บรรณาลัย / โชติช่วง นาดอน
‘นามโคตรตระกูล’คนไท
เครือเฮือน – เจ้อเคอ(เชื้อเครือ) : สายสกุลคนไทใหญ่
“นามสกุล” ของพลเมืองในประเทศไทยเริ่มมีใช้กันในสมัยรัชกาลที่หก
แต่ก็มิใช่ว่า ในสมัยโบราณ คนไทยในประเทศและคนไทนอกประเทศไทยจะไม่มีการนับสายสกุลกันเลย
ชาวไทใหญ่เรียกสายสกุลว่า “เจ้อเคอ หรือ เครือเฮือน”
ชาวไทในเวียดนามเรียกสายสกุลว่า “สิง” คำว่า “สิง” นี้น่าจะมาจากคำว่า “ซิ่ง 姓” ที่คนไทยรู้จักดีในความหมายว่า “แซ่ – สกุล”
ม.ร.ว คึกฤทธิ์ ปราโมช เขียนถึงเรื่อง “เครือเฮือน” ชาวไทใหญ่ไว้ว่า
“ผมเองก็เคยนึกว่าคนไทยไม่มีแซ่
แต่เมื่อคืนวานซืนนี้ มีคนไทที่เขามาจากเมืองแจ้ฝาง (คนไทที่นั่นมีชื่อเรียกกันหลายชื่อ เช่น ไทมาว , ไทแข่ , ไทบก , ไทเหนือ....ทองแถม นาถจำนง) ซึ่งอยู่ในประเทศจีนเหนือเมืองแสนหวีขึ้นไป เขามาคุยด้วยที่บ้าน
เขาบอกว่า คนไทในแถบนั้นก็มีอะไรที่ใช้เหมือนกับแซ่ของจีนเหมือนกัน
แซ่ของคนไทนั้นเรียกว่า “เครือเฮือน”
ออกสำเนียงภาษาไทยภาคกลางว่า เครือเรือน
หมายถึงคนที่มีเชื้อสายว่านเครืออยู่ในเรือนเดียวกัน ดั้งเดิมสืบเนื่องมาจากคนที่แม่เดียวกัน ถึงเดี๋ยวนี้จะมีจำนวนมากขึ้นและกระจัดกระจายกันออกไป ก็ยังถือว่าเป็นเครือเฮือนเดียวกันอยู่นั่นเอง
มีความผูกพันกันต้องช่วยเหลือกันในยามทุกข์ยาก
และดูเหมือนคนเครือเฮือนเดียวกันจะไม่แต่งงานกัน เช่นเดียวกับที่คนจีนแซ่เดียวกันเขาไม่แต่งงานกัน
ชื่อเครือเฮือนของไทแถบนั้นมีอยู่หลายชื่อ เท่าที่ทราบก็มี
เครือเฮือนคำ
เครือเฮือนเงิน
และเครือเฮือนเสือ
คำว่าคำ ซึ่งแปลว่าทอง เงินและเสือ เหล่านี้เป็นนามแซ่ เหมือนกับนามแซ่ในภาษาจีนที่มีว่า ตัน ลิ้ม หลี และอื่นๆ” ( “สยามรัฐหน้า ๕” วันที่ ๑๓ มีนาคม ๒๕๑๔ )
“แจ้ฝาง” เดี๋ยวนี้อยู่ในเขตอำเภอเต๋อหง มณฑลยูนนาน คำว่า “เต๋อหง” แผลงไปจากคำไท “ใต้คง” (ใ-ไม้ม้วน เสียงก้ำกึ่งระหว่าง ไอกับเออ) แปลว่า ตอนใต้ของแม่น้ำคงหรือแม่น้ำสาละวิน คนไทที่นั่นคือ “ไทมาว” (ลุ่มแม่น้ำมาว) เมืองมาวหลวงเป็นต้นสายของ ไทอาหม และไทกลุ่มต่างๆ ในรัฐอัสสัมและพม่าตอนเหนือ แจ้ฝางเป็นเขตหนึ่งของเมืองมาวหลวง
คำว่า “แจ้” ในประเทศไทย เป็นชื่อสถานที่หลายแห่ง เช่น แจ้ห่ม แจ้ซ้อน
โดยส่วนตัวแล้ว ข้าพเจ้าคาดว่า น่าจะเป็นศัพท์เรียกภูมิสถาน
ซึ่งก็มาพบร่องรอยคำศัพท์นี้ทางกลุ่มชาติพันธุ์ไท ในเวียดนาม
ในหนังสือ “ทฤษฎีบ้านเมือง ศาสตราจารย์คำจอง กับการศึกษาชนชาติไท” (ฉัตรทิพย์ นาถสุภา บรรณาธิการ) อธิบายพัฒนาการจาก “บ้าน” เป็น “เมือง” ของกลุ่มชาติพันธุ์ไทในเวียดนามไว้อย่างดีมาก
“แช่” หรือ “แจ้” ในภาษาไทดำ หมายถึง พื้นที่ซึ่งมีถนนที่ตัดไปสู่เวียง มีป้อมสังเกตการณ์เป็นระยะๆ
ศาสตราจารย์คำเจือง บรรยายไว้ว่า
“เมือง เป็นองค์กรทางสังคมที่มีอาณาเขตดินแดนที่จำกัด เรียกว่าดินเมือง คือที่ดินของเมือง มีคำกล่าวทั่วไปว่า
ดินเมืองแต่ชั่วด้ำ
ดินน้ำแต่ชั่วลาง (ลาง = อดีต ?)
1. เมืองเล็กเรียกว่า เมืองแกวน (คือคำเดียวกับ กว้าน , กวน , ควน....ทองแถม) ปกครองโดยท้าว ใหญ่ขึ้นไปเรียกว่าเมืองเพีย (มีตัวอย่างชื่อเมืองเพีย เป็นเมืองโบราณ อยู่ในเขตอำเภอบ้านไผ่....ทองแถม) หัวหน้าคือเพียเมือง เมืองเพีย 5 เมือง เป็นหนึ่งเจาเมือง หัวหน้าคือเจ้าเมือง เรียกว่าอาญา หรืออาญาเจ้าเมือง หัวหน้าของเมืองแกวน เมืองเพีย เจาเมือง มาจากตระกูลเจ้านายไท ลอ , วีคำ , หาคำ
2. ที่ตั้งการปกครองเจาเมือง คือเมืองเพียที่ตั้งอยู่ตรงกลางของกลุ่มเมืองเพียนั้นๆ เรียกว่าเมืองกวง คือเมืองที่อยู่ตรงกลาง ขณะที่เมืองเพียที่อยู่รอบๆ เมืองตรงกลางเรียกว่า เมืองนอก คือเมืองที่อยู่ข้างนอก ศูนย์กลางของเมืองกวงคือบ้าน เรียกว่าเชียง
เชียง คือแกนกลางของเจาเมือง และล้อมรอบด้วยเมืองนอก ปกติแล้วเชียงจะมีกำแพงพูนดินล้อมรอบเพื่อการป้องกันเรียกว่าเวียง ถนนที่ตัดไปสู่เวียง มีป้อมสังเกตการณ์เป็นระยะๆ เรียกว่า แช่ เชียงเป็นศูนย์กลางเจาเมือง แต่คำว่าเชียงนี้ บ่อยครั้งใช้ในความหมายขยาย หมายถึงบริเวณเจาเมืองทั้งหมด เช่น เชียงจูหมายถึงเมืองฮวาง เชียงไหว้หมายถึงเมืองไล เชียงฟ้าหรือเชียงดีคือเมืองหม้วย เชียงดงคือเมืองมวก ฯลฯ”
มีข้อมูลภาคสนามเรื่องเกี่ยวกับ “เครือเฮือน” เพิ่มเติมอีกหน่อย ข้าพเจ้าคัดมาจากหนังสือเรื่อง “ชุมชนไทในพม่าตอนเหนือ : รัฐฉานตอนใต้ ภาคมัณฑะเลย์ และคำตี่หลวง” ตอนที่สอง “ชุมชนไทในตำตี่หลวง ฯ” จัดพิมพ์โดยสถาบันไทยคดีศึกษา ม.ธรรมศาสตร์ เขียนโดย รศ.สุมิตร ปิติพัฒน์ , ดร.ปริตตา เฉลิมเผ่า กออนันตกูล , รศ.ดร.เสมอชัย พูลสุวรรณ , รศ.ดร.วิไลวรรณ ขนิษฐานันท์ ดังนี้
“คำว่า ‘เคอ’ ในภาษาคำตี่อาจจะเป็นหน่วยที่สำคัญหน่วยหนึ่งของการจัดองค์กรทางสังคมของคำตี่ ผู้วิจัยสันนิษฐานว่าอาจจะมีลักษณะเป็นสายสกุล (Lineage) หรือกลุ่มตระกูลชนิดหนึ่ง แต่คงจะยังสรุปไม่ได้แน่นอนนักเนื่องจากมีข้อมูลเพียงเล็กน้อย
คำว่าเคอนี้ดูเหมือนจะใช้ในสองกรณี กรณีหนึ่งใช้กับชื่อเมือง เช่นเมื่อถามเจ้าน้อยว่าในหมู่บ้านปางแลงนี้มีกี่เคอ เจ้าน้อยตอบว่ามีหลายเคอและบรรยายว่ามีเคอลูกขุน ลางเหนือ หม่านเหนือ หม่านเจ้ขุน เมืองหยัก และลางเต้อ ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นชื่อเมืองที่มีเจ้าฟ้าของคำตี่ และกล่าวด้วยว่าในปางแลงนี้มีพวกเคอลูกขุนและลางเหนือมาก การมีเคอลูกขุนมากก็น่าจะเข้าใจได้ เนื่องจากหมู่บ้านปางแลงนี้ขึ้นอยู่กับเจ้าฟ้าลูกขุน ดังนั้นการใช้ “เคอ” ในกรณีนี้ ดูจะเป็นการระบุอัตลักษณ์ (Identity) โดยอาศัยชื่อของเจ้าฟ้าแต่ละเมืองเป็นหลักและอาจจะมีนัยว่าเป็นผู้ที่สืบเชื้อสายมาจากตระกูลเจ้าฟ้าเหล่านี้ด้วย เนื่องจากคำว่า “เคอ” นี้ เป็นส่วนหนึ่งของสำนวนว่า
“เจ้อเคอ” ซึ่ง “เจ้อ” แปลว่า เมล็ดพันธุ์ ส่วน “เคอ” แปลว่า สาย “เจ้อเคอ” ก็น่าจะมีความหมายใกล้เคียงกับเชื้อสาย
แต่ในอีกกรณีหนึ่ง “เคอ” อาจจะระบุด้วยชื่อหมู่บ้าน เช่น เป็นเคอหม่านซาย หม่านผาย ในที่หนึ่ง เจ้าน้อยอธิบายว่า คนที่เรียกตัวเองว่าเป็น “เคอลูกขุน” เป็นลูกหลานเจ้าฟ้า ส่วนชาวบ้านทั่วไปจะระบุเคอของตนเองด้วยชื่อหมู่บ้าน
ผู้วิจัยคิดว่า ในเรื่อง “เคอ” นี้ น่าจะตั้งเป็นสมมติฐานสำหรับการศึกษาต่อไปว่า “เคอ” อาจจะมีลักษณะเป็นสายสกุล(Lineage) ประเภทหนึ่ง คนที่อยู่ในเคอเดียวกันมีความสัมพันธ์ทางเครือญาติ ซึ่งอาจจะทั้งนับได้จริงและนับเชิงตำนานด้วย ผู้วิจัยไม่มีโอกาสได้ถามว่าหน่วยที่ใหญ่กว่าเคอนั้นคืออะไร เป็นไปได้ว่าหน่วยที่ใหญ่ที่สุดตามแบบประเพณีอาจจะเป็นหน่วยที่สืบเชื้อสายมาจากบรรพบุรุษคนเดียวกันคือเจ้าสามหลวง หน่วยนี้อาจจะเป็นหน่วยของคำตี่ทั้งหมดก็ได้
การสืบเคอของแต่ละคนนั้นสืบทางพ่อ และเคอของชาวไทคำตี่มีลักษณะที่สืบเชื้อสายจากบรรพบุรุษร่วมกันก็จะเป็นหน่วยที่มีลักษณะเป็น exogenous คือไม่แต่งงานกับคนที่เป็นญาติทางพ่อ”
.........................................
ในความเห็นของข้าพเจ้า “เจ้อเคอ” ก็คือ เชื้อเครือ นั่นเอง
ภาพ : ไทคำตี่