ปัจจุบันเทคโนโลยีได้เข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันเป็นอย่างมาก ส่งผลให้ความต้องการของประชาชนในเรื่องต่างๆเปลี่ยนแปลง บริการของรัฐรูปแบบเดิมไม่สามารถตอบโจทย์ความต้องการของประชาชนได้ทันท่วงทีอีกต่อไป แต่ในอีกแง่มุมหนึ่ง เทคโนโลยีก็เป็นพลังสำคัญในการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในการบริหารงานของภาครัฐ การสนับสนุนและเปิดโอกาสให้ภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการตรวจสอบการบริหารประเทศผ่านเทคโนโลยี จึงเป็นเทรนด์ที่หลายประเทศทั่วโลกกำลังผลักดันเช่น การพัฒนาเว็บไซต์ vTaiwan.tw ของประเทศไต้หวันในปี 2557 เพื่อให้มีช่องทางในการรวบรวมความคิดเห็นของประชาชนในการพัฒนานโยบายสาธารณะ สำหรับในอีกหลายประเทศเช่น เกาหลีใต้ สเปน และฝรั่งเศส ก็มีการนำเสนอโครงการ และให้ประชาชนโหวตคะแนน รวมถึงเชิญผู้เชี่ยวชาญมาร่วมระดมสมอง จากนั้นจึงเลือกแนวคิดที่ดีมาใช้ปฏิบัติจริง หรืออีกหนึ่งประเทศ ที่ไอซ์แลนด์ ได้ปรับปรุงร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งหมดและเปิดเผยสู่สาธารณชนผ่านเครือข่ายออนไลน์ ตลอดจนการสร้างแพลตฟอร์ม ‘Development Check’ ของประเทศอาร์เมเนีย เพื่อให้ประชาชนมีช่องทางในการตรวจสอบสิ่งที่ประชาชนสนใจและต้องการแก้ปัญหา เช่น การสร้างโรงเรียนในชุมชน โดยใช้แนวทางการตรวจสอบที่ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าใจได้ง่าย เช่น จำนวนเก้าอี้ที่สั่งซื้อ เป็นต้น ทั้งนี้ย้อนกลับมาดูในประเทศไทยพบว่า ประเทศไทยมีความพยายามนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อการพัฒนาในหลายด้าน หนึ่งในนั้นก็คือ ด้านการพัฒนากระบวนการยุติธรรม สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) จึงได้ริเริ่มโครงการ Project j ตั้งแต่ปี 2561ภายใต้แนวคิด “เรื่องเก่าเราทำใหม่” และได้เปิดพื้นที่ jX Justice Experiment ขึ้นให้เป็นพื้นที่ทดลองนำเทคโนโลยีมาเป็นเครื่องมือในการพัฒนากระบวนการยุติธรรม (Tech for Justice) โดยที่ผ่านมา TIJ ได้เชิญผู้เชี่ยวชาญทั้งในและต่างประเทศเข้าร่วมเสวนาแลกเปลี่ยนประเด็นเกี่ยวกับการนำเทคโนโลยีมาแก้ปัญหาความยุติธรรมในแง่มุมต่างๆเช่น เทคโนโลยี Blockchain และการประยุกต์ใช้ในการส่งเสริมความยุติธรรม Open Data และ AI เพื่อความยุติธรรมที่ประชาชนมีส่วนร่วม และการซักฟอกข้อมูลต่อต้านการแสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบ ซึ่งการเสวนาที่ผ่านมาล้วนเป็นจุดเริ่มต้นในการทำความเข้าใจเทคโนโลยีในแง่มุมต่างๆ เช่น สถานการณ์ปัจจุบัน ตัวอย่างที่ดีในการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการตรวจสอบ ทั้งหมดนี้เพื่อนำแนวคิดที่น่าสนใจมาคัดกรองให้เป็นต้นแบบ (Prototype)ในการนำมาทดลอง พัฒนา และขยายผลอย่างเป็นรูปธรรม จากการเสวนาระดมความคิดใน Project j นักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญจากหลายภาคส่วน ตลอดจนผู้สนใจที่เข้าร่วมงาน เห็นตรงกันว่า แนวทางแก้ปัญหาหนึ่งที่หลายประเทศในโลกกำลังพูดถึงและมุ่งเน้นคือ การให้ภาคประชาชนมีส่วนร่วมโดยเปิดเผยข้อมูลสาธารณะ (Open Data)เพราะจะช่วยเพิ่มความโปร่งใสให้แก่ทุกภาคส่วนที่ดำเนินงานเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์สาธารณะ และช่วยเพิ่มอำนาจให้ประชาชนได้เรียนรู้และตรวจสอบข้อมูลได้สะดวกมากขึ้น ทั้งนี้ด้วยนโยบายของ TIJ ที่ให้ความสำคัญในการเพิ่มพลัง และการเพิ่มอำนาจของทุกภาคส่วน โดยเฉพาะภาคประชาชนในการมีส่วนร่วมสร้างความโปร่งใส่และยกระดับประสิทธิภาพในการทำงานของภาครัฐเพื่อธรรมาภิบาลที่ดี(Good Governance) TIJ จึงผนึกกำลังกับสำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ(UNODC) สถาบัน ChangeFusion บริษัท OpenDream บริษัท Hand Social Enterprise องค์การต่อต้านคอร์รัปชั่น (ACT) และ Open Data Thailand จัดกิจกรรมเชิงปฏิบัติการ “Datathon: Organizing Data for Anti-Corruption”ในวันที่ 6 ก.ค.62 สำหรับในงานมีผู้เข้าร่วมปฏิบัติงานกว่า 60 คน จากหลากหลายภาคส่วน เช่น นักพัฒนาโปรแกรม นักวิทยาศาสตร์ข้อมูล อาสาสมัครผู้ดำเนินการอ่านและจัดระบบข้อมูล และผู้แทนจากหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง เพื่อร่วมสร้างฐานข้อมูลเปิด (Open Dataset) กิจกรรมดังกล่าวเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมปฏิบัติงานจริง ทั้งการอ่าน สกัด จำแนก และบันทึกรายละเอียดข้อมูลสาธารณะต่าง ๆ ในรูปแบบที่สามารถนำไปประมวลผลได้ (Machine-readable) ตามมาตรฐานข้อมูลเปิดนานาชาติ ถือเป็นกิจกรรมที่เน้นการปฏิบัติจริง ซึ่งต่อยอดจากการเสวนาที่จัดขึ้นในช่วงปลายปีที่ผ่านมา ดร.อณูวรรณ วงศ์พิเชษฐ์ ผู้อำนวยการสำนักยุทธศาสตร์และแผน สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า “กิจกรรมเชิงปฏิบัติการในครั้งนี้นับเป็นก้าวแรกของประเทศไทยในการดำเนินการนำข้อมูลสาธารณะมาเป็นเครื่องมือในการสร้างความโปร่งใส ให้ความรู้ และเพิ่มพลังประชาชนให้รู้เท่าทัน รวมถึงให้ประชาชนสามารถตั้งคำถามที่ดีกับสังคมได้ โดยกิจกรรมครั้งนี้อาศัยฐานข้อมูลเปิด (Open Dataset) ที่สามารถเข้าถึงได้อยู่แล้วผ่านอินเตอร์เน็ทมาเป็นฐานข้อมูลเริ่มต้น เช่น ข้อมูลคำพิพากษาศาลฎีกา ข้อมูลการชี้มูลของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้าง โดยผู้เข้าร่วมช่วยกันนำข้อมูลดังกล่าวมาคัดแยก และทำให้อยู่ในมาตรฐานเดียวกัน เพื่อให้สามารถนำไปประมวลผลและสร้างความเชื่อมโยงได้ ขณะที่ฐานข้อมูลที่ได้จากกิจกรรมเชิงปฏิบัติการครั้งนี้จึงถือเป็นฐานข้อมูลแรกของไทยที่จะถูกจำแนกอย่างเป็นระบบ และมีมาตรฐานในการจัดเก็บข้อมูลเพื่อสร้างระบบเชื่อมโยงข้อมูล รวมถึงแปรข้อมูลให้เห็นเป็นภาพ (Data Visualization) ซึ่งนอกจากจะช่วยให้ภาคประชาชนและสื่อมวลชนตรวจสอบการดำเนินงานของภาครัฐและภาคเอกชนได้อย่างเป็นรูปธรรม ยังช่วยส่งเสริมและยกระดับการเข้าถึงความยุติธรรมของประชาชนผ่านเทคโนโลยีที่ประชาชนมีส่วนร่วม จากความพยายามในการจัดทำระบบเปิดเผยข้อมูลสู่สาธารณชนครั้งนี้ TIJ หวังว่า สังคมไทยจะมีเครื่องมือสำคัญในการสร้างความความโปร่งใส และเพิ่มช่องทางที่จะทำให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการตรวจสอบการบริหารประเทศได้มากขึ้น อย่างไรก็ตามการสร้างฐานข้อมูลเพื่อเฝ้าระวังการทุจริตครั้งนี้ เป็นเพียงแค่จุดเริ่มต้นในการสร้างต้นแบบการทำงาน และสร้างกระบวนการทำงานอย่างมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ทั้งผู้เกี่ยวข้องในหน่วยงานยุติธรรม ภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน โดยเฉพาะในเรื่องการนำเทคโนโลยีมาพัฒนาระบบงานยุติธรรมให้มีความโปร่งใส ทุกภาคส่วนสามารถเข้าถึงข้อมูลสาธารณะได้อย่างสะดวก TIJ หวังเป็นอย่างยิ่งว่าการดำเนินงานดังกล่าวอย่างเป็นรูปธรรมจะช่วยยกระดับให้หลักนิติธรรมให้เกิดขึ้นจริงทั้งในระดับองค์กร สังคม และประเทศต่อไป