“กนง.”พร้อมใช้มาตรการ microprudential-macroprudential ร่วมกันให้เหมาะสม-ตรงจุดยิ่งขึ้น รับมือความเสี่ยงเหตุแนวโน้มเศรษฐกิจชะลอ-อัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำต่อเนื่อง เกาะติดติดตามสถานการณ์อัตราแลกเปลี่ยน-เงินทุนเคลื่อนย้ายใกล้ชิด เดินหน้าสกัดหนี้ครัวเรือน-หนี้ภาคธุรกิจพุ่งให้ตรงจุดแต่ละกลุ่ม เร่งสร้างวินัยทางการเงิน-ส่งเสริมการออมของครัวเรือน-ปรับโครงสร้างหนี้-ให้สินเชื่อด้วยความรับผิดชอบ นายทิตนันทิ์ มัลลิกะมาส ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)ชี้แจงในการประชุม Analyst Meeting ว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) เห็นว่านโยบายการเงินที่ผ่อนคลายหลังจากปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเดือนส.ค.62 จะช่วยสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจและเอื้อให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปกลับสู่กรอบเป้าหมาย โดยจะติดตามปัจจัยเสี่ยงต่างๆ โดยเฉพาะผลกระทบของสภาวะการกีดกันทางการค้าระหว่างประเทศอย่างใกล้ชิด และพร้อมใช้เครื่องมือเชิงนโยบายอย่างเหมาะสม ทั้งนี้ กนง.เห็นควรให้ติดตามสถานการณ์อัตราแลกเปลี่ยนและเงินทุนเคลื่อนย้าย รวมทั้งผลกระทบต่อเศรษฐกิจผ่านช่องทางต่างๆอย่างใกล้ชิด และให้พิจารณาดำเนินมาตรการเพิ่มเติมตามความจำเป็นในจังหวะที่เหมาะสม ทั้งมาตรการต่างๆที่ ธปท.สามารถดำเนินการได้เอง อาทิ การผ่อนคลายกฎเกณฑ์เงินทุนเคลื่อนย้ายด้านขาออกอย่างต่อเนื่อง เพื่อส่งเสริมให้คนไทยออกไปลงทุนต่างประเทศมากขึ้น และมาตรการที่ต้องดำเนินการร่วมกับหน่วยงานอื่นอาทิ การส่งเสริมการลงทุนเพื่อลดการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดที่ยังคงอยู่ในระดับสูง นอกจากนี้ กนง.เห็นว่าในระยะต่อไปที่เศรษฐกิจมีแนวโน้มชะลอลงและอัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำต่อเนื่อง ควรใช้มาตรการกำกับดูแลสถาบันการเงิน (microprudential)และมาตรการดูแลเสถียรภาพระบบการเงิน (macroprudential) ร่วมกันอย่างเหมาะสมและตรงจุดยิ่งขึ้น เพื่อดูแลความเสี่ยงด้านเสถียรภาพระบบการเงิน รวมทั้งเห็นว่า ธปท.ควรร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อผลักดันนโยบายที่เหมาะสม “การแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนและหนี้ภาคธุรกิจต้องอาศัยความเข้าใจลักษณะของแต่ละกลุ่มที่แตกต่างกัน อาทิ กลุ่มที่มีฐานะทางการเงินเข้มแข็ง กลุ่มที่มีหนี้สูงและเปราะบาง รวมทั้งกลุ่มที่ขาดวินัยทางการเงิน เพื่อพิจารณาแนวทางในการแก้ไขปัญหาให้ตรงจุดและเหมาะสมสำหรับแต่ละกลุ่ม อาทิ แนวทางการสร้างวินัยทางการเงินและส่งเสริมการออมของครัวเรือน การปรับโครงสร้างหนี้และคลินิกแก้หนี้ รวมทั้งการนำหลักการให้สินเชื่อด้วยความรับผิดชอบไปใช้อย่างเหมาะสม”