คณะอนุกรรมการเฉพาะกิจพิจารณาการควบคุมวัตถุอันตรายฯ ได้รายงานผลการพิจารณาการควบคุมวัตถุอันตราย พาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต ซึ่งได้รับข้อมูลจากฝ่ายสาธารณสุขและเอ็นจีโอแล้ว พิจารณาว่า ไม่มีข้อมูลที่สามารถเชื่อมโยงได้อย่างชัดเจนกับข้อกล่าวอ้างว่าพาราควอตเป็นสารก่อมะเร็ง โรคผิวหนังอักเสบเนื้อเน่า การถ่ายทอดจากแม่สู่ลูกนั้น ล้วนแต่ขาดความชัดเจนของข้อมูล ส่วนการเสียชีวิตนั้น สาเหตุหลักเกิดจากการนำไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ฆ่าตัวตาย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.นายแพทย์สมชัย บวรกิตติ ราชบัณฑิตสำนักวิทยาศาสตร์ ราชบัณฑิตยสภา อดีตแพทย์โรคระบบการหายใจ คณะแพทย์ศาสตร์ศิริราชพยาบาล อธิบายว่า แพทย์ทั่วไปจะทราบว่า โรคเนื้อเน่าเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย การเดินลุยน้ำที่อาจมีสารพาราควอต จะได้สัมผัสกับพาราควอตที่เจือจางมาก เพราะสารที่ใช้พ่นต้องเจือจางก่อน และจะถูกเจือจางอีกโดยน้ำที่ขังอยู่ และจะถูกทำให้หมดฤทธิ์เมื่อสัมผัสกับน้ำโคลนดิน ส่วนการรายงานผลการตรวจพบพาราควอตในเลือดของหญิงใกล้คลอดและเลือดสายสะดือทารกน่าสงสัยว่าได้มาอย่างไร เพราะในรายงานดังกล่าวไม่ได้มีศึกษาด้านสนเทศพันธุกรรมจากเลือดด้วยวิธี Next Generation Sequencing รวมทั้งขาดการศึกษาในระดับดีเอ็นเอ ซึ่งจะทำให้ทราบตัวกำหนดชีวภาพระบุการสัมผัสสารพิษของหญิงมีครรภ์และทารกก่อนเกิด จะเป็นประโยชน์ต่อการวินิจฉัยโรคต่างๆ และในรายงานไม่ได้ระบุว่าแม่และลูกมีความผิดปรกติจากพิษพาราควอต อนึ่งเท่าที่ทราบจวบปัจจุบัน ยังไม่เคยมีรายงานการเกิดพิษพาราควอตในผู้ใช้สารพาราควอตฆ่าหญ้าเลย นอกจากไปดื่มกิน จึงขออธิบายเพื่อสร้างความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับพาราควอตให้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น ขณะเดียวกัน ศาสตราจารย์ ดร. รังสิต สุวรรณมรรคา ผู้เชี่ยวชาญด้านวัชพืช ที่ปรึกษาสถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ชี้แจงประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมเกี่ยวกับพาราควอตเพิ่มเติมว่า มีข้อกล่าวอ้างที่ขาดข้อเท็จจริงทางวิทยาศาสตร์มากมาย อาทิ พาราควอตทำให้ดินแข็ง ซึ่งไม่มีรายงานทางวิทยาศาสตร์ที่ระบุว่าเป็นเช่นนั้น เนื่องจากคุณสมบัติของพาราควอตทำลายเฉพาะส่วนที่เป็นสีเขียวของวัชพืชเหนือดิน ไม่ทำลายระบบรากใต้ดิน ทั้งนี้ในทางกลับกัน การใช้พาราควอตมีส่วนช่วยในการรักษาหน้าดินและลดการสูญเสียน้ำในดิน เพราะซากวัชพืชจะช่วยคลุมดินไว้ในประเทศไทยมีการศึกษาค่าครึ่งชีวิตของพาราควอตโดยสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชียพบว่า อยู่ที่ 36-40 วัน ในต่างประเทศอยู่ที่ 1,000 วัน แต่จะอยู่ในสภาพที่เสื่อมฤทธิ์ไปแล้ว และยังมีการสลายตัวได้โดยแสงแดดและจุลินทรีย์ในดินอีก หากมีการสะสมในดินเป็นพิษจริง พืชคงไม่เติบโตขึ้นในพื้นที่เดิมที่เคยใช้สารพาราควอต “มีความเข้าใจผิดว่า พาราควอต ที่เกษตรกรฉีดปนเปื้อนลงแหล่งน้ำ ทำให้น้ำนั้นเป็นอันตราย ความจริงแล้ว ละอองพาราควอตจะวิ่งไปจับตะกอนดิน ไม่ปนอยู่ในน้ำ ส่วนที่ตรวจพบการปนเปื้อนในผักหากเกษตรกรฉีดพาราควอตลงบนผัก หรือฉีดข้างแปลงและละอองลงมาโดน ใบผักจะเหลืองไหม้ ไม่สามารถเก็บเอามาขายได้ ผู้เสนอข้อมูลที่ว่าตรวจพบพาราควอตในน้ำ ในผักก็ต้องมาแจงรายละเอียดการตรวจวิเคราะห์ดังกล่าวด้วย“ โดยส่วนตัวสนับสนุนให้ใช้พาราควอตในแปลงเกษตร เพราะยังเห็นประโยชน์ต่อการใช้ เนื่องจากพาราควอตแม้จะเป็นสารเคมี แต่ตกค้างในสิ่งแวดล้อมน้อยมากต่างจากสารเคมีชนิดอื่นๆ คนที่รู้ความแล้วคงพอรู้ว่า สารทุกชนิดที่คนนำมาใช้ในชีวิตประจำวัน ใช้ทางเกษตรกรรมหรือทางแพทย์เป็นสารพิษทั้งนั้น มากน้อยแล้วแต่ชนิดสาร แต่ถ้าจำเป็นต้องใช้สารพิษจริงๆก็หาวิธีการควบคุมการใช้ให้ถูกต้อง ยาที่หมอรักษาคนไข้หากใช้ไม่ถูกก็มีพิษ หากใช้อย่างถูกต้องก็เกิดประโยชน์และไม่เกิดโทษ