แม้ฝุุ่นจิ๋วช่วงนี้จะพักยก แต่หมดฝนเมื่อใด มาทันทีและปีนี้มาไวมาก นพ.มนูญ ลีเชวงวงศ์ แพทย์เฉพาะทางด้านโรคระบบการหายใจ ผู้ป่วยหนัก และโรคผู้สูงอายุ โรงพยาบาลวิชัยยุทธ และประธานชมรมเชื้อราทางการแพทย์ประเทศไทยได้โพสต์ผ่านเพจ “หมอมนูญ ลีเชวงวงศ์ FC” ให้มุมมองถึงเรื่องฝุ่น PM 2.5 ซึ่งคุณหมอได้สรุปจากที่ได้รับเชิญจากกรมควบคุมมลพิษและกรมอนามัยให้พูดเรื่อง ”ผลกระทบต่อสุขภาพจากมลพิษทางอากาศ” เมื่อกลางเดือนส.ค.ที่ผ่านมา ว่า “PM 2.5 คือฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน ขนาด 1/25 ของเส้นผ่าศูนย์กลางของเส้นผม มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า อันตรายของ PM2.5 คือฝุ่นนี้ขนาดเล็กมาก สามารถทะลุผ่านถุงลมของปอดเข้าเส้นเลือดทำให้ผนังหลอดเลือดอักเสบ หลอดเลือดในหัวใจ สมองตีบตัน PM2.5 เป็นหนึ่งในหลายมลพิษทางอากาศที่ใช้ในการวัดดัชนีคุณภาพอากาศ (AQI).. คนไทยเริ่มกลัวฝุ่น PM2.5 หลังรับทราบข้อมูลจากองค์การอนามัยโลกที่พยายามทำให้คนทั้งโลกหวาดกลัวโดยคาดคะเนในปี 2562 จะมีคนเสียชีวิตทั้งโลกจากมลพิษทางอากาศทุกชนิดประมาณ 9 ล้านคน (ตัวเลขนี้สูงกว่าการตายจากอุบัติเหตุทางถนน โรคเอดส์ วัณโรค มาลาเรียรวมกัน!!) แบ่งเป็น 7 ล้านคนตายจากการสูบบุหรี่ อีก 7 ล้านคนตายจากมลพิษทางอากาศ (ดูกราฟ) ตัวเลขนี้เห็นได้ชัดว่ามีการคาบเกี่ยวกัน (overlap) ถ้าคิดเฉพาะคนไม่สูบบุหรี่ จะเหลือตายจากมลพิษทางอากาศ 2 ล้านคน การตายจากมลพิษทางอากาศยังแยกเป็นหายใจมลพิษร้อยละ 60 จากนอกบ้าน ร้อยละ 40 จากในบ้าน ถ้าคิดเฉพาะคนไม่สูบบุหรี่ตายจากมลพิษทางอากาศนอกบ้านจะเหลือตาย 1.2 ล้านคน บุหรี่อันตรายกว่ามลพิษทางอากาศนอกบ้านถึง 6 เท่า!! สำหรับประเทศไทยองค์การอนามัยโลกคาดคะเนคนไทยตายจากสูบบุหรี่ 5 หมื่นคน ตายจากมลพิษทางอากาศ 5 หมื่นคน ถ้ารวมกันตายจากมลพิษทางอากาศทุกชนิดประมาณ 6.4 หมื่นคน ถ้าคิดเฉพาะคนไม่สูบบุหรี่ตายจากมลพิษทางอากาศนอกบ้าน จะเหลือตายประมาณ 8,400 คน การตายจากมลพิษทางอากาศโดยเฉพาะฝุ่นขนาดเล็ก PM2.5 ต้องใช้เวลาเข้าไปสะสมในร่างกาย 10-20 ปี ไม่ใช่ตายทันที องค์การอนามัยโลกจัดสาเหตุการตายของมลพิษทางอากาศนอกบ้าน ร้อยละ 80 เกิดจากเส้นเลือดโคโรนารีย์ตีบตัน และเส้นเลือดในสมองตีบตัน ที่เหลือร้อยละ 20 ตายจากโรคทางเดินหายใจ เราก็ทราบเส้นเลือดตีบตันมีหลายสาเหตุ เช่น ไขมันสูง เบาหวาน ความดันโลหิตสูง กรรมพันธุ์ มลพิษทางอากาศเป็นอีกหนึ่งปัจจัยร่วมเท่านั้น ไม่ใช่สาเหตุหลัก
คนในประเทศที่มีค่าเฉลี่ยของ PM2.5 ต่ำอยู่ในเกณฑ์ขององค์การอนามัยโลก ส่วนใหญ่ก็ยังตายจากโรคหลอดเลือดหัวใจตีบตัน โรคหลอดเลือดสมอง คนไทยควรตื่นตัว แต่ไม่ควรตื่นตระหนกกับค่าฝุ่น PM2.5 มากเกินไป
การทำงานขององค์การอนามัยโลกปกติมักจะผ่อนปรนกับประเทศที่ยากจนและกำลังพัฒนา แต่ในกรณีของฝุ่น PM2.5 องค์การอนามัยโลกกลับทำตรงกันข้าม เข้มมากกับทุกประเทศ กำหนดค่าเฉลี่ย PM2.5 ใน24 ชั่วโมงให้ต่ำมาก ไม่เกิน 25 มคก./ลบ.ม ค่าเฉลี่ยรายปีไม่เกิน 10 องค์การอนามัยโลกเองยอมรับว่า ร้อยละ 90 ของประชากรโลกหายใจฝุ่น PM2.5 มากกว่าค่าเฉลี่ยที่องค์การอนามัยโลกกำหนดไว้ ขนาดประเทศสหรัฐอเมริกายังไม่ทำตามองค์การอนามัยโลกเขากำหนดค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมงไม่เกิน 35 ค่าเฉลี่ยรายปีไม่เกิน 15 สำหรับประเทศไทยเรากำหนดค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมงไม่เกิน 50 ค่าเฉลี่ยรายปีไม่เกิน 25 ซึ่งเหมาะสมกับสถานการณ์ในปัจจุบัน การวัด PM2.5 ในไทยโดยเฉพาะกทม.เพิ่งทำมา 8 ปี และทำเพียง 6 สถานี ในระยะเวลา 8 ปีที่ผ่านมา ค่า PM2.5 เกินมาตรฐานทุกปีช่วงต้นเดือนธันวาคมถึงปลายเดือนมีนาคม ปัญหาฝุ่น PM2.5 มีมานานแล้ว ไม่ใช่เพิ่งเกิด และก็ไม่ได้แย่ลง เรากำลังจะมีสถานีตรวจ 50 สถานีในกทม.50 เขตในไม่ช้า ต้นกำเนิดหลักๆของ PM2.5 คือ 1 .ไอเสียจากรถยนต์ โดยเฉพาะดีเซล เป็นสาเหตุหลัก 2 ฝุ่นจากการก่อสร้างขนาดใหญ่ ปล่องโรงงานอุตสาหกรรม3 การเผาในที่โล่ง ค่า PM2.5 เกินค่ามาตรฐานเมื่อ 1 มีการปล่อย PM 2.5 จากแหล่งกำเนิดเพิ่มขึ้น2 สภาพภูมิอากาศ ลมสงบ มีการผันกลับของอุณหภูมิ (temperature inversion)ทำให้ความกดอากาศสูง อากาศปิด ฝุ่น PM2.5 ลอยขึ้นสูงไม่ได้ สะสมในอากาศเพิ่มขึ้น
การแก้ปัญหาฝุ่นด้วยการตั้งเครื่องฉีดพ่นละอองน้ำจากอาคารสูง จากรถ จากโดรนบินฉีดพ่นน้ำเพื่อจับฝุ่น เหมือนกับการขี่ช้างจับตั๊กแตน ได้ไม่คุ้มเสีย แก้ปัญหาฝุ่นแค่พื้นที่เล็กๆบริเวณที่ฉีดเท่านั้น นอกจากนี้ มีอันตรายจากการหายใจละอองน้ำปนเปื้อนด้วยเชื้อโรคเข้าปอด เกิดปอดติดเชื้อ เนื่องจากเชื้อโรคที่อยู่ในธรรมชาติไปเกาะที่หัวฉีดน้ำ
คนไทยต้องให้ความร่วมมือลดการปล่อยมลพิษทางอากาศ ดูแลสภาพรถ ไม่ปล่อยควันดำ ไม่เผาทุกอย่างโดยไม่จำเป็น รวมทั้งเผาธูป กระดาษเงินกระดาษทอง ในวันที่ฝุ่น PM2.5 สูงเกินค่ามาตรฐาน แนะนำให้กลุ่มเสี่ยงคือ 1เด็กเล็ก 2ผู้หญิงตั้งครรภ์ 3คนสูงอายุ 4คนที่มีโรคเรื้อรัง โรคภูมิแพ้ทางจมูก โรคหอบหืด โรคถุงลมโป่งพอง โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคเส้นเลือดหัวใจตีบ โรคหลอดเลือดในสมองตีบ ใส่หน้ากากอนามัยเวลาออกนอกบ้าน ใส่หน้ากาก N95 ระยะสั้นๆ ใส่นานไม่ไหวเพราะอึดอัด งดออกกำลังกายนอกบ้าน ปฏิบัติตามคำแนะนำกรมควบคุมมลพิษ และกรมอนามัย ควรติดตามแอพพลิเคชัน Air4Thai ของกรมควบคุมมลพิษ ไม่จำเป็นต้องซื้อเครื่องวัด PM 2.5 แบบพกพาเพราะไม่แม่นยำ”