบสานประเพณีตักบาตร “ลูกอม” หนึ่งเดียวในโลก เทศกาลออกพรรษา ประเพณีที่สืบทอดกันมานานกว่า 100 ปี เมื่อวันที่ 14 ต.ค.62 ที่ วัดโคกสำราญ หรือ วัดใหญ่ แห่งหมู่บ้านโคกสลุง อ.พัฒนานิคม จ.ลพบุรี ชาวไทยเบิ้งลุ่มน้ำป่าสัก ทั้งผู้เฒ่าผู้แก่ คนหนุ่มสาว และเด็กๆ พากันมารวมตัวกันที่วัด เพื่อร่วมประเพณีตักบาตรลูกอม ซึ่งถือเป็นประเพณีที่สืบทอดกันมานานกว่า 100 ปี ของชาวไทยเบิ้งโคกสลุง เนื่องในเทศกาลออกพรรษา เหมือนกับทุกวัด ที่เรียกว่าตักบาตรเทโว แต่ที่ไม่เหมือนใคร ของวัดแห่งนี้คือตรงที่พุทธศาสนิกชนที่วัดแห่งนี้ นิยมนำ “ลูกอม” มาตักบาตร ให้แก่พระสงฆ์ ที่เดินออกรับบิณฑบาตร แทนอาหารแห้ง อาหารคาว – หวาน พระครูผาสุกพัฒนสุนทร เจ้าอาวาสวัดโคกสำราญ เจ้าคณะตำบลโคกสลุง กล่าวว่า ประเพณีนี้ เริ่มมาจากในสมัยพุทธกาล มีชาวบ้านกลุ่มหนึ่งนำน้ำผึ้ง หรือน้ำอ้อย ซึ่งมีรสหวาน กวนจนเป็นก้อน ปั้นเป็นลูกกลอน หรือลูกอม นำไปถวายแก่พระพุทธองค์ และพระสงฆ์ เพื่อให้ท่านได้นำติดตัวไปใช้ฉันท์แก่กระหายน้ำ ในเวลาออกเดินธุดงค์ เพื่อศึกษาธรรมะตามสถานที่ต่างๆ หลังวันออกพรรษา หรือบางครั้งระหว่างออกธุดงค์พระเกิดอาพาธ เมื่อกินยาลูกกรแล้วมีอาการขมก็จะใช้ลูกอม อมก็จะแก้ขมได้ แต่เนื่องจากปัจจุบัน ยุคสมัยและกาลเวลาเปลี่ยนไป น้ำผึ้งเริ่มหายาก จึงได้มีการปรับเปลี่ยนมาใช้ลูกอม นมสด ที่ชาวบ้านกวนกันเอง รวมถึง ลูกอมสำเร็จรูปที่หาซื้อได้จากท้องตลาด ซึ่งหาซื้อได้ง่ายและสะดวกกว่ามาใส่ในบาตร แทน พร้อมด้วยขนมขบเคี้ยวมาใส่ลงในบาตรด้วย เพื่อให้พระภิกษุนำติดตัวไปฉันท์เวลาออกเดินธุดงค์ ซึ่งชาวไทยเบิ้ง แห่งหมู่บ้านโคกสลุง อ.พัฒนานิคม จ.ลพบุรี ยังคงถือปฏิบัติสืบทอดกันมา เป็นประเพณีช้านาน กว่า 100 ปี แล้ว และถือเป็นประเพณี หนึ่งเดี่ยวในโลก ที่จะหาชมได้เฉพาะเทศกาลวันออกพรรษาเท่านั้น