รูปเงาแห่งเสียง / อติภพ ภัทรเดชไพศาล Orientalism กับภาพอาหารบนอินเตอร์เน็ต ในปี ค.ศ. 1978 หรือ พ.ศ. 2521 เอ็ดเวิร์ด ซาอิด (Edward Said) นักวิชาการชาวปาเลสไตน์ผู้อาศัยอยู่ในสหรัฐ ได้เขียนหนังสือชื่อเล่มว่า Orientalism วิพากษ์องค์ความรู้เกี่ยวกับ “ตะวันออก” ที่ถูกผลิตขึ้นโดยชาวตะวันตกมาเป็นเวลาหลายร้อยปี ประเด็นสำคัญในหนังสือเล่มนี้ คือการที่ซาอิดวิพากษ์ว่าความรู้ต่างๆ ที่ชาวตะวันตกคิดว่าตนเอง “รู้” เกี่ยวกับชาวตะวันออก แท้ที่จริงแล้วเป็นสิ่งที่ถูกผลิตขึ้นด้วยอคติทางชาติพันธุ์ และสัมพันธ์อยู่กับลัทธิล่าอาณานิคมของชาวตะวันตกอย่างแนบแน่น ความเป็นตะวันออก (Oriental) อย่างที่ชาวตะวันตกรู้จัก จึงยืนอยู่บนฐานคิดของชาวตะวันตก ผู้เชื่อมั่นว่าชาติพันธุ์ของตนประเสริฐเลิศที่สุดในโลก และนำมาซึ่งการผลิตซ้ำความเชื่อที่เหยียดดินแดนตะวันออกว่าด้อยกว่า เพื่อสร้างความชอบธรรมแก่ตนเองในการเข้าไปครอบครองดินแดน แต่ตะวันออกไม่เพียงมีภาพลักษณ์ที่ด้อยกว่าตะวันตกเท่านั้น เพราะยังมีกระแสความคิดความเชื่อที่แยกย่อยออกไปอีก เช่น การมองตะวันออกในรูปของความ “exotic” หรือแปลกหน้า-แปลกประหลาด การมองตะวันออกว่าเป็น “คนอื่น” (Other) หรือกระทั่งเป็นดินแดนแห่งความโรแมนติค ที่ไกลโพ้นและเหมือนฝัน เป็นความแปลกประหลาดที่น่าหลงใหล โดยเฉพาะหญิงสาวชาวตะวันออก ย่อมกลายเป็นเพียงวัตถุแห่งความปรารถนา ทั้งๆ ที่ยากแก่การทำความเข้าใจ แต่ก็นั่นยิ่งทำให้มีเสน่ห์อย่างยากจะต่อต้าน เหล่านี้เอง ที่ทำให้ชาวตะวันตก มองตะวันออก (Oriental) ด้วยสายตาที่ถูกกำหนดกรอบการมองไว้อย่างแน่นอน ทำให้เรื่องราวชาวตะวันออกดูเป็นสิ่งแปลกเหมือนๆ กันไปหมด ไม่ว่าจะเป็นจีน ญี่ปุ่น หรือตะวันออกกลาง ก็ล้วนแล้วแต่เป็นของแปลก “เหมือนๆ” กันทั้งสิ้น ดังนั้น ภาพลักษณ์ของชาวจีนกับชาวญี่ปุ่นจึงไม่แตกต่างกัน นักแต่งเพลงชาวตะวันตกจึงสามารถหยิบทำนองเพลงจีน ใส่ไปในละครที่ดำเนินเรื่องราวอยู่ในญี่ปุ่นได้อย่างไม่ขัดเขินหรือรู้สึกแปลกอะไร หรือกระทั่งเพลงสยาม ก็ยังไม่ได้แตกต่างไปจากเพลงจีนหรือญี่ปุ่นในสายตาของชาวยุโรปแต่อย่างใด บทความเรื่อง A lot of Instagram-loving foodies are perpetuating racist stereotypes about ethnic dishes ของ Chase Purdy ที่เผยแพร่ทางเว็บไซต์ QUARTZ หรือ https://qz.com/ เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา ตั้งข้อสังเกตเรื่องการโพสต์รูปอาหารบนอินเตอร์เน็ต ด้วยวิธีคิดแบบของซาอิดนี้ Purdy วิพากษ์ว่า ในอินเตอร์เน็ต รูปเมนูอาหารของชาวเอเชีย มักถูกผู้ใช้อินเตอร์เน็ตชาวตะวันตกจัดแต่งภาพในแบบที่จงใจให้ดู exotic ด้วยกรอบคิดแบบ Orientalism นั่นคือ ภาพอาหารเอเชีย มักถูกจัดองค์ประกอบภาพให้ดูแปลกตา เพิ่มสิ่งของประกอบฉากที่เน้นความแปลก และทำให้บ่อยครั้ง การถ่ายภาพอาหารนั้นถูกบิดเบือนให้ผิดเพี้ยนไปจากความจริง เช่นพ่อครัวคนดังคนหนึ่ง ถึงกับเคยนำเสนอเมนูซี่โครงทอดแบบชาวฟิลิปปินส์ ด้วยการจัดวาง “ตะเกียบ” ไว้ข้างๆ จานอาหาร ทั้งที่ชาวฟิลิปปินส์ไม่นิยมกินอาหารชนิดนี้ด้วยตะเกียบ หรือการวางตะเกียบอย่างผิดที่ผิดทาง เช่นเอาทิ่มลงไปในข้าว ฯลฯ Purdy เห็นว่า การวางตะเกียบไว้คู่กับเมนูอาหารตะวันออกนั้นก็คือการมองภาพลักษณ์ของชาวตะวันออกแบบ Orientalism คือเห็นว่าอาหารตะวันออกทุกเมนู ทุกชาติ ล้วนแล้วแต่ต้องกินด้วยตะเกียบทั้งสิ้น ทั้งที่นั่นไม่ใช่ความจริงแต่อย่างใด (อย่างไรก็ตาม ในข้อเขียนชิ้นนี้ Purdy เองก็แสดงความไม่รู้หรือรู้ไม่พอออกมาอย่างน่าขัน เมื่อเขายืนยันว่าคนไทยนั้นไม่นิยมกินผัดไทยด้วยตะเกียบ) ที่น่าสนใจคือ เมื่อเราค้นภาพเมนูอาหารของชาวตะวันออก อย่าง “เฝอ” ในอินเตอร์เน็ต เราจะพบว่าภาพชามเฝอส่วนใหญ่มักถูกประดิดประดอยด้วยอุปกรณ์ต่างๆ นานาประกอบฉากอย่างล้นเกิน อันแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าผู้ถ่ายต้องการเน้นความ exotic ขณะที่อาหารประจำวันของชาวตะวันตกอย่างสปาเก็ตตี มักถูกบันทึกภาพอย่างเรียบง่ายปราศจากสิ่งของตกแต่งประกอบฉากใดๆ ความแตกต่างนี้แสดงให้เห็นถึงมุมมองและความคิดของชาวตะวันตก ที่ยังคงถูกครอบงำด้วยกรอบคิดแบบ Orientalism อย่างเหนียวแน่น ภาพเฝอ (สามแถวบน) และสปาเก็ตตี (สามแถวล่าง) สังเกตการแต่งภาพเฝอด้วยอุปกรณ์ประกอบฉากนานาชนิด