อบจ.แพร่ พัฒนากลุ่มเกษตรกรผลิตปุ๋ยอินทรีย์จากซังข้าวโพดลดหมอกควัน “อบจ.แพร่ ได้ร่วมกันหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาภาวะหมอกควันของ จ.แพร่ โดยจัดโครงการพัฒนากลุ่มเกษตรกรการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพจากซังข้าวโพดเพื่อลดภาวะโลกร้อนให้แก่ประชาชนชาวแพร่” วัฒนา ผาทอง จ.แพร่ กำหนดหยุดวิกฤติหมอกควัน ปี 2560 ตั้งแต่ วันที่ 15 กุมภาพันธ์ – 15 เมษายน 2560 หรือ 60 วันอันตรายห้ามเผาโดยเด็ดขาด โดยมีการสนธิกำลังทุกภาคส่วน โดยประชารัฐ ร่วมมือ ร่วมใจ เพื่อเมืองแพร่ฟ้าใส ไร้หมอกควัน ซึ่ง จ.แพร่มีเป้าหมาย กำหนดจำนวนวัน ปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็กเกินค่าเกณฑ์มาตรฐานลดลง ร้อยละ 30 จากค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 3 ปี หรือไม่เกิน 12 วัน จำนวนจุดความร้อน (Hotspots) ลดลงร้อยละ 30 จากค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 3 ปี หรือไม่เกิน 376 จุด พื้นที่ถูกไฟไหม้ลดลงจากปี 2559 ไม่น้อยกว่าร้อยละ 30 หรือไม่เกิน 2449 ไร่ โดยมีมาตรการห้ามเผาพื้นที่ป่า ขยะมูลฝอย เศษกิ่งไม้ ใบไม้ ในทุกพื้นที่ ตลอดจนห้ามจุดไฟเผาบริเวณสองข้างทางและพื้นที่ทางการเกษตร ให้จัดทำแนวกันไฟและบริหารจัดการเชื้อเพลิงในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ พื้นที่การเกษตร พื้นที่ริมทาง และพื้นที่เสี่ยงต่อการเผา ก่อนถึงช่วงวิกฤติหมอกควัน ให้จัดการวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรโดยการไถกลบ หรือนำกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ เช่น ทำปุ๋ยหมัก อัดแท่งเป็นอาหารสัตว์ นำมาผลิตเป็นก่อนเชื้อเพลิง ชีวมวล ให้ทุกหน่วยงานระดมสรรพกำลังในการประชาสัมพันธ์ รณรงค์ เฝ้าระวัง ป้องกันและลาดตระเวนพื้นที่อย่างเข้มข้น ในช่วงวิกฤติหมอกควัน องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) แพร่ ภายใต้การบริหารงานของนายอนุวัธ วงศ์วรรณ์ นายก อบจ.แพร่ พร้อมคณะผู้บริหาร และสมาชิกสภา อบจ.แพร่ ได้ร่วมกันหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาภาวะหมอกควันของ จ.แพร่ โดยจัดโครงการพัฒนากลุ่มเกษตรกรการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพจากซังข้าวโพดเพื่อลดภาวะโลกร้อนให้แก่ประชาชนชาวแพร่ โดยได้มอบหมายให้นายวัฒนา ผาทอง รองนายก อบจ.แพร่ เข้าไปกำกับดูแลในเรื่องนี้ เพื่อให้โครงการดังกล่าวเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และแก้ไขได้อย่างแท้จริง นายวัฒนา กล่าวว่า ใน จ.แพร่ มีเกษตรกรที่ทำอาชีพการปลูกข้าวโพดเป็นจำนวนไม่น้อย โดยเฉพาะพื้นที่ อ.ร้องกวาง หลังเก็บเกี่ยวก็จะมีวัสดุเหลือใช้ เช่น เปลือกและตอซังข้าวโพดเป็นจำนวนมาก ก่อนหน้านั้นการกำจัดก็คงหนีไม่พ้นการเผา เป็นการกำจัดที่ง่ายแต่ไม่ได้รับผิดชอบต่อสังคมมากนัก จึงส่งผลทำให้เกิดมลภาวะทางอากาศและหมอกควัน กระทบต่อระบบนิเวศการเกษตรและทางธรรมชาติ และที่สำคัญคือ เรื่องสุขภาพของประชาชนชาวแพร่โดยตรง ในปีหนึ่งๆ จะมีผู้ที่ได้รับผลกระทบเป็นจำนวนมาก “ดังนั้นเพื่อการส่งเสริมให้พี่น้องชาวแพร่ ที่เป็นเกษตรกรที่ปลูกข้าวโพดได้ปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตในการประกอบอาชีพมาเป็นแบบเกษตรอินทรีย์ และที่สำคัญที่สุดคือ การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและระบบนิเวศการเกษตร โดยเฉพาะอย่างยิ่งการฟื้นฟูความอุดมสมบูรณ์ของดิน จากแนวคิดหลักพื้นฐานของเกษตรอินทรีย์ ที่มุ่งเน้นการทำการเกษตรที่อนุรักษ์และฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม เพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาในการกำจัดวัสดุเหลือใช้ และไม่ก่อมลภาวะสามารถนำกลับมาใช้ประโยชน์และเป็นมิตรสิ่งแวดล้อมแทนการใช้ปุ๋ยเคมี” เพื่อให้การแก้ไขปัญหาดังกล่าวเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพจึงมีการให้ความรู้กับประชาชน ตามโครงการพัฒนากลุ่มเกษตรกรการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพจากซังข้าวโพดเพื่อลดภาวะโลกร้อนให้แก่ประชาชนชาวแพร่ ขึ้นที่สหกรณ์ร้องกวาง อ.ร้องกวาง โดยมี อบจ.แพร่ และตัวแทนจากหน่วยงานต่างๆ จัดโครงการพัฒนากลุ่มเกษตรกรการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพให้แก่เกษตรกร ประชาชนทั่วไป ใน จ.แพร่ กิจกรรมฝึกอบรมให้ความรู้ด้านเทคโนโลยีการผลิตปุ๋ยอินทรีย์จากซังข้าวโพดเพื่อลดภาวะโลกร้อนขึ้น เพื่อถ่ายทอดความรู้ให้เกิดความต่อเนื่องในการปฏิบัติและสามารถนำไปใช้ได้ในพื้นที่จริง และส่งเสริมให้เกษตรกร ลด ละเลิก การใช้สารเคมีในการเกษตร เกิดผลผลิตที่ปลอดภัยต่อสุขอนามัยของทั้งผู้ผลิต ผู้บริโภค และสิ่งแวดล้อม ทั้งยังเพิ่มรายได้จากการจำหน่ายผลผลิตที่มีคุณภาพแก่ผู้บริโภค ทั้งนี้ได้รับการอนุเคราะห์วิทยากรที่มาให้ความรู้ คือ คุณสาโรจน์ ปินกันทา นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรชำนาญการ ทำให้โครงการนี้ไปด้วยดี การรณรงค์ลดการเผาเพื่อแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควันของ จ.แพร่ ซึ่งทาง อบจ.แพร่ ตระหนักในความสำคัญของปัญหาดังกล่าว จึงได้มาสนับสนุนร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการนำเปลือกข้าวโพด ซังข้าวโพดที่เกษตรกรในพื้นที่และปล่อยทิ้งไว้เป็นจำนวนมาก ให้กลับมาใช้ประโยชน์และเป็นการลดภาวะหมอกควัน คาดว่าประชาชนจะมีการขยายแนวความคิดนี้ออกไปทั้งจังหวัดในโอกาสต่อไป ธีรพงษ์ ธงออน / แพร่