“เวิลด์แบงก์”ปรับลดคาดการณ์จีดีพีไทยปี 62 เหลือโต 2.7% จากเดิมคาด 3.5% ขณะที่ปี 63 คาดโต 2.9% จาก 3.6% หลังส่งออกฮวบ-ภัยแล้งรุนแรง จับตาการเมืองไร้เสถียรภาพจากรัฐบาลผสม 19 พรรคฉุดความเชื่อมั่น ธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์)ได้ปรับลดคาดการณ์อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย (GDP) ปีนี้มาที่ 2.7% จากเดิมที่คาดไว้ 3.5% เนื่องมาจากหลายปัจจัยที่สำคัญเช่น การส่งออกที่ลดลงมากกว่าคาดการณ์ในช่วงครึ่งแรกของปี 62 อีกทั้งประเทศไทยประสบปัญหาภัยแล้งที่รุนแรงที่สุดในรอบศตวรรษ และอัตราการเบิกจ่ายงบลงทุนภาครัฐที่ต่ำมีผลเหนี่ยวรั้งตัวเลขการลงทุนภาครัฐ นอกจากนี้ได้ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจไทยในปี 63 มาที่เติบโต 2.9% จากเดิม 3.6% ก่อนจะขยายตัวเป็น 3.0% ในปี 64 ขณะที่ปรับลดคาดการณ์การส่งออกในปีนี้มาเป็นหดตัว -5.3% จากครั้งก่อนคาดว่าจะขยายตัว 2.2% ส่วนในปี 63 คาดว่าการส่งออกจะฟื้นกลับมาขยายตัวได้ 0.2% เวิลด์แบงก์ระบุว่า มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่รัฐบาลอนุมัติออกมาในเดือน ส.ค.62 มุ่งเป้าไปที่เกษตรกร ผู้ประกอบการขนาดเล็กและขนาดกลาง และครัวเรือนที่มีรายได้น้อย โดยผ่านการโอนเงินให้โดยตรง การขยายระยะเวลาการชำระหนี้ การคืนภาษีจากกิจกรรมการท่องเที่ยว การขยายยกเว้นค่าวีซ่าสำหรับผู้ที่เดินทางมาจากประเทศที่กำหนดนั้นน่าจะไม่ได้ส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจในปีนี้ ส่วนในระยะปานกลาง ผลกระทบจากมาตรการเหล่านี้จะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับกำลังของตัวทวีทางการคลัง ขณะที่สถานการณ์ความเสี่ยงมีแนวโน้มที่จะเป็นไปในทิศทางที่ไม่ค่อยดี ความไม่แน่นอนทางการเมืองยังคงเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญที่สุดอันจะก่อให้เกิดความเคลือบแคลงใจอยู่ต่อไปถึงความเหนียวแน่นของรัฐบาลใหม่ที่เป็นรัฐบาผผสมจาก 19 พรรคการเมือง รวมทั้งความล่าช้าของการดำเนินงานตามแผนการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ของภาครัฐอาจส่งผลในทางลบต่อมุมมองของนักลงทุนและความมั่นใจของผู้บริโภค ซึ่งสุดท้ายแล้วอาจทำให้อุปสงค์ภายในประเทศอ่อนแอลง แม้ว่าโครงการที่เกี่ยวข้องกับระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC)จะมีความคืบหน้า แต่ยังมีความเสี่ยงว่าอาจเกิดความล่าช้าในการดำเนินงาน นอกจากนั้นความตึงเครียดทางการค้าที่ทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้นระหว่างสหรัฐฯและจีนอาจส่งผลให้ความต้องการสินค้าส่งออกของไทยอ่อนแอลงไปอีก และบั่นทอนการลงทุนภาคเอกชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออก และค่าเงินบาทแข็งค่าที่สุดในภูมิภาคในช่วงกลางปี 62 เนื่องจากนักลงทุนต่างชาติเข้าหาที่หลบภัยในตลาดพันธบัตรของไทย หากค่าเงินบาทยังคงแข็งค่าขึ้นต่อไปอีก อาจจะเป็นอุปสรรคต่อความสามารถในการแข่งขันของสินค้าส่งออกของไทยทั้งในภาคอุตสาหกรรมและการท่องเที่ยว