ชสอค. เปิดระดมความคิดเห็นผู้แทนสหกรณ์ออมทรัพย์ครู-ศธ. เร่งช่วยครู 5 แสนกว่าคนได้รับผลกระทบหลังศาลปกครองกลาง มีคำพิพากษาให้หักเงินชำระหนี้เงินกู้ แต่ต้องมีเงินเดือนไม่น้อยกว่า 30% ขณะที่ “อุทัย” ชี้ครูจำเป็นต้องกู้เพื่อสร้างอาชีพเสริม เพิ่มรายได้เลี้ยงครอบครัว ย้ำเป็นการช่วยเหลือตามอุดมการณ์สหกรณ์
เมื่อวันที่ 9 ต.ค. นายดิศกุล เกษมสวัสดิ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานเปิดการประชุมสัมมนา” ผลกระทบจากคำพิพากษาศาลปกครองกลาง” จัดโดยชุมนุมสหกรณ์ออมทรัพย์ครูไทย จำกัด (ชสอค.) เพื่อหาแนวทางแก้ปัญหาผลกระทบจากกรณีศาลปกครองกลางมีคำพิพากษา ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวง ศึกษาธิการปลัดกระทรวงศึกษาธิการ และเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ) ปฏิบัติตามระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยการหักเงินเดือนเงินบำเหน็จบำนาญข้าราชการเพื่อชำระหนี้เงินกู้ให้แก่สวัสดิการภายในส่วนราชการและสหกรณ์พ.ศ 2551 โดยมีผู้แทนสหกรณ์ออมทรัพย์ครู 250 แห่ง ร่วมสัมมนา ณ ห้องประชุม 701 ชั้น7 อาคารชุมนุมสหกรณ์ออมทรัพย์แห่งประเทศไทย จำกัด จ.นนทบุรี
นายดิศกุล กล่าวว่า ปัญหาดังกล่าวมีผลกระทบค่อนข้างสูง เกี่ยวกับคุณภาพชีวิตของครูทั่วประเทศ กระทรวงศึกษาธิการ ได้รับทราบปัญหานี้มาโดยตลอด และได้มีความพยายามแก้ไขปัญหา ซึ่งการจัดงานสัมมนาของชุมนุมสหกรณ์ออมทรัพย์ครูไทย จำกัด ครั้งนี้ เป็นการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้อง และข้อเสนอต่างๆ ที่สำคัญ ว่าจะมีการผ่อนปรนอย่างไร เพื่อนำเสนอผู้บริหารของกระทรวงศึกษาฯ ทั้งรมว.ศึกษาธิการ ปลัดกระทรวงศึกษาฯ และองค์กรที่เกี่ยวข้อง หาแนวทางแก้ปัญหานี้ต่อไป เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของครูให้ดีขึ้น ทั้งนี้ ในเชิงกฎหมายเมื่อศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้ว กระทรวงศึกษาฯ ต้องปฏิบัติตาม
ด้าน นายอุทัย ศรีเทพ ประธานกรรมการดำเนินการชุมนุมสหกรณ์ออมทรัพย์ครูไทย จำกัด กล่าวว่า ปัจจุบันสหกรณ์ครูทั่วประเทศ มี 100 กว่าแห่ง สมาชิก 1.1 ล้านกว่าคน มีสินทรัพย์ของสหกรณ์ครูทั้งประเทศรวมกันเกือบ 1 ล้านล้านบาท ซึ่งขณะนี้สถานการณ์ของสหกรณ์ออมทรัพย์ครู หลังศาลปกครองกลางมีคำพิพากษา ให้กระทรวงศึกษาฯ หักเงิน ณ ที่จ่ายเพื่อชำระหนี้เงินกู้ จะต้องมีเงินเดือนสุทธิหลังจากหักชำระหนี้แล้วไม่น้อยกว่าอัตราร้อยละ 30 สมาชิกสหกรณ์ออมทรัพย์ครูส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบจากคำพิพากษาดังกล่าว เพราะมีความจำเป็นที่จะต้องใช้เงินเร่งด่วน เพื่อการประกอบอาชีพ หรือนำไปลงทุนเพื่อให้ก่อเกิดรายได้มากกว่าดอกเบี้ย เพราะครูบางท่านจำเป็นต้องมีอาชีพเสริม เนื่องจากรายได้ครูอาจจะไม่เพียงพอต่อการเลี้ยงครอบครัว จึงต้องหาแหล่งเงินกู้ที่ไม่จำเป็นต้องใช้สินทรัพย์เป็นหลักประกัน โดยสหกรณ์ออมทรัพย์ครู ถือเป็นสถาบันที่เปิดโอกาสให้ครูได้ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ตามหลักอุดมการณ์ของสหกรณ์
“แม้ที่ผ่านมา จะมีการผ่อนปรนการหักเงิน ณ ที่จ่ายเพื่อชำระหนี้เงินกู้ จะต้องมีเงินเดือนสุทธิหลังจากหักชำระหนี้แล้วไม่น้อยกว่าอัตราร้อยละ 30 มากกว่า 12 ปี แต่ล่าสุด เมื่อวันที่ 26 กันยายน 2562 ศาลปกครองกลาง มีคำพิพากษาให้กระทรวงศึกษาฯ ต้องปฏิบัติตามระเบียบ ทำให้ส่งผลกระทรบกับทุกฝ่าย ทั้งกระทรวงศึกษาฯ ผู้ออกเงินเดือน และผู้หักเงิน สมาชิกสหกรณ์ออมทรัพย์ครู ซึ่งจะต้องชำระเงินกู้ตามปกติ หากไม่ดำเนินการจะจะกลายเป็นผิดนัดชำระหนี้ รวมทั้งเห็นใจสหกรณ์ออมทรัพย์ครู ที่เป็นผู้ปฏิบัติ ก็จะไม่เป็นการบริการตามหลักอุดมการณ์ เห็นใจสมาชิกที่จำเป็นจะต้องใช้เงินช่วงเวลานี้ ที่มีเงินเดือนสุทธิน้อยกว่าร้อยละ 30 ที่มีอยู่ประมาณ 5 แสนกว่าคน จากการสำรวจตัวเลขของกระทรวงศึกษาฯ ทั้งที่หวังจะให้สหกรณ์เป็นที่พึ่ง ไม่ต้องไปกู้เงินนอกระบบและเสียดอกเบี้ยแพง ดังนั้น จึงได้มีการจัดสัมมนาในวันนี้ เพื่อมาร่วมกันสะท้อนปัญหา และหาแนวทางในการช่วยเพื่อนครูด้วยกัน และแนวทางการแก้ปัญหาของกระทรวงศึกษาฯ ในเรื่องนี้”นายอุทัย กล่าว
ขณะที่ นายปรเมศวร์ อินทรชุมนุม ประธานสันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า หนี้สินครู เป็นปัญหา หมักหมมมาเนิ่นนาน อันเนื่องมาจากธนาคารพาณิชย์บางแห่ง ปล่อยกู้จนครูมีหนี้สินล้นพ้นตัว โดยไม่ได้ดูข้อจำกัดว่า ครูจะสามารถชำระหนี้ได้หรือไม่ ส่งผลกระทบระยะยาว ครูเป็นหนี้พอก จากหลายๆ สถาบันการเงิน จนส่งผลกระทบในเรื่องหักเงิน ณ ที่จ่ายของสหกรณ์ นอกจากนี้ ในส่วนครูเองก็ควรใช้จ่ายเงินด้วยความระมัดระวัง มีวินัยในการใช้จ่าย และไม่กู้จนสร้างปัญหาให้ตนเอง ควรพิจารณาอย่างรอบคอบและหากเป็นหนี้ จะต้องใช้หนี้เพื่อลดปัญหาในระยะยาวต่อไป