วันที่ 9 ต.ค. 62 ณ สถาบันพัฒนาบุคลากรสาขาเทคโนโลยีการผลิตอัตโนมัติและหุ่นยนต์ สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 3 ชลบุรี หม่อมราชวงศ์จัตุมงคล โสณกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานเปิดสถาบันพัฒนาบุคลากรสาขาเทคโนโลยีการผลิตอัตโนมัติและหุ่นยนต์ สร้างแรงงานฝีมือชั้นสูงรองรับเทคโนโลยีสมัยใหม่ หม่อมราชวงศ์จัตุมงคล โสณกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยหลังจากเป็นประธานเปิดสถาบันดังกล่าวว่า จากการที่รัฐบาลได้กำหนดให้เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เป็นหนึ่งในกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี และนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ที่มุ่งเน้นการพัฒนา 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย เพื่อเพิ่มผลิตภาพและขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศนั้น การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์จึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะการยกระดับทักษะฝีมือแรงงานสาขาเทคโนโลยีการผลิตอัตโนมัติและหุ่นยนต์ในพื้นที่ จึงได้มอบหมายให้กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) กระทรวงแรงงาน ดำเนินการจัดตั้งสถาบันพัฒนาบุคลากรสาขาเทคโนโลยีการผลิตอัตโนมัติและหุ่นยนต์ (Manufacturing Automation and Robotics Academy-MARA) ที่สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 3 ชลบุรี เพื่อยกระดับฝีมือแรงงานไทยให้เป็นแรงงานฝีมือชั้นสูงรองรับเทคโนโลยีสมัยใหม่และนวัตกรรม ตอบสนองความต้องการของนายจ้างและสถานประกอบกิจการที่นำเทคโนโลยีอัตโนมัติและหุ่นยนต์เข้ามาปรับใช้ในการกระบวนการผลิตสินค้าและบริการ นายสุชาติ พรชัยวิเศษกุล อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงานกระทรวงแรงงาน กล่าวเพิ่มเติมว่า การดำเนินงานของสถาบัน MARA จะยึดแนวทางประชารัฐร่วมมือกับภาครัฐ ภาคเอกชน สถาบันการศึกษา เช่น สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ศูนย์บริหารแรงงานเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เป็นต้น ในการฝึกอบรมช่างฝีมือ พนักงานในสถานประกอบกิจการ การทดสอบฝีมือแรงงาน การออกแบบหลักสูตร พัฒนาครูฝึกเพื่อเป็นวิทยากรในการถ่ายทอดความรู้ โดยในปี 2563 วางเป้าหมาย ที่จะพัฒนาฝีมือแรงงานในสาขาเทคโนโลยีอัตโนมัติและหุ่นยนต์ จำนวน 2,000 คน ใน 42 หลักสูตร อาทิ ช่างควบคุมหุ่นยนต์ในอุตสาหกรรม ช่างควบคุมหุ่นยนต์ NACHI การประยุกต์ใช้หน้าจอสัมผัสทางอุตสาหกรรม การเขียนโปรแกรมควบคุมระบบอัตโนมัติ เป็นต้น “สถาบัน MARA จะกลายเป็นอีกหนึ่งหน่วยงานสำคัญในการพัฒนาศักยภาพกำลังแรงงานในอุตสาหกรรมหลักในพื้นที่ ทั้งอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์และชิ้นส่วน อาหาร พลาสติก แม่พิมพ์ ตอบโจทย์ความต้องการกำลังคน สร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ประกอบกิจการทั้งชาวไทยและต่างชาติที่จะเข้ามาลงทุนในพื้นที่ EEC รวมถึงสอดคล้องกับนโยบาย Workforce transformation ของกระทรวงแรงงาน ที่มุ่งเดินหน้าปฏิรูปแรงงานให้มีฝีมือ รับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี นวัตกรรม และสังคมในอนาคตด้วย” อธิบดีกพร. กล่าวทิ้งท้าย