ปรากฏการณ์ ASASSN-19bt ที่นักดาราศาสตร์ชี้จับตายากมาก จะเกิดในรอบหมื่น-แสนปี ครั้งนี้ดาวเทียมเทสส์ตรวจจับได้ ทำให้เห็นเหตุการณ์ตั้งแต่เริ่มต้น สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ Fan Page โพสต์เฟซบุ๊กระบุ “ดาวเทียมสำรวจดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะของนาซาหรือเทสส์ (Transiting Exoplanet Survey Satellite : TESS) เจอหลุมดำกำลังฉีกดาวฤกษ์ออกจากกันเป็นครั้งแรก ปรากฏการณ์นี้เรียกว่า “Tidal Disruption” “ข้อมูลจาก #ดาวเทียมเทสส์ ทำให้เราเห็นการทำลายล้างนี้ตั้งแต่เริ่มต้น ซึ่งไม่เคยทำได้มาก่อน ปรากฏการณ์นี้ชื่อว่า ASASSN-19bt เราตรวจจับปรากฏการณ์นี้ได้ค่อนข้างเร็ว จึงสังเกตการณ์ได้ในหลายช่วงคลื่น ข้อมูลนี้เป็นประโยชน์ต่อการสร้างแบบจำลองการระเบิดในลักษณะนี้เป็นอย่างมาก”โธมัส โฮโลเอียน ผู้นำในทีมวิจัยกล่าว ดาวเทียมเทสส์ ตรวจจับ ASASSN-19bt ได้เมื่อวันที่ 21 มกราคม 2562 หลังจากนั้นประมาณ 1 สัปดาห์ เหตุการณ์นี้จึงสว่างพอให้กล้องโทรทรรศน์ในโครงการ ASAS-SN (All-Sky Automated Survey for Supernovae) ตรวจจับได้ โชคดีที่ปรากฏการณ์ดังกล่าว เกิดขึ้นในบริเวณที่ดาวเทียมเทสส์สังเกตการณ์ ทำให้สามารถเห็นเหตุการณ์ตั้งแต่เริ่มต้นและเห็นแสงปรากฏอยู่ใกล้หลุมดำ ซึ่งใกล้กว่าที่เคยเห็นก่อนหน้านี้ หลุมดำมวลยวดยิ่งที่ทำให้เกิด ASASSN-19bt อยู่บริเวณใจกลางกาแล็กซี 2MASX J07001137-6602251 ห่างจากโลกประมาณ 375 ล้านปีแสงในกลุ่มดาวปลาบิน นักดาราศาสตร์คาดว่า หลุมดำมีมวลมากกว่าดวงอาทิตย์ประมาณ 6 ล้านเท่า และดาวฤกษ์ที่ถูกทำลายอาจมีขนาดเท่ากับดวงอาทิตย์ของเรา ในกาแล็กซีที่มีขนาดเท่ากับกาแล็กซีทางช้างเผือก จะเกิดหลุมดำฉีกดาวฤกษ์ ทุกๆ 10,000 – 100,000 ปี ถือเป็นปรากฏการณ์ที่สังเกตได้ยากเมื่อเปรียบเทียบกับซูเปอร์โนวาที่เกิดขึ้นทุกๆ 100 ปี ตามไปดูวีดีโอแบบจำลองหลุมดำกำลังฉีกดาวฤกษ์ได้ที่https://www.youtube.com/watch?v=85tdoDt1Qh0#action=share เรียบเรียง : พัชริดา ยั่งยืนเจริญสุข เจ้าหน้าที่สารสนเทศดาราศาสตร์ - สดร. อ้างอิง : https://www.nasa.gov/…/nasa-s-tess-mission-spots-its-1st-st…” เรื่อง-ภาพจากสดร.