สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ Fan Page (สดร.) ได้โพสต์เฟซบุ๊ก ระบุ เมื่อวันที่ 8 ต.ค.ที่ผ่านมา ราชวิทยาลัยวิทยาศาสตร์สวีเดน ได้ประกาศรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ประจำปี 2019 จำนวน 2 รางวัล โดยผู้ที่ได้รับรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ ได้แก่ ศ.เจมส์ พีเบิลส์ มหาวิทยาลัยพรินซ์ตัน จากการค้นพบเชิงทฤษฎีและการวางรากฐานงานวิจัยฟิสิกส์ของจักรวาล และอีกรางวัลเป็นรางวัลร่วมกันระหว่าง ศ.มิเชล มายอ มหาวิทยาลัยเจนีวา และศ.ดิดิเยร์ เควลอซ มหาวิทยาลัยเจนีวาและมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ จากการค้นพบดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะที่โคจรรอบดาวฤกษ์ประเภทเดียวกับดวงอาทิตย์ สำหรับรางวัลแรก การค้นพบเชิงทฤษฎีและการวางรากฐานงานวิจัยฟิสิกส์ของจักรวาล ศ.เจมส์ พีเบิลส์ นักดาราศาสตร์ชาวแคนาดา-อเมริกัน ได้วางรากฐานงานวิจัยด้านจักรวาลวิทยาเชิงกายภาพมากว่าห้าสิบปี มีส่วนสำคัญในการพัฒนาแบบจำลองบิ๊กแบง แบบจำลองที่อธิบายการเกิดเอกภพเมื่อประมาณ 14 พันล้านปีก่อน ทั้งยังร่วมทำนายการมีอยู่ของรังสีคอสมิกไมโครเวฟพื้นหลัง (Cosmic microwave background) ที่หลงเหลือจากการเกิดบิ๊กแบง นับเป็นแสงแรกและเก่าแก่ที่สุดของเอกภพที่สังเกตได้ เปรียบเสมือนภาพบันทึกชั่วขณะที่เอกภพมีอายุเพียง 400,000 ปีเท่านั้น ผลการศึกษาทางทฤษฎีและการคำนวณของศ.พีเบิลส์ ทำให้นักดาราศาสตร์และนักจักรวาลวิทยา เข้าใจกำเนิดและวิวัฒนาการของโครงสร้างขนาดใหญ่ในเอกภพ ต่อยอดการทดลองเชิงสังเกตการณ์ทางจักรวาลวิทยาเพื่อวัดคุณสมบัติและปรากฏการณ์ต่าง ๆ ของเอกภพได้อย่างแม่นยำ นำไปสู่การค้นพบความรู้ใหม่ ๆ อีกจำนวนมาก รวมถึงการเกิดสสารจากบิ๊กแบง (Big Bang Nucleosynthesis) คุณสมบัติของสสารมืด (Dark matter) และพลังงานมืด (Dark Energy) ซึ่งเป็นส่วนประกอบหลักมากกว่า 95% ของเอกภพ ดร. อุเทน แสวงวิทย์ นักวิจัยชำนาญการ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ กล่าวว่า “กลุ่มงานวิจัยจักรวาลวิทยาเชิงสังเกตการณ์และดาราศาสตร์ฟิสิกส์พลังงานสูง ของสดร. ได้นำงานวิจัยดังกล่าวมาปรับใช้ ต่อยอดไปสู่งานวิจัยอื่น ๆ ได้แก่ การศึกษาคุณสมบัติของสสารมืดและพลังงานมืดโดยใช้การสำรวจทางจักรวาลวิทยาของโครงสร้างขนาดใหญ่ (กาแล็กซี กลุ่มกาแล็กซี คลัสเตอร์กาแล็กซี และช่องว่าง) และศึกษารังสีคอสมิกไมโครเวฟพื้นหลัง ผ่านปรากฏการณ์ต่าง ๆ เช่น การสั่นแบบอะคูสติกของแบริออน (Baryon Acoustic Oscillation) ในโครงสร้างขนาดใหญ่ การเกิดเลนส์โน้มถ่วง (Gravitational lensing) และปรากฏการณ์ซาช-วูฟแบบรวม (Integrated Sachs-Wolfe effect)” ขณะที่อีกหนึ่งรางวัลจากการค้นพบดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะที่โคจรรอบดาวฤกษ์ประเภทเดียวกับดวงอาทิตย์ ศ.มิเชล มายอ และศ.ดิดิเยร์ เควลอซ ผู้ค้นพบดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะโคจรรอบดาวฤกษ์คล้ายกับดวงอาทิตย์ดวงแรก ในปี พ.ศ. 2538 ด้วยเทคนิคความเร็วในแนวเล็ง (Radial velocity) วัดการเปลี่ยนแปลงตำแหน่งของดาวฤกษ์ ที่เกิดจากแรงโน้มถ่วงของดาวเคราะห์ที่โคจรอยู่รอบ ดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะดวงนี้มีชื่อว่า 51 Pegasi b เป็นดาวเคราะห์ขนาดใหญ่คล้ายดาวพฤหัสบดี มีคาบการโคจรสั้นเพียง 4.2 วัน การค้นพบ 51 Pegasi b นำไปสู่การพัฒนาเทคนิคใหม่เพื่อค้นหาดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะ เช่น เทคนิคการผ่านหน้า (Transit) เทคนิคไมโครเลนส์ (Microlensing) ทำให้ค้นพบดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะกว่า 4,000 ดวง การค้นพบดาวเคราะห์จำนวนมากนี้ ทำให้นักดาราศาสตร์เข้าใจถึงการกำเนิดและคุณสมบัติของดาวเคราะห์ได้ดียิ่งขึ้น และจะนำ​ไป​สู่​การ​ตอบคำถามที่ว่า “สิ่งมีชีวิตนอกโลกมีจริงหรือไม่” ได้ในอนาคต ดร. ศิรินทร์รัตน์ สิทธาจารย์ นักวิจัย สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ กล่าวว่า “กลุ่มวิจัยดาวเคราะห์นอกระบบและชีวดาราศาสตร์ของสดร. ร่วมกับทีมนักดาราศาสตร์นานาชาติค้นหาและศึกษาดาวเคราะห์นอกระบบ ค้นพบดาวเคราะห์ใหม่ 11 ดวง (จากการดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะกว่า 4,000 ดวง) และได้ศึกษาสมบัติต่างๆ ของดาวเคราะห์นอกระบบอื่นๆ อีกจำนวนมาก เช่น ศึกษาดาวเคราะห์ที่กำลังสลายตัว วัดการเปลี่ยนแปลงคาบการโคจร ศึกษาชั้นบรรยากาศ รวมถึงค้นหาดวงจันทร์นอกระบบสุริยะ” เรียบเรียง : ดร. ศุภชัย อาวิพันธุ์ - นักวิจัย สดร. อ้างอิง :https://www.nobelprize.org/prizes/physics/2019/summary/” ขอบคุณภาพจาก สดร.