เป็นโรคหัวใจ ที่ชื่อไม่ค่อยคุ้น แต่พบบ่อยตั้งแต่เด็ก นพ.เกรียงไกร เฮงรัศมี ผู้อำนวยการ รพ.หัวใจกรุงเทพ และในฐานะอายุรแพทย์โรคหัวใจ ชำนาญด้านหัตถการปฏิบัติรักษาโรคหัวใจและหลอดเลือดกล่าวว่า โรคหัวใจแต่กำเนิดชนิดผนังกั้นหัวใจห้องบนรั่ว (ASD:Atrial Septal Defect Secundum trype) เกิดจากการที่มีรูรั่วบริเวณผนังกั้นหัวใจห้องบน ส่งผลให้เลือดแดงไหลจากหัวใจห้องบนซ้ายไปห้องบนขวาเพิ่มขึ้น ส่งผลให้หัวใจมีโอกาสโตเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ในเด็กเล็กอาจจะไม่ปรากฏอาการ แต่เมื่ออายุเพิ่มขึ้น จะมีอาการหรือบางรายตรวจพบจากการตรวจเช็กสุขภาพด้านหัวใจ ซึ่งอายุรแพทย์หัวใจจะฟังได้ยินเสียงหัวใจที่ผิดปกติ ผู้ป่วยมาพบแพทย์ด้วยอาการเหนื่อยง่าย ใจสั่น หรือบางรายมาด้วยอาการของโรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) โรคหัวใจแต่กำเนิดชนิดผนังกั้นหัวใจห้องบนรั่วชนิดSecundum type พบได้ประมาณ 75% ของผู้ป่วยโรคหัวใจแต่กำเนิดชนิดผนังกั้นหัวใจห้องบนรั่วทั้งหมด การตรวจวินิจฉัยโรค ทำได้โดยการฟังเสียงหัวใจและการตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียงสะท้อนหัวใจความถี่สูง (Echocardiogram) ที่ได้รับความนิยมมี 2 แบบ ได้แก่ 1)การทำผ่านทางผนังหน้าอก (Transthoracic Echocardiogram) ผู้ป่วยไม่ต้องเตรียมตัวมาก สะดวก ภาพให้รายละเอียดได้ดี แต่หากผู้ป่วยมีผนังหน้าอกหนา ผนังหน้าอกผิดรูป หรือช่องระหว่างซี่โครงแคบอาจได้ภาพที่ไม่ชัดเจนควรตรวจในลักษณะส่องกล้องจะแน่ชัดกว่า 2)การส่องกล้องผ่านทางหลอดอาหาร (Transesophageal Echocardiogram) เป็นการตรวจหัวใจจากด้านในทางเดินอาหารที่อยู่ด้านหลังหัวใจเพื่อให้ได้ภาพการเคลื่อนไหวของหัวใจที่ชัดเจน ช่วยให้การวินิจฉัยได้ชัดเจนและต้องทำในทุกรายก่อนส่งผู้ป่วยมาปรึกษา ในส่วนของการรักษาโรคผนังกั้นหัวใจห้องบนรั่วชนิดSecundum type(รอยรั่วตรงกลางผนัง) หากผู้ป่วยมีรูรั่วขนาดเล็กมาก มีโอกาสที่รูจะปิดได้เอง แต่ก็เป็นเพียงส่วนน้อย ซึ่งหากรูที่รั่วมีขนาดเล็กและไม่มีอาการหรือส่งผลกระทบกับชีวิตประจำวันอาจไม่ต้องรักษาเพิ่มเติม แต่หากรูที่รั่วนั้นมีขนาดปานกลางตั้งแต่ 1 เซนติเมตรจนถึง 3 เซนติเมตรขึ้นไป ซึ่งถือเป็นรูขนาดใหญ่ ต้องมาพบอายุรแพทย์โรคหัวใจเพื่อตรวจเช็กหัวใจโดยละเอียด ในรายที่มีลักษณะรูรั่วที่เหมาะสม แพทย์สามารถรักษาด้วย เทคนิคสายสวนโดยไม่ต้องผ่าตัด (Transcatheter ASD Closure) โดยนำอุปกรณ์ที่เป็นโลหะ เข้าไปปิดรูรั่วระหว่างผนังกั้นห้องหัวใจผ่านทางสายสวนหัวใจโดยนำเข้าทางหลอดเลือดดำที่ขาหนีบขา เมื่อถึงบริเวณรูรั่วอุปกรณ์จะถูกปล่อยไปวางยังตำแหน่งรูรั่วเพื่อปิดรูที่รั่ว หลังจากนั้นร่างกายจะค่อยๆ สร้างเนื้อเยื่อขึ้นมาคลุมภายใน 3 - 6 เดือน โดยอุปกรณ์ที่เลือกใช้จะขึ้นอยู่กับลักษณะและขนาดของรูรั่วเป็นสำคัญ วิธีนี้มีข้อดีคือ ลดความเสี่ยงและลดความเจ็บปวดจากการผ่าตัด ช่วยให้แผลเล็ก ใช้เวลาพักฟื้นไม่นาน ประมาณ 48 ชั่วโมง ผู้ป่วยฟื้นตัวเร็ว หลังรักษาผู้ป่วยต้องเข้ารับการตรวจติดตามผลด้วยการตรวจเอคโคหัวใจ หรือตรวจหัวใจด้วยเครื่องสะท้อนเสียงความถี่สูง (Echocardiogram) เป็นระยะๆ ทุก 1 เดือน 3 เดือน 6 เดือน และ 1 ปี จากการติดตามผู้ป่วยหลังการรักษา แพทย์จะนัดติดตามอาการผู้ป่วยเป็นระยะๆ โดยตรวจเครื่องสะท้อนเสียงความถี่สูง (Echocardiogram) เป็นระยะๆ ซึ่งผลการรักษาพบว่าเทคนิคสายสวนนี้สามารถปิดรูรั่วได้ สำเร็จประมาณ 98% และพบภาวะแทรกซ้อนน้อยกว่า 2% การดูแลตัวเองของคนไข้หลังผ่าตัดคือ งดยกของหนักประมาณ 1 เดือน งดออกกำลังกายหนักๆ ในช่วงระยะ 3 เดือนแรก รับประทานยาต้านเกล็ดเลือดตามที่แพทย์สั่ง คุมกำเนิดเป็นเวลา 1 ปี สำหรับผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์ รวมถึงกินยาป้องกันการติดเชื้อ (Infective endocarditis prophylaxis) ในช่วง 6 เดือนแรก อย่างไรก็ตาม การรักษาโรคหัวใจแต่กำเนิดชนิดผนังกั้นหัวใจห้องบนรั่วด้วยเทคนิคสายสวนโดยไม่ต้องผ่าตัด ไม่สามารถทำได้ทุกราย ขึ้นอยู่กับขนาด ลักษณะกายวิภาค และพยาธิสภาพของรูรั่วระหว่างผนังกั้นห้องหัวใจของผู้ป่วยแต่ละราย เช่น ถ้ารูที่รั่วมีขนาดมากกว่า36มิลลิเมตร หรือมีรูรั่วหลายรู ในรายที่มีโรคหัวใจอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น ลิ้นหัวใจรั่ว ก็ต้องพิจารณาร่วมกับศัลยแพทย์ทรวงอกเพื่อผ่าตัดรักษาต่อไป ทั้งนี้ เนื่องในวันหัวใจโลก 2562 และครบรอบ 14 ปี โรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพ ได้จัดงานWorld Heart Day:BE A HEART HERO เปิดตัวโครงการรักษาผู้ป่วยโรคหัวใจแต่กำเนิดชนิดผนังกั้นหัวใจห้องบนรั่วผ่านสายสวนโดยไม่ต้องผ่าตัด (Transcatheter ASD Closure) ให้กับผู้ป่วย โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ซึ่งมูลนิธิเวชดุสิต ในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์  โดยการกำกับดูแลของบริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) ร่วมกับโรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพ รักษาผู้ป่วยโรคหัวใจแต่กำเนิด ชนิดผนังกั้นหัวใจห้องบนรั่ว 14 ราย