ชาวบัวใหญ่ โคราชกว่าพันคนสำแดงพลังขอรถไฟทางคู่สายใหม่ตัดผ่าน ชูความเหมาะสม ลงทุนไม่มากตอบโจทย์ขนส่งทางราง วอนลุงตู่คืนความสุขให้ด้วย เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 10 ตุลาคม ที่หอประชุมโรงเรียนวาณิชวิทยา อ.บัวใหญ่ จ.นครราชสีมา นางไพรวัลย์ รักชาติเจริญ นายอำเภอบัวใหญ่ ฯ เป็นประธานเปิดการประชุมกลุ่มย่อย งานบริการที่ปรึกษาความเหมาะสม “ โครงการรถไฟทางคู่สายใหม่ ช่วงนครสวรรค์-บ้านไผ่ ” โดยมีนายสมเกียรติ วิริยะกุลนันท์ โยธาธิการและผังเมืองจังหวัดนครราชสีมา พร้อมนายนิพนธ์ ลิ้มวงศ์ยุติ นายกเทศบาลเมือง (ทม.) บัวใหญ่ อ.บัวใหญ่ ผู้แทนหน่วยงานเกี่ยวข้อง ผู้นำชุมชนและประชาชนที่มีภูมิลำเนาในพื้นที่ อ.บัวใหญ่ อ.บัวลาย อ.สีดา อ.แก้งสนามนาง จ.นครราชสีมา จำนวนกว่า 1 พันคน ทยอยเดินทางมาร่วมรับฟังการชี้แจงรายละเอียดการดำเนินโครงการฯ จนเต็มพื้นที่ บรรยากาศค่อนข้างคึกคักในเขต ทม.บัวใหญ่ รวมทั้งช่วงทางเข้าห้องประชุมได้ติดตั้งป้ายไวนิลเขียนข้อความว่า ชุมทางบัวใหญ่เหมาะที่จะเป็นเส้นทางรถไฟสายใหม่ นครสวรรค์-ชัยภูมิ-บัวใหญ่ ,East West corridor เพิ่มการค้าการคมนาคม เหนือ-ตะวันตก-ตะวันออก , ขอสนับสนุนให้ชุมทางรถไฟบัวใหญ่เป็นเส้นทางสายใหม่ นครสวรรค์ -ชัยภูมิ -บัวใหญ่ , คนโคราชขอสนับสนุนให้สร้างทางรถไฟสายบัวใหญ่-ชัยภูมิ-นครสวรรค์ , ชุมทางสถานีบัวใหญ่มีศักยภาพพร้อมทุกด้าน เหมาะสมที่จะอยู่บนเส้นทาง East West corridor upper, ชุมทางสถานีบัวใหญ่ขอเป็นส่วนหนึ่งของทางรถไฟเชื่อมภาคเหนือ -อีสาน , บัวใหญ่พร้อมเป็นศูนย์กลางคมนาคมระบบราง , ประหยัดเงินและประหยัดเวลาชาวประชาได้ประโยชน์ , ลุงตู่ครับผมอยากขึ้นรถไฟจากบัวใหญ่ไปนครสวรรค์ , ชุมทางบัวใหญ่ cy พร้อมเหมาะสมเป็น hub ฯลฯ ทั้งนี้บรรดาองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) คหบดีและผู้ประกอบการกลุ่มคนไทยเชื่อสายจีนได้ออกโรงทานบริการอาหาร เครื่องดื่มกันอย่างเต็มที่ นายเสกสิทธิ์ ศิริไวทยพงศ์ ผู้จัดการฝ่ายการศึกษาและออกแบบ บริษัท เอ็มเอเอคอนซัลแตนท์ จำกัด ในฐานะบริษัทที่ปรึกษาโครงการ ฯ เปิดเผยว่า สืบเนื่องจากการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) สัญจรในพื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง 2 เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2561 มีมติเห็นชอบแนวทางและข้อสั่งการให้ดำเนินการศึกษาความเหมาะสมโครงการก่อสร้างทางรถไฟเชื่อมตะวันออก-ตะวันตก สายนครสวรรค์-บ้านไผ่ เพื่อให้แผนการพัฒนาเส้นทางรถไฟสายใหม่จากแม่สอด-นครพนม ที่ใช้ขนาดทาง 1 เมตร ให้มีโครงข่ายที่สมบูรณ์และสอดคล้องกับการเชื่อมโยงเขตเศรษฐกิจพิเศษระหว่างประเทศ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถการขนส่งสินค้า ผู้โดยสารและศักยภาพด้านการท่องเที่ยวของประเทศ รวมทั้งก่อให้เกิดการจ้างงานและพัฒนาพื้นที่โดยรอบสถานีรถไฟ ได้การกำหนดทางเลือกโครงการจำนวน 5 เส้นทาง 1.ช่วง B-C2 เริ่มต้นบ้านหัวถนน อ.ท่าตะโก จ.นครสวรรค์ ใช้แนวเส้นทางเดิมบางส่วนของสายชุมทางแก่งคอย-ชุมทางบัวใหญ่ สิ้นสุด อ.จัตุรัส จ.ชัยภูมิ รวมระยะทางประมาณ 164 กิโลเมตร ตัดผ่านทางหลวงหมายเลข 11 ,3320 ,2219 ,21 ,2244 ,2275 ,2260 ,2354 ,2069 และ 2179 แม่น้ำป่าสัก เทือกเขาพังเหย อุทยานแห่งชาติป่าหินงาม สภาพพื้นที่เป็นที่ราบสลับกับเนินในช่วงแรกเป็นที่เขาในช่วงกลางช่วงท้ายเป็นที่ราบ ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่เกษตรกรรมทั้งพืชไร่และนาข้าว 2.ช่วง C1-D1 เริ่มต้น อ.บ้านเขว้า จ.ชัยภูมิ ใช้แนวเส้นทางเดิมบางช่วงของรถไฟทางคู่สายชุมทางถนนจิระ–ขอนแก่น สิ้นสุดสถานีบ้านไผ่ อ.บ้านไผ่ จ.ขอนแก่น ระยะทางประมาณ 92 กม. ตัดผ่านทางหลวงหมายเลข 201, 202, 2054, 2065, 2233 และ 2 ตัดผ่านแม่น้ำชี สภาพพื้นที่เป็นที่ราบและลุ่มแม่น้ำชี ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่เกษตรกรรมทั้งพืชไร่และนาข้าว 3.ช่วง C2-D2 เริ่มต้น อ.จัตุรัส จ.ชัยภูมิ สิ้นสุดที่ อ.พล จ.ขอนแก่น ใช้แนวเส้นทางเดิมบางช่วงสายชุมทางแก่งคอย –ชุมทางบัวใหญ่และรถไฟทางคู่สายชุมทางจิระ–ขอนแก่น ระยะทางประมาณ 81 กม. ตัดผ่านทางหลวงหมายเลข 201 และ 202 ตัดผ่านแม่น้ำชีและ อ.แก้งสนามนาง นครราชสีมา สภาพพื้นที่เป็นที่ราบและลุ่มแม่น้ำชี ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่เกษตรกรรมทั้งพืชไร่และนาข้าว 4.ช่วง C2-D3 เริ่มต้น อ.จัตุรัส จ.ชัยภูมิ สิ้นสุดที่ สถานีเมืองพล จ.ขอนแก่น ใช้แนวเส้นทางเดิมบางช่วงสายชุมทางแก่งคอย–ชุมทางบัวใหญ่และรถไฟทางคู่สายชุมทางถนนจิระ –ขอนแก่น ระยะทาง 60 กม. ตัดผ่านทางหลวงหมายเลข 201 ,2180 ,2369 ,2160 และ 2246 สภาพพื้นที่เป็นที่ราบส่วนใหญ่เป็นพื้นที่เกษตรกรรมทั้งพืชไร่และนาข้าว และ 5.ช่วง D3-D2-D1 เริ่มต้นสถานีชุมทางบัวใหญ่ สิ้นสุดที่สถานีบ้านไผ่ อ.บ้านไผ่ จ.ขอนแก่น ปัจจุบันช่วงนี้เป็นรถไฟทางคู่ตลอดทั้งช่วงและเป็นส่วนหนึ่งของรถไฟทางคู่สายชุมทางถนนจิระ–ขอนแก่น ระยะทางประมาณ 59 กม. ตัดผ่านทางหลวงหมายเลข 202, 2 และ 23 สภาพพื้นที่เป็นที่ราบ ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่เกษตรกรรมทั้งพืชไร่และนาข้าว อย่างไรก็ตามขั้นตอนขณะนี้เป็นการศึกษาความเหมาะสมทางด้านเศรษฐกิจ สังคม การเงิน วิศวกรรม และสิ่งแวดล้อมรวมถึงจัดทำแบบและประมาณราคาค่าก่อสร้างเบื้องต้น จัดทำรายงาน การศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมพร้อมดำเนินการด้านการมีส่วนร่วมของประชาชน มีระยะทางประมาณ 291 กิโลเมตร โดยมีระยะเวลาศึกษา 6 เดือน เริ่มตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2562 ถึง มกราคม 2563 ซึ่งต้องลงพื้นที่จัดประชุมย่อยในแต่ละอำเภอที่มีเส้นทางรถไฟผ่าน คำนึงถึง 1.ความถูกต้อง ความปลอดภัยและความสะดวกสบายของผู้ใช้บริการ 2.ความสอดคล้องกับพื้นที่ใกล้เคียง 3.เวนคืนน้อยที่สุด เพื่อลดผลกระทบ 4.ความยากง่ายในการก่อสร้างราคาก่อสร้าง 5.ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ตอบโจทย์โครงข่ายที่สมบูรณ์และเพิ่มประสิทธิภาพของการขนส่งทางรถไฟ นายนิพนธ์ ลิ้มวงศ์ยุติ นายก ทม.บัวใหญ่ ฯ เปิดเผยในฐานะตัวแทนชาวบัวใหญ่ ว่า สถานีรถไฟชุมทางบัวใหญ่ มีความพร้อมและศักยภาพทุกด้านสามารถรองรับการเป็นศูนย์กลางคมนาคมทางรางหรือเป็นฮับของภูมิภาคอีสานเหนือ ซึ่งมีสถานีขนถ่ายสินค้า Container Yard หรือ CY รองรับการขนถ่ายสินค้าจากระบบรางสู่ถนน พวกเราชาวบัวใหญ่และอำเภอข้างเคียงเห็นพ้องต้องการเส้นทางสีเหลืองหรือช่วง D3-D2-D1 สามารถย่นระยะทางได้ประมาณ 27 กิโลเมตร ทั้งนี้สถานีชุมทางบัวใหญ่ตั้งอยู่ในเส้นทางรถไฟทางคู่ชุมทางถนนจิระ-ขอนแก่น การดำเนินโครงการจึงไม่สิ้นเปลืองงบประมาณในการเวนคืนที่ดินรวมถึงสร้างสิ่งปลูกสร้างใหม่เพิ่มเติม นายก ทม.บัวใหญ่ กล่าว วอน พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี โปรดรับทราบข้อมูล อ.บัวใหญ่ เป็นเมืองปิดมานานหลายสิบปี ระบบทางรางสามารถสร้างคุณประโยชน์ด้านสิ่งแวดล้อมและชีวิตความเป็นอยู่ให้ดีขึ้นรวมทั้งนำความเจริญมาสู่ท้องถิ่นได้อย่างแน่นอน