บุญส่วงเฮือ หรือบุญแข่งเรือ เป็น 1 ใน 12 ฮีตของคนอีสานและลุ่มน้ำโขงตอนล่างที่ตั้งชุมชนริมน้ำใหญ่ ทุกๆ ปี หลังหรือวันออกพรรษา ชุมชนที่อยู่ริมน้ำใหญ่ เช่น แม่น้ำโขงจะจัดให้มีบุญส่วงเฮือ โดยมีชุมชนต่างๆ ที่เป็นเครือข่ายทางสังคมส่งเฮือยาวมาร่วมประชันฝีมือเพื่อสร้างความสัมพันธ์ระหว่างชุมชน การจัดแข่งเรือในลำน้ำโขง มีทั้งแบบดั้งเดิมโดยใช้เรือหาปลานั่นแหละครับมาแข่งกัน รางวัลก็ไม่ได้มีมากมาย อาจมีเงินไม่กี่ร้อยบาทหรือกีบ และมะพร้าวอ่อน เป็นรางวัล ได้รางวัลมาก็กินด้วยกัน สนุกสนานกัน ส่วนแบบที่ยิ่งใหญ่อลังการก็แข่งเรือยาวที่พัฒนาขึ้นมาโดยใช้ความรู้ท้องถิ่น มีฝีพายถึง 30-40 คน มีเรือจากเกือบทุกชุมชนริมน้ำ อาจมาแข่งขันกันที่เมืองหรืออำเภอ หรือจัดระดับจังหวัด การแข่งขันเรือยาวในงานบุญส่วงเฮือของชุมชนที่ลำน้ำโขงหลายแห่ง ไม่ว่าแบบง่ายๆ หรือแข่งเรือยาวขนาดฝีพายมาก จะไม่มีการแบ่งเส้นพรมแดน แต่จะส่งเรือยาวข้ามประเทศไปร่วมแข่งกัน การแข่งเรือยาว แต่ละชุมชนจะผูกเรือยาว และดูแลอย่างดีในโรงเรือน เรือแต่ละลำจะมีชื่อและมีเจ้าแม่ดูแลรักษา ซึ่งจะต้องมีพิธีกรรมบวงสรวง ก่อนถึงช่วงแข่งเรือก็ต้องมีการซ่อมบำรุงรักษากันอย่างดี เมื่อใกล้จะแข่งเรือยาว ก็จะคัดฝีพายในชุมชนมาทำการซ้อมกันล่วงหน้านับเดือน การซ้อมก็ซ้อมกันในลำน้ำโขงใกล้ชุมชน ช่วงซ้อม ชาวบ้านก็มาดูมาเชียร์ให้กำลังใจฝีพายของชุมชน และก็รอช่วงเวลาที่จะสนุกสนานร่วมกันในวันบุญส่วงเฮือ การส่วงเฮือจะจัดขึ้นหลังหรือวันออกพรรษา ในยามที่น้ำโขงเต็มตลิ่ง ถือว่าเป็นประเพณีที่สำคัญที่สุดอีกประเพณีหนึ่งของคนสองฝั่งโขง ในกัมพูชา การแข่งเรือยาวถือว่าเป็นประเพณีของชาติเลยทีเดียว ปีนี้ ใกล้ถึงเทศกาลบุญส่วงเฮือของชุมชนลุ่มน้ำโขงแล้ว ปกติช่วงนี้จะต้องมีการซ้อมพายเรืออย่างเข้มข้น แต่ที่บ้านน้ำไพร อ.สังคม จ.หนองคาย เรือยาวยังอยู่บนคาน และข่าวเศร้าจากชุมชนที่นี่ก็คือ ปีนี้ชุมชนของพวกเขาจะไม่สามารถส่งเรือยาวไปแข่งขันที่อำเภอได้ตามประเพณีที่ปฏิบัติกันมาหลายชั่วอายุคน ที่บ้านน้ำไพร จากการที่น้ำในแม่น้ำโขงปีนี้ต่ำกว่าปกติในช่วงน้ำหลากมากกว่า 10 เมตร หลังจากมีการสร้างเขื่อนไซยะบุรี เขื่อนลาวสัญชาติไทย ทำให้น้ำในแม่น้ำโขงที่ติดชุมชนกลายเป็นแม่น้ำที่แห้งแล้งราวกับทะเลทราย ขณะที่ร่องน้ำที่ลึกพอจะซ้อมพายเรือได้ อยู่ไกลมากและติดกับฝั่งลาว ฝีพายจึงไม่มีลำน้ำที่จะซ้อมพายเรือ แม้ปีนี่ที่บ้านสังคม อ.สังคม จะยังมีการจัดงานบุญส่วงเฮือ แต่จะไม่ได้ยิ่งใหญ่เหมือนเดิมอีกต่อไป อย่างน้อยชุมชนที่เป็นเครือข่ายทางสังคมกันอย่างบ้านน้ำไพร ก็จะไม่ได้ร่วมบุญส่วงที่ยิ่งใหญ่นี้ เขื่อนที่ผลิตไฟฟ้าสร้างกำไรให้กับรัฐและทุน ได้ทำลายทุกสิ่งทุกอย่างจนสูญสิ้น แม้แต่วัฒนธรรมประเพณีที่ทำหน้าที่สร้างความสัมพันธ์ทางสังคมก็จะไม่เหลือซาก. ขอขอบคุณข้อมูลโดย ดร.ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ภาพข่าวโดย อ้อมบุญ ทิพย์สุนา ภัทรวินทร์ ลีปาน หนองคาย