นับเป็นความภาคภูมิใจสูงสุดสำหรับ ชาว จ.นครพนม ในช่วงงานประเพณีออกพรรษาของทุกปี ตัวแทนชาวบ้าน จากทั้ง 12 อำเภอ จะได้ ร่วมแรงร่วมใจ กัน แสดงออกถึงพลังศรัทธา ความรัก ความสามัคคี ของ ชาว จ.นครพนม ถ่ายทอดออกมา ในรูปแบบของการสืบสานประเพณีไหลเรือไฟ ซึ่งถือเป็นประเพณีสำคัญที่สืบทอดกันมาแต่โบราณ โดยทุกปี ช่วง ออกพรรษาไหลเรือไฟ ตัวแทนชาวบ้าน ทั้ง 12 อำเภอ จะร่วมแรง ร่วมใจกัน ส่งตัวแทนชาวบ้าน ศิลปินเรือไฟ จากชุมชนหมู่บ้านต่างๆ ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกัน มาร่วมแรงร่วมใจ ในการก่อสร้างเรือไฟ ตั้งแต่ ขั้นตอนการต่อเติมโครงสร้างตามแบบภูมิปัญญาชาวบ้าน ไปจนถึงการออกแบบลวดลายเหล็กดัด วางจุดแขวนตะเกียงไฟบนเรือ เพื่อให้ดวงไฟส่องสว่าง ออกมาเป็นลวดลายต่างๆ ที่สวยงามอลังการ หัวใจสำคัญการก่อสร้างเรือไฟ จะต้องเกิดจาก ความรัก ความศรัทธา ความสามัคคี ทุกคนที่มารก่อสร้างเรือไฟ จะไม่มีค่าจ้างรางวัล และทุกอำเภอไม่เคยคาดหวังเรื่องเงินรางวัล เนื่องจากแต่ละลำ ต้องใช้งบประมาณก่อสร้าง ตั้งแต่ 500,000 บาท ถึง 1 ล้านบาท แต่รางวัลชนะเลิศมีเงินรางวัล เป็นขวัญกำลังใจเพียง 50,000 บาท แต่ชาวบ้านคาดหวังที่สุดคือความภาคภูมิใจที่ได้สืบสานประเพณี สำหรับเรือไฟปีนี้ ชาว จ.นครพนม ทั้ง 12 อำเภอ รวมกับ อบจ.นครพนม ได้ ส่งเรือไฟเข้าประกวด รวม 13 ลำ ที่จะเข้าประกวด ประชันความสวยงาม ความยิ่งใหญ่อลังการ และถวายเป็นพุทธบูชา พระสัมมาสัมมาพุทธเจ้า รวมถึง องค์พญานาค และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ที่ดูแลรักษาแม่น้ำโขง ตามระเพณีความเชื่อ ไหลบูชาตลอดแนวริมฝั่งแม่น้ำโขงในเขตเทศบาลเมืองนครพนม โดยในภาคเช้า ของวันออกพรรษา นอกจากประชาชน นักท่องเที่ยว จะได้ ร่วมทำบุญ ตามวัดสำคัญต่างๆ ยังได้มีโอกาสร่วมชื่นชม ร่วมพิธีศักดิ์สิทธิ์ รำบูชาองค์พระธาตุพนม ที่วัดพระธาตุพนมวรมหาวิหาร อ.ธาตุพนม จ.นครพนม จากสาวงาม 7 ชนเผ่น กว่า 500 คน ที่จะร่วมสืบสานพิธีศักดิ์สิทธิ์ ที่สืบทอดกันมาแต่โบราณ จัดขึ้นในวันออกพรรษาทุกปี ถวายเป็นพุทธบูชาพระสัมมาสัมพุททธเจ้า เนื่องจากภายในองค์พระธาตุพนมบรรจุพระอุรังคธาตุ หรือกระดูกส่วนหน้าอก พระพุทธเจ้า ถือเป็นบุญกุศลยิ่งใหญ่ ก่อนที่จะมีการไหลเรือไฟ ช่วงเย็นของวันออกพรรษา ย้อนตำนานไหลเรือไฟ เดิมชาวบ้านเรียกว่า เฮือไฟ เป็นประเพณีที่สืบสานยึดถือปฏิบัติต่อเนื่องกันมาช้านาน ในช่วงวันออกพรรษา ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 และวันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 ของทุกปี เป็นพิธีกรรมหนึ่งของบุญไต้ประทีป ที่เป็นงานบุญสำคัญของชาวอีสาน ปรากฏในฮีตสิบสอง วัดหรือชุมชนใดที่อยู่ใกล้แหล่งน้ำชาวบ้านก็จัดทำเรือไฟโบราณขนาดเล็กออกไปลอยน้ำ ตามความเชื่อว่า เป็นการจุดประทีปเพื่อบูชารอยพระพุทธบาท ของพระพุทธเจ้า ที่ประทับไว้ในครั้งที่พญานาคทูลอาราธนาพระพุทธเจ้าไปแสดงธรรมในภพของนาค ก่อนเสด็จกลับ พญานาคได้ทูลขอให้พระองค์ประทับรอยพระบาทไว้ ณ ริมฝั่งแม่น้ำนันมหานที อันเป็นที่อยู่ของพญานาค จึงเป็นประเพณีสืบทอดกัน มาจนถึงทุกวันนี้ ทำให้ทุกปีชาวนครพนมจะต้องร่วมแรงร่วมใจกันจัดทำเรือไฟไหลโชว์ออกพรรษาทุกปี ซึ่งในอดีตแต่โบราณเรือไฟจะทำด้วยท่อนกล้วย หรือไม้ไผ่ต่อเป็นลำเรือยาวประมาณ 5 - 6 วา ข้างในบรรจุไว้ด้วยขนม ข้าวต้มมัด หรือสิ่งของที่ต้องการจะบริจาคทาน ข้างนอกเรือมีดอกไม้ ธูป เทียน ตะเกียง ขี้ไต้ สำหรับจุดให้สว่างไสวก่อนจะปล่อย เรือไฟ ไหลไปตามลำน้ำ แต่ปัจจุบันมีการประยุกต์ จัดทำเรือไฟเป็นรูปแบบต่างๆ ที่ขนาดใหญ่โตขึ้น เพื่อความสวยงามวิจิตรตระการตา ด้าน นายสยาม ศิริมงคล ผวจ.นครพนม เปิดเผยว่า ในช่วงนี้ จังหวัดนครพนม ร่วมกับทุกภาคส่วน ได้เตรียมความพร้อมในการจัดงาน ประเพณีออกพรรษา และงานกาชาดประจำปี กำหนดจัดขึ้น ระหว่างวันที่ 6 – 14 ตุลาคม 2562 รวม 9 วัน 9 คืน โดยตลอดริมฝั่งแม่น้ำโขง ในช่วง นี้จะคึกคักไปด้วยชาวบ้าน ทั้ง 12 อำเภอ ออกมาร่วมแรงร่วมใจกัน จัดสร้างเรือไฟ ที่สวยงามอลังการ ไหลโชว์ ในคืนออกพรรษา คือ วันที่ 13 ตุลาคม 2562 ทั้งนี้ไม่เพียง วันไฮไลน์ของงาน ทางจังหวัดได้ ส่งเสริมการท่องเที่ยว เชิญชวน ประชาชน นักท่องเที่ยว มาเที่ยว ชม บรรยากาศการจัดสร้างเรือไฟ ที่เป็นเบื้องหลัง ภูมิปัญญาชาวบ้าน ที่สืบสานกันมาแต่อดีต ถึงปัจจุบัน เป็นการแสดงออก ถึงความ ลำบาก ความเหน็ดเหนื่อย ของชาวบ้านศิลปินเรือไฟ ที่ทุ่มเท แรงกาย แรงใจ กว่าจะได้ มาถึงความสวยงาม ซึ่งประชาชน นักท่องเที่ยว สามารถ มาเที่ยวชมได้ ในช่วงนี้ ทั้งนี้ ในการรองรับนักท่องเที่ยว ทางจังหวัด ได้ ประสานทุกหน่วยงาน ดูแล ทั้ง เรื่อง การจัดเตรียมที่พัก การดูแลความสะดวก ความปลอดภัย ในการเดินทาง ไปจนถึง ร้านค้า ร้านอาหาร ปีนี้ มีความพร้อม ขอให้ประชาชนนักท่องเที่ยว มั่นใจในการดูแล ต้อนรับ ซึ่งตลอดริมน้ำโขง เรามีสถานที่รอชมเรือไฟ รองรับได้ นับแสนคน นายสยาม กล่าวอีกว่า ที่สำคัญปีนี้ สิ่งที่ ชาว จ.นครพนม ได้น้อมใจกันสร้างเรือไฟ จะเน้น ลวดลายเกี่ยวกับ พระราชกรณียกิจ ของ ในหลวง รัชกาลที่ 9 และในหลวงรัชกาลที่ 10 แสดงออกถึงความจงรักภักดี ที่พระองค์ มีต่อพสกนิกรชาวไทย และชาว จ.นครพนม ทั้งนี้ ย้อนไป เมื่อ 64 ปี ที่ผ่านมา เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2498 ในหลวงรัชกาลที่ 9 พร้อมด้วย สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เคยเสด็จประทับแรมที่จวนผู้ว่าราชการหลังเก่า และทอดพระเนตร งานประเพณีไหลเรือไฟ ครั้งแรก ในปีนี้ จึงได้ร่วมกัน จัดสร้างเรือไฟ ถวายความจงรักภักดี น้องรำลึกพระมหากรุณาธิคุณ รวมถึงน้อมรำลึกครบรอบวันคล้ายวันสวรรคต 13 ตุลาคม 2559 โดยชาวบ้าน 12 อำเภอ ได้ ร่วมกัน จัดสร้างเรือไฟขึ้น รวมถึง 13 ลำ มีขนาดความยาวตั้งแต่ 50 -100 เมตร ความสูงประมาณ 30 -40 เมตร ประดับตกแต่งด้วย ตะเกียงไฟมากกว่า 20,000 – 30,000 ดวง ทุ่มทุนสร้างนับล้านบาท จึงขอเชิญชวนประชาชน นักท่องเที่ยว มาร่วมชื่นชมความสวยงาม งานประเพณีไหลเรือไฟนครพนม นายวีระพงษ์ วงค์ศรียา อายุ 55 ปี กำนันตำบลหนองบ่อ อ.นาแก จ.นครพนมนาย กล่าวถึงความภาคภูมิใจว่า ทุกปีก่อนถึงงานประเพณีออกพรรษาประมาณ 1 -2 เดือน เป็นช่วงเวลาที่ชาวบ้านทุกอำเภอ รวมถึงชุมชนหมู่บ้านของตนเฝ้ารอ ที่จะได้ร่วมแรงร่วมใจกัน อาสาไปเป็นแรงงานในการก่อสร้าง ประดิษฐ์เรือไฟ เพื่อร่วมสืบสานประเพณีไหลเรือไฟ ในคืนวันออกพรรษาทุกปี แสดงออกถึงความรักสมัครสมานสามัคคีของชาวบ้านในพื้นที่ จ.นครพนม และยังเป็นความภาคภูมิใจของชาวบ้านที่ได้ร่วมเป็นอาสาแรงงาน ตามกำลังศรัทธา เนื่องจากเรือไฟทุกลำในการก่อสร้างมีมูลค่าสูงลำละ 3 -5 แสนบาท บางลำต้องใช้เงินนับล้านบาท เพื่อให้เกิดความยิ่งใหญ่สวยงาม แต่งบประมาณภาครัฐคงไม่เพียงพอ ส่วนใหญ่จะได้มาจากการบริจาค วัสดุก่อสร้าง ตั้งแต่ไม้ไผ่ วัสดุอุปกรณ์การก่อสร้าง เหล็กดัด กระป่องจากวัสดุเหลือใช้ มาทำตะเกียงจากภูมิปัญญาชาวบ้าน ซึ่งทุกขั้นตอนล้วนมาจากการก่อสร้างที่มีการพัฒนามาจากภูมิปัญญาชาวบ้านทั้งสิ้น ทั้งการขึ้นโครงสร้างแพไม้ไผ่ เพื่อทำเป็นโครงเรือ ก่อนออกแบบจากศิลปินเรือไฟที่มีความชำนาญ ออกมาเป็นลวดลาย ด้วยการนำเหล็กเส้นไปดัดเชื่อมเป็นโครงสร้างลวดลายตามที่ออกแบบ เพื่อเป็นที่ติดตั้งตะเกียงไฟ ให้แสงส่องสว่างออกมาเป็นรูปร่างสัญลักษณ์ต่างๆ ที่สวยงามลงตัว โดยทุกขั้นตอนจะมาจากภูมิปัญญาชาวบ้าน ทั้งสิ้น สำคัญที่สุด คือ ตะเกียงไฟที่ประดิษฐ์จากกระป่องเครื่องดื่มเหลือใช้ มาดัดแปลง ทำตะเกียงแบบภูมิปัญญาชาวบ้าน ทำด้วยไส้จากผ้าฝ้าย 100 เปอร์เซ็นต์ กรอกด้วยน้ำมันดีเซล ที่มาจากความชำนาญ เพื่อให้แสงไฟมีความสว่างไสว หลายชั่วโมงกว่าจะไหลโชว์ไปตลอดแนวริมฝั่งแม่น้ำโขงให้ประชาชน นักท่องเที่ยวได้ชื่นชม ถือเป็นความภาคภูมิใจที่สุดของชาวบ้านที่ได้ร่วมสืบสานประเพณียิ่งใหญ่สวยงาม รองรับประชาชน นักท่องเที่ยว แบบไม่หวังค่าจ้างรางวัล