ปากกาขนนก / สกุล บุณยทัต “สัญญาณของอนาคตกาล เป็นสิ่งที่ยากจะสื่อความหายได้อย่างถูกต้องและแม่นตรง แต่มันก็สามารถสื่อแสดงถึงการกำหนดหมายที่จะแปลความเป็นสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้อย่างน่าใคร่ครวญ ท่ามกลางขณะของความสลับซับซ้อน และรูปรอยที่บีบแคบแบบตรงไปตรงมา...สาระแห่งความเป็นอนาคตอันแท้จริงนั้นจึงขึ้นอยู่กับกระบวนการสร้างความหมายร่วมกัน...ไม่ว่าจะเป็นจากอัตวิสัยในระดับบุคคล ดังเช่นประสบการณ์ส่วนตัวหรืออารมณ์ความรู้สึกของคนแต่ละคน หรือจะเป็นอัตวิสัยในระดับสังคมที่เรียกกันว่าค่านิยมของแต่ละสังคม..การรับรู้และตีความในเชิงนี้จึงเท่ากับเป็นการสร้างความหมายใหม่ขึ้นมาทั้งด้านการรับรู้ การเชื่อมโยงสัญญะสู่การดำเนินชีวิต รวมทั้งการให้ความหมายต่อวันเวลา ที่สามามารถจะบอกกล่าวถึง ทิศทางแห่งการก้าวไปเบื้องหน้าของเหล่ามนุษยชาติ ณ วันนี้ได้อย่างแจ้งชัด...ผ่านความเป็น ความตาย ในมิติที่เราทุกๆคนอาจไม่เคยคาดคิดมาก่อน...” บทเริ่มต้นในประเด็นข้างต้นนี้...คือรากเหง้าแห่งภาวะสำนึกที่ได้รับมาจากการอ่านหนังสือที่ทายท้าต่อการเผชิญหน้ากับปรากฏการณ์ใหม่ของนัยแห่งความเป็นโลกที่พาดผ่านเข้ามาสู่ชีวิต...หนังสือที่โน้มนำผู้อ่านให้เข้าไปสำรวจโครงการต่างๆที่เป็นทั้งฝันดีและฝันร้ายที่จักมีผลกระทบต่อยุคสมัยแห่งศตวรรษที่21...และห้วงเวลาต่อจากนั้นผ่านประเด็นของการเอาชนะความตาย ไปจนกระทั่งการสร้างชีวิตเทียมขึ้นมา... “โฮโมดีอุส” ประวัติย่อของวันพรุ่งนี้(Homo Deus/A Brief History Of Tomorrow)...งานเขียนชิ้นสำคัญต่อจาก “เซเปียนส์” หนังสืออันโด่งดังที่แสดงให้เราได้เห็นว่าเราต่างมาจากที่ใด...ที่เขียนขึ้นเมื่อปีค.ศ.2014../กระทั่งปีค.ศ.2016.. “ยุวัล โนอาห์ แฮรราลี่” อาจารย์ผู้เชียวชาญด้านประวัติศาสตร์โลกแห่งมหาวิทยาลัยฮีบรู กรุงเยรูซาเล็มประเทศอิสราเอล/ผู้ได้รับปริญญาเอกทางด้านประวัติศาสตร์จากมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด..จึงได้เขียนหนังสือเล่มนี้ขึ้นมา.../...โดยภาพรวม เขาได้สร้างมิติคิดสู่ผู้อ่านด้วยปริศนาคำถามพื้นฐานต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น เราจะป้องกันโลกที่เปราะบางดวงนี้ จากอำนาจการทำลายล้างของเราเองได้อย่างไร?...รวมทั้งคำถามสำคัญที่ว่าอนาคตของพวกเราจะเป็นเช่นใดกันแน่? “ผมต้องการกระตุ้นพวกเราทุกคน ไม่ว่าจะมีความเชื่อส่วนตนเป็นเช่นไร ให้ตั้งคำถามเกี่ยวกับเรื่องเล่าพื้นฐานของโลกของเรา ให้เชื่อมโยงการพัฒนาในอดีตเข้ากับความกังวลในปัจจุบันและไม่กลัวที่จะพูดคุยในประเด็นที่เป็นที่ถกเถียงโต้แย้ง” ด้วยปณิธานเช่นนี้...ผู้อ่าน “โฮโมดีอุส” จึงมีโอกาสทีจะสัมผัสทางความคิด..ถึงนัยอันชวนขบคิดและตื่นตะลึง...ไม่ว่าจะเป็น..นัยแห่งความตายซึ่งจะกลายเป็นแค่เพียงปัญหาเชิงเทคนิค..ความเท่าเทียมกำลังจะจากไป แต่ความเป็นอมตะกำลังจะมา/ ...นัยแห่งสงครามที่จะเป็นสิ่งอันล้าสมัย...และเราทุกคนต่างมีแนวโน้มที่จะเสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายมากกว่าจะตายจากความขัดแย้ง/...นัยแห่งความอดอยากยากแค้นกำลังจะหมดไป มนุษย์ยุคใหม่เสี่ยงที่จะเป็นโรคอ้วนมากเสียยิ่งกว่าที่จะอดตาย/หรือกระทั่งการชี้นำให้คนเราทุกคนได้ตระหนักถึงว่า ความเป็นมนุษยชาติโดยรวมนั้นกำลังมุ่งหน้าไปทางใด ในแบบชัดเจนแจ่มแจ้งและเข้าถึงได้...? “ในศตวรรษที่ 21ประชาธิปไตยอาจเสื่อมถอยลงและถึงกับหายไป ขณะที่ทั้งขนาดและความเร็วของข้อมูลกลับเพิ่มมากขึ้น สถาบันอันน่าเคารพเช่นการเลือกตั้ง พรรคการเมือง และรัฐสภาอาจกลายเป็นสิ่งพ้นสมัย ไม่ใช่เพราะพวกมันไร้คุณธรรม แต่เพราะพวกมันไม่สามารถประมวลผลข้อมูลได้อย่างมีประสิทธิภาพเพียงพอ สถาบันเหล่านี้วิวัฒน์มาในยุคที่การเมืองเคลื่อนตัวเร็วกว่าเทคโนโลยีในศตวรรษที่19 และ 20” ในยุคนั้น..การปฏิวัติอุตสาหกรรมแผ่ขยายตัวออกอย่างช้าๆ เพียงพอที่นักการเมืองและผู้ออกเสียงยังสามารถอยู่นำหน้ามันหนึ่งก้าวและสามารถจัดการหรือเปลี่ยนแปลงเส้นทางของมันได้ แต่ในขณะที่จังหวะของการเมืองมิได้เปลี่ยนไปมากนักนับแต่ยุคของไอน้ำ...การปฏิวัติเทคโนโลยีบัดนี้ได้นำหน้ากระบวนการทางการเมือง จนทำให้สมาชิกสภาและผู้ออกเสียงต่างสูญเสียการควบคุม/...การผงาดขึ้นมาของอินเทอร์เน็ตทำให้เราได้ลิ้มรสสิ่งที่กำลังมาถึง เวลานี้.../ไซเบอร์สเปซจึงเป็นสิ่งสำคัญในชีวิตประจำวันของเรา เศรษฐกิจของเรา และความมั่นคงของเราไปเสียแล้ว...แต่ทางเลือกอันสำคัญยิ่งระหว่างการออกแบบเว็บต่างๆ มิได้ทำโดยผ่านกระบวนการทางการเมืองแบบประชาธิปไตย แม้ว่ามันจะเกี่ยวข้องกับประเด็นทางการเมืองแบบดั้งเดิมอย่างเช่น อำนาจอธิปไตย เขตแดน ความเป็นส่วนตัว และความมั่นคง “คุณเคยออกเสียงโหวตรูปร่างของไซเบอร์สเปซไหม? การตัดสินใจของเว็บดีไซเนอร์ที่ห่างไกลสายตาประชาชนอันหมายความว่า...ทุกวันนี้อินเทอร์เนตเป็นเขตแดนเสรีและไร้กฎหมายซึ่งกัดเซาะอธิปไตยของรัฐ มองข้ามเขตแดน ลบล้างความเป็นส่วนตัว และอาจวางตัวเป็นภัยเสี่ยงของความมั่นคงทั่วโลกที่น่าเกรงขามที่สุด” ภาพแสดงแห่งความเป็นจริงดังกล่าวนี้ย้อนแย้งกับภาวะที่เป็นไปในทศวรรษก่อนที่มันแทบจะไม่สามารถแสดงข้อมูล เรดาห์...แต่ปัจจุบัน”เจ้าหน้าที่ขี้ตกใจ”กำลังคาดการณ์ถึงอันตรายจากไซเบอร์แบบเดียวกับ9/11... และแน่นอนว่าในทศวรรษที่กำลังจะมาถึง มันย่อมเป็นไปได้ที่เราจะได้เห็นการปฏิวัติที่เหมือนอินเตอร์เน็ตมากขึ้น เมื่อเทคโนโลยีชิงลงมือทางการเมืองก่อน ... “ปัญญาประดิษฐ์และเทคโนโลยีชีวภาพอาจยกเครื่องสังคมและเศรษฐกิจของเราในไม่ช้านี้ รวมทั้งร่างกายและจิตใจของเราด้วย มิได้เป็นเพียงจุดกระพริบ(blip)อันหมายถึงเรื่องเล็กๆที่ไม่สำคัญ บนจอเรดาห์ทางการเมือง ณ ปัจจุบัน...ทั้งนี้ก็เพราะว่า โครงสร้างของระบบประชาธิปไตยในทุกวันนี้ ไม่สามารถรวบรวมและประมวลผลข้อมูลที่เกี่ยวข้องได้เร็วพอ และผู้ออกเสียงส่วนใหญ่ไม่เข้าใจเรื่องชีววิทยาและไซเบอร์เนติกส์อันหมายถึงวิทยาการเกี่ยวกับการติดต่อควบคุมระหว่างคนหรือสัตว์กับเครื่องจักร ดีพอที่จะออกความเห็นอะไรได้”.. เหตุนี้ การเมืองแบบประชาธิปไตยดั้งเดิมจึงสูญเสียการควบคุม และไม่สามารถ..นำเสนอภาพวิสัยทัศน์แห่งอนาคตที่เปี่ยมความหมายแก่เราได้ ....ผู้ออกเสียงโดยทั่วไปกำลังเริ่มสัมผัสได้ว่ากลไกของประชาธิปไตยไม่สามารถมอบอำนาจแก่พวกตนได้อีกต่อไป โลกกำลังเปลี่ยนไป และพวกเขาล้วนต่างไม่เข้าใจว่าอย่างไรหรือทำไม อำนาจกำลังเคลื่อนห่างไปจากพวกเขา และพวกเขาก็ไม่แน่ใจว่ามันหายไปไหน?? ประเด็นสำคัญยิ่งอันหนึ่งที่ “แฮรารรี” ได้กล่าวถึงอย่างน่าสนใจในหนังสือเล่มนี้ก็คือ การเน้นย้ำว่า..ในคริสต์วรรษที่ 21 นี้..มนุษย์มีแนวโน้มที่จะช่วงชิงความเป็นอมตะอย่างจริงจังได้ การต่อสู้ดิ้นรนกับความชราและความตายอาจจะเป็นแค่เพียงการต่อสู้กับความอดอยากและโรคภัยไข้เจ็บอย่างเหมาะสมกับช่วงเวลาและแสดงให้เห็นอย่างชัดเจน ผ่านคุณค่าสูงสุดของวัฒนธรรมร่วมสมัย..นั่นคือการให้คุณค่าในชีวิตมนุษย์... “เราต่างได้รับการย้ำเตือนอยู่เสมอๆว่าชีวิตมนุษย์เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ในเอกภพ คนทุกคนต่างกล่าวในในทำนองนี้ทั้งสิ้น ไม่ว่าครูที่โรงเรียน นักการเมืองในสภา นักกฎหมายในศาล และนักแสดงบนเวทีโรงละคร...คำประกาศสิทธิมนุษยชนสากล(Universal Declaration of Human Right)ที่สหประชาชาติให้การรับรองในช่วงสงครามโลกครั้งที่2 ซึ่งอาจจะใกล้เคียงกับรัฐธรรมนูญแห่งโลก(global constitution)ได้กล่าวเอาไว้ว่า..สิทธิในชีวิตเป็นคุณค่าพื้นฐานที่สุดของมนุษยชาติ และเราควรจะเข้าร่วมในสงครามทุกรูปแบบที่ใช้ต่อต้านมัน” แน่นอนว่า...ตลอดช่วงเวลาในประวัติศาสตร์ ศาสนาและคตินิยม(ideology)ไม่ได้รับการยกย่องว่า..ตัวชีวิตเองเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ แต่ทว่ากลับยกย่องสิ่งที่เหนือกว่าหรือไปเกินกว่าสิ่งต่างๆทางโลก อันส่งผลทำให้ผู้คนต้องจำทนยอมรับเรื่องความตายได้ อันที่จริงแล้วบ้างก็ถึงกับสยบยอมต่อยมทูต อย่างสิ้นเชิง เพราะศาสนาคริสต์ อิสลาม และฮินดู ต่างก็ยืนกรานว่าความหมายของการดำรงอยู่ของพวกเราขึ้นอยู่กับชะตากรรมของพวกเราในชีวิตหลังความตาย(afterlife) โดยศาสนาเหล่านี้มองว่าความตายเป็นส่วนที่สำคัญและเป็นแง่ดีในทางโลก...มนุษย์ตายก็เพราะพระเจ้าได้มีประกาศิตเอาไว้ และในห้วงเวลามรณะก็ถือได้ว่าเป็นประสบการณ์ศักดิ์สิทธิ์ทางอภิปรัชญา(sacred metaphysical experience) “วิทยาศาสตร์สมัยใหม่และวัฒนธรรมสมัยใหม่...มองเรื่องชีวิตและความตายแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง...ผู้คนไม่เชื่อว่าความตายเป็นเรื่องลึกลับทางอภิปรัชญา และแน่นอนว่าไม่ได้มองว่าความตายเป็นดั่งแหล่งกำเนิดที่มาของความหมายแห่งชีวิต แทนที่จะเป็นเช่นนั้น ผู้คนในยุคสมัยใหม่มองความตายว่าเป็นเพียงปัญหาทางเทคนิคที่เราอาจแก้ไขได้” “โฮโมดีอุส”..(Homo Deus)..คือหนังสือที่เต็มไปด้วยสำนึกคิด และก้าวย่างใหม่ทางปัญญาญาณต่อการตีความโลกแห่งการดำรงอยู่ของยุคสมัยด้วยสายตาใหม่ ทางความคิดและสัญญาณที่พลิกกลับเชิงความหมายที่หนักแน่น...เป็นการเคลื่อนย้ายมุมมองจากวิถีแห่งความเชื่อมั่นเก่า ตลอดจนความคิดความเชื่อดั้งเดิม ให้ก้าวไปสู่เจตจำนงของการแปรค่าความหมายแห่งชีวิตให้เป็นบทเรียนสำคัญต่อการสร้างศรัทธาใหม่...แม้ว่าภาวะของการอดอยาก สงคราม และโรคระบาด...จะเป็นตราบาปที่บ่อนแซะยุคสมัยนี้อย่างโหดร้ายและรุนแรงสักเพียงใดก็ตาม..แต่ความเชื่อมั่นต่อชีวิตอมตะ..การแสวงหาความสุข...และการสร้างสถานะแห่งความเป็นพระผู้เป็นเจ้าในตัวตน...ก็เป็นเสมือนอาวุธสำคัญของผู้คนแห่งศตวรรษนี้ให้ได้เผชิญหน้ากับวิกฤตอันร้อนร้ายดังกล่าวได้ จนสามามารถก้าวไปสู่วิถีแห่งอนาคตอันแปลกต่างด้วยความมุ่งหวังอันทรงพลัง...กระทั่งกลายเป็นดั่งลมหายใจแห่งพระผู้เป็นเจ้า...ที่ทั้งศักดิ์สิทธิ์และอยู่เหนือการควบคุมใดๆ “ยูวัล โนอาห์ แฮรารี”...สร้างสรรค์หนังสือเล่มนี้ รวมทั้งหนังสือในชุดนี้ทั้ง 2 เล่มอันหมายถึง/เซเปี้ยน.และ 21บทเรียนฯ ได้อย่างหยั่งรู้...และดิ่งลึกทั้งด้วยประสบการณ์ จินตนาการ และวิชาการ...มันคือวิถีแห่งนัยของการพาดผ่านการมองเห็นปรากฏการณ์ทั้งรูปธรรมและนามธรรมของโลกในศตวรรษที่ 21..อย่างลึกซึ้งและถึงแก่นแกนแห่งความหมายของอุบัติการณ์ที่กว้างขวาง..ดุจดั่งคัมภีร์ใหม่ที่เขียนขึ้นโดยทาบเงาของพระผู้เป็นเจ้า...ก็มิปาน/....การแปลด้วยความเข้าใจในสาระอันแผ่ไพศาลขององค์ความรู้ที่สดใหม่และกระทบนัยแห่งจิตวิญญาณของ “ดร.นำชัย ชีววิวรรธน์ กับ ธิดา จงนิรามัยสถิต”/..ถือเป็นคุณค่าทางภูมิปัญญาที่น่ายกยองอย่างสูงสุด...มันบังเกิดเป็นตัวตนของสิ่งบางสิ่งที่ทรงพลังและมีอยู่จริงในชีวิตแห่งเจตจำนงของการเรียนรู้สู่อนาคตกาล....โดยแท้ “ หากเทียบกับสัตว์อื่น มนุษย์ได้กลายเป็นพระเจ้ามานานแล้ว ....เราไม่ชอบแสดงออกในเรื่องนี้อย่างลึกซึ้งเกินไปนัก...เพราะเราไม่จำเป็นต้องเป็นพระเจ้า...”