เพจเฟซบุ๊ก "สื่อศาล" ซึ่งเป็นเพจทางการของสำนักงานศาลยุติธรรม ระบุว่า... นายสราวุธ เบญจกุล เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม เปิดเผยว่า ได้มีโอกาสได้พูดคุยกับอธิบดีผู้พิพากษาภาค 9 ถึงเหตุการณ์เกิดขึ้น โดยอธิบดีผู้พิพากษาภาค 9 ยอมรับเสียใจกับเหตุการณ์ดังกล่าว ยืนยันว่าการปฏิบัติหน้าที่ที่ผ่านมา ทำไปตามระเบียบ ไม่มีเจตนาที่จะแทรกแซง ซึ่งผลการพิพากษาจะออกมาเป็นอย่างไร ตนเองทำได้เพียงทักท้วงเท่านั้น เพื่อให้กระบวนการต่าง ๆในการพิจารณา มีความรอบคอบ ไม่ได้เปลี่ยนแปลงหรือให้แก้ไข สำหรับ เรื่องที่เกิดขึ้นอาจเกิดจากสื่อสารคลาดเคลื่อน ซึ่งหลังจากนี้ อนุกรรมการวิสามัญ จะทำหน้าที่ในการหาข้อเท็จจริงและนำเข้าที่ประชุมคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม (ก.ต.) เพื่อหาแนวทางในการแก้ไขปัญหา ซึ่ง ก.ต.เป็นคนกำหนดนโยบายบริหารงานบุคคล วางหลักประกันความเป็นอิสระของผู้พิพากษา แต่งตั้งโยกย้าย และการลงโทษทางวินัยผู้พิพากษา ดังนั้น แม้อธิบดีผู้พิพากษาภาคจะย้ายผู้พิพากษาในภาคตัวเอง หากผู้พิพากษาไม่ยินยอมก็ไม่สามารถที่จะย้ายได้ ส่วนอำนาจของการแต่งตั้งโยกย้าย หรือถ้าไม่ใช่โยกย้ายประจำปี อำนาจประธานศาลฎีกาจะสั่งย้ายผู้พิพากษาโดยไม่รับความยินยอม ก็ไม่มีอำนาจที่จะย้ายผู้พิพากษาได้ หากจะทำได้ก็ต่อเมื่อ ก.ต.เห็นชอบ ส่วนกรณีที่มีการเรียกร้องให้ผู้ที่เกี่ยวข้องในเรื่องดังกล่าว ย้ายออกนอกพื้นที่นั้น อยู่ระหว่างตรวจสอบข้อเท็จจริงให้ปรากฏ ส่วนแนวทางในการป้องกันปัญหานั้น จะมี 2 ส่วน คือคนที่รับผลกระทบตอนนี้พักรักษาตัวโดยจะดูแลทั้งสภาพร่างกายและจิตใจเป็นอันดับแรก ส่วนการบริหารงานบุคคล จะจัดการอย่างไร เป็นหน้าที่ของ ก.ต.ที่จะต้องพิจารณา นายสราวุธ กล่าวอีกว่า ก่อนที่ผู้พิพากษาจะเข้ามาปฏิบัติหน้าที่จะต้องปฏิญาณตนในการทำงาน โดยการทำงานระบบการพิจารณาพิพากษาของศาล เป็นระบบองค์คณะในการตัดสินคดี ยกตัวอย่างเช่น ศาลจังหวัดจะต้องมีผู้พิพากษา 2 คน เป็นองค์คณะในการตัดสินคดี ซึ่งหัวหน้าศาลหรืออธิบดีฯจะสั่งให้ผู้พิพากษาตัดสินคดีตามความต้องการของหัวหน้าศาล หรืออธิบดีฯไม่ได้เด็ดขาด ไม่ใช้ระบบข้าราชการพลเรือนที่บังคับบัญชาตามลำดับชั้น แต่ทำได้เพียงความเห็นแย้งเท่านั้น และการทำความเห็นแย้งไม่ได้มีผลกระทบต่อคำพิพากษา แต่มีประโยชน์สำหรับการใช้สิทธิในการอุทธรณ์ ฎีกาต่อไป อย่างไรก็ตาม เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม ยังกล่าวถึงคดีความมั่นคงว่าที่ผ่านมาสำนักงานศาลยุติธรรมเราได้รับความร่วมมือ ได้รับความสนับสนุนจากทุกฝ่าย ทั้งฝ่ายบริหาร ตำรวจ ทหาร ไม่เคยเข้ามาแทรกแซงการทำหน้าที่ของศาลยุติธรรม ยืนยันศาลมีความเป็นกลาง มีอิสระในการทำหน้าที่ เราจะลงโทษคนตามพยานหลักฐาน เราจะไม่ลงโทษคนโดยมีเหตุสงสัย และมั่นใจว่าผู้พิพากษา 5,000 คน ในประเทศ ทำหน้าที่ด้วยความอิสระ ปราศจากการแทรกแซง ถ้ามีการร้องเรียนว่ามีการแทรกแซง สำนักงานศาลยุติธรรม จะดำเนินการ และรายงานที่ประชุม ก.ต. และจะรายงานถึงประธานศาลฎีกา ในฐานะผู้บังคับบัญชาโดยทันที