เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 11 ตุลาคม ที่ห้องประชุมนางสาวบุญเหลือ ชั้น 2 ศาลากลางจังหวัดนครราชสีมา นายจรัสชัย โชคเรืองสกุล พร้อมคณะอำนวยการอำนวยการอุทยานธรณีโคราช ประกอบด้วยผู้แทนฝ่ายปกครอง,สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม,องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.),สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา, มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา, สำนักงานทางหลวงที่ 10 นครราชสีมา,สำนักงานทางหลวงชนบท,สำนักงานชลประทานที่ 8 นครราชสีมา,สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดและองค์กรเอกชนที่เกี่ยวข้องร่วมประชุมครั้งที่ 1/2562 เพื่อกำหนดนโยบายการขับเคลื่อนโคราชจีโอพาร์คหรืออุทยานธรณีโคราช ก่อนเข้ารับการตรวจประเมินอุทยานธรณีประเทศไทยและให้สอดคล้องกับองค์กรยูเนสโกโดยกำกับการบริหารงาน อนุมัติแผนบริหารจัดการ ส่งเสริมสนับสนุนการพัฒนาอุทยานธรณีโคราชในระดับชาติและนานาชาติ ในระเบียบวาระที่ 3 ผศ.ดร.ณัฏฐินี ทองดี รองผู้อำนวยการอุทยานธรณีโคราช ได้ชี้แจงความคืบหน้าและขั้นตอนการดำเนินงานโคราชจีโอพาร์พาร์คสู่จีโอพาร์คยูเนสโก UNESCO Global Geopark หรือการประเมินเพื่อการรับรองเป็นอุทยานธรณีโลกจากยูเนสโก ให้บรรลุวิสัยทัศน์และยุทธศาสตร์ตามแผนพัฒนาจังหวัดนครราชสีมา โดยมอบหมายให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องในพื้นที่อำเภอเมือง,เฉลิมพระเกียรติ,ขามทะเลสอ,สูงเนินและสีคิ้ว ซึ่งมีแหล่งท่องเที่ยวและแหล่งเรียนรู้รวมทั้งสิ้น 35 แหล่ง มีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนกิจกรรมตามแนวทางของยูเนสโก โดยกำหนดภาพลักษณ์ต้องจับต้องได้และเป็นรูปธรรมแต่ละแหล่ง ขึ้นป้ายสื่อเส้นทางและความหมาย สถานศึกษาบรรจุหลักสูตรจีโอพาร์คให้นักเรียนได้เรียนรู้ การประชาสัมพันธ์ให้ อปท.และภาคประชาชนเข้าใจ บทบาทความสำคัญและสามารถสร้างรายได้จากการขายสินค้าที่ระลึกเป็นมัคคุเทศก์เปิดที่พักแบบโฮมสเตย์ ฯลฯ เมื่อคณะกรรมการยูเนสโกซึ่งมีทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติลงพื้นที่ตรวจประเมินตามกระบวนการได้สอบถามประชาชนในท้องถิ่นต้องเข้าใจในบทบาทความสำคัญของจีโอพาร์คด้วย ทั้งนี้เป้าหมายสำคัญต้องส่งเสริมสนับสนุนการท่องเที่ยวให้เป็นเส้นทางเชิงภูมิศาสตร์ พัฒนาผลิตภัณฑ์หรือบริการเน้นเอกลักษณ์หรืออัตลักษณ์ของแหล่ง ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์และศึกษาเรียนรู้ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน โดยให้ชุมชนท้องถิ่นมีบทบาทในการบริหารจัดการกิจกรรมตามแนวทางของยูเนสโก ด้านนายจรัสชัย รอง ผวจ.นครราชสีมา เปิดเผยว่า โคราชจีโอพาร์ค คือโครงการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนท้องถิ่นด้วยกิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงภูมิศาสตร์ในแหล่งธรณีวิทยา ธรรมชาติและวัฒนธรรมที่โดดเด่นแต่ต่างจากแหล่งที่มีอยู่ในท้องถิ่นอื่นของจังหวัด โดยเน้นแหล่งภูมิประเทศที่สวยงาม แหล่งหิน-แร่-ฟอสซิลที่แปลกและหายาก รวมทั้งแหล่งป่าไม้ สัตว์ป่าและวิถึชีวิตผู้คนที่สัมพันธ์กับแหล่งธรณีวิทยาที่ทำให้คนในชุมชนท้องถิ่นรู้สึกภาคภูมิใจในอัตลักษณ์ของท้องถิ่นที่ไม่เหมือนใครในโลก ขณะนี้แหล่งท่องเที่ยวและแหล่งเรียนรู้ทางธรรมชาติในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา องค์กรยูเนสโกได้รับการรับรองเป็นมรดกโลกแล้ว คือ 1.ผืนป่าดงพญาเย็นและเขาใหญ่ และ 2.พื้นที่สงวนชีวมณฑลป่าสะแกราช ซึ่งเป็นมรดกมนุษย์และชีวมณฑล เหลือเพียงจีโอพาร์คโลกเพียงแห่งเดียว อย่างไรก็ตามการประเมินโคราชจีโอพาร์ค จะมีวาระการประเมินเพื่อรับรองในช่วงเดือนพฤษภาคม-กรกฎาคม 2562 คาดประมาณเดือนเมษายน 2564 จะมีการประกาศผลการดำเนินงาน หากชาวโคราชร่วมใจ ร่วมคิด ร่วมมือให้การสนับสนุนจะได้รับข่าวดีอย่างแน่นอนโดยประเทศไทยและจังหวัดนครราชสีมา ได้รับขึ้นชื่อว่า UNESCO Triple Crown หรือดินแดน 3 มงกุฎของยูเนสโก ประเทศที่ 4 ของโลก ต่อจากอิตาลี เกาหลีใต้และจีน เราสามารถใช้แบรนด์ยูเนสโกในการประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวที่มีมาตรฐานระดับสากล รวมทั้งยูเนสโกจะช่วยประชาสัมพันธ์ให้อีก ส่งผลดีต่อการท่องเที่ยวของจังหวัดนครราชสีมาและประเทศไทย ทำให้ประชาชนมีงานทำ รายได้และความสุขอย่างยั่งยืน