นางสมาดาร์ ชาพีรา รองหัวหน้าคณะผู้แทนทางการทูต สถานเอกอัครราชทูตอิสราเอลประจำประเทศไทย นับตั้งแต่การก่อตั้งประเทศเมื่อ พ.ศ.2491 อิสราเอลเผชิญกับความท้าทายต่างๆเป็นจำนวนมาก ทั้งด้านภูมิรัฐศาสตร์และทรัพยากรธรรมชาติที่จำกัด พื้นที่สองในสามของอิสราเอลเป็นทะเลทราย ทั้งยังขาดแคลนแหล่งน้ำทางธรรมชาติ รวมถึงต้องประสบกับภัยแล้งต่อเนื่องเป็นเวลาหลายปี ถึงแม้ว่าอิสราเอลต้องเผชิญกับข้อจำกัดทางธรรมชาติหลากหลาย แต่ในปัจจุบัน อิสราเอลสามารถเอาชนะความท้าทายต่างๆ ข้างต้นได้เป็นอย่างดีและก้าวมาเป็นผู้นำระดับโลกในเรื่องเทคโนโลยีด้านการเกษตรและน้ำ รวมถึงการพัฒนาแนวทางใหม่ๆ เพื่อรับมือกับความท้าทายของสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง ความจำเป็นดังกล่าวจึงผลักดันให้อิสราเอลต้องใช้ประโยชน์จากทรัพยากรอันมีค่าเพียงแหล่งเดียวที่มีอยู่นั่นคือ ทรัพยากรมนุษย์ นอกจากนั้นยังต้องแสวงหาเคล็ดลับและแนวทางใหม่ๆ เพื่อแก้ปัญหา ด้วยเหตุนี้ อิสราเอลจึงสามารถเปลี่ยนประเทศจากทะเลทรายให้กลายเป็นดินแดนอันอุดมสมบูรณ์ ในช่วงทศวรรษแรกๆของประเทศเกิดใหม่อย่างอิสราเอล ได้มีการริเริ่มและบุกเบิกโครงการการเกษตรหลายโครงการ หนึ่งในโครงการดังกล่าวคือการก่อตั้งนิคมสหกรณ์การเกษตรที่เรียกว่า “คิบบุตซ์”(Kibbutz) คิบบุตซ์เป็นนิคมการเกษตรในรูปแบบสหกรณ์ภายใต้หลักการแบบสังคมนิยม กล่าวคือมีการรวบรวมพื้นที่ทางการเกษตรเข้าด้วยกัน และจัดสรรทั้งทรัพย์สินและผลกำไรอย่างเท่าเทียมกัน เพื่อผลประโยชน์ของสมาชิกทุกคน รูปแบบการก่อตั้งชุมชนในพื้นที่ห่างไกลนี้ช่วยให้พลเมืองในประเทศเกิดใหม่อย่างอิสราเอลสามารถใช้ชีวิตในพื้นที่ธุรกันดารได้ แม้จะต้องเผชิญกับข้อจำกัดทางธรรมชาติที่รุนแรงก็ตาม ทั้งยังมีชีวิตสุขสบายอย่างยั่งยืนภายในชุมชนอีกด้วย ช่วงแรกนั้น สมาชิกคิบบุตซ์ไม่เพียงแต่เผชิญกับสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติที่ไม่เอื้ออำนวยกับการเพาะปลูกเท่านั้น แต่ยังขาดความรู้ด้านการปฏิบัติที่เกี่ยวข้องกับการเกษตรด้วย อย่างไรก็ตามการทดลองและการฝึกปฏิบัติทางการเกษตรเป็นเวลาหลายปีที่นำมาซึ่งผลลัพธ์อันน่าทึ่ง และยังนำวิสัยทัศน์ “ทำทะเลทรายให้ผลิดอกออกผล” ของนายเดวิด เบน-กูเรียน นายกรัฐมนตรีคนแรกของอิสราเอล มาเป็นแนวทางปฏิบัติจนทำให้กลายเป็นจริงได้ในที่สุด เรือนกระจกสำหรับปลูกพริกไทยในทะเลทรายอาราวา ทางใต้ของอิสราเอล คิบบุตซ์และนิคมการเกษตรอื่นๆ มีส่วนช่วยเพิ่มพูนความมั่นคงทางอาหารสำหรับประชากรชาวอิสราเอลกว่าเก้าล้านคนในปัจจุบัน เมื่อปี 2561 นิตยสาร The Economist ได้จัดลำดับผลดัชนีความมั่นคงทางอาหารของอิสราเอลให้อยู่ในลำดับที่ 20 จาก 113 ประเทศทั่วโลก หนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ส่งเสริมความสำเร็จของวิทยาการเกษตรอิสราเอล คือการมีระบบนิเวศทางวิทยาการที่แข็งแกร่ง อันเป็นผลมาจากการประสานงานและทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดระหว่างหน่วยงานรัฐ สถาบันวิจัย รวมถึงภาคอุตสาหกรรมและการบริการด้านการเกษตร ปัจจุบันนี้ ภาคการเกษตรของอิสราเอลเกือบทั้งหมดได้ใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งเป็นผลมาจากการให้ความสำคัญต่อการวิจัยและการพัฒนา เป็นที่ทราบกันดีว่าตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมานั้น อิสราเอลได้ลงทุนกับการวิจัยและการพัฒนามากกว่าประเทศที่พัฒนาแล้วหลายประเทศ โดยมีค่าใช้จ่ายด้านการวิจัยและพัฒนามากกว่าร้อยละ 4 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศมาอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้สถาบันวิจัยด้านการเกษตรศูนย์โวลคานิ (Volcani Center) ซึ่งเป็นหน่วยงานวิจัยของรัฐบาล ได้มีบทบาทสำคัญในการผลิตงานวิจัยการเกษตร กล่าวคือมากกว่าร้อยละ 80 ของงานวิจัยการเกษตรทั้งหมดในประเทศมาจากศูนย์วิจัยแห่งนี้ ในขณะเดียวกันการวิจัยและการพัฒนาของอิสราเอลได้พัฒนาวิทยาการใหม่ๆที่ช่วยเพิ่มผลิตผลการเกษตรทั้งด้านปริมาณและคุณภาพได้อย่างดีเยี่ยม ทั้งหมดนี้ส่งผลให้อิสราเอลก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำโลกด้านการเกษตรทะเลทราย ระบบชลประทาน การนำน้ำกลับมาใช้ใหม่และเทคโนโลยีชีวภาพการเกษตร การทุ่มเทและการให้ความสำคัญต่อการวิจัยและการพัฒนาการเกษตรจึงนำไปสู่การถ่ายทอดเทคโนโลยีในภาคอุตสาหกรรมการเกษตร ด้วยการต่อยอดและสร้างวิทยาการล้ำสมัย รวมถึงแนวทางการเกษตรอัจฉริยะต่างๆ เป็นจำนวนมาก อย่างเช่นการใช้ข้อมูลจากระบบอินเทอร์เน็ตของสรรพสิ่ง (IoT) ระบบการเรียนรู้ของเครื่องด้วยตัวเอง (Machine Learning) และการวิเคราะห์จากชุดข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) วิทยาการที่ได้กล่าวมานี้ช่วยให้เกษตรกรสามารถทำการเกษตรได้ดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการควบคุมศัตรูพืช การให้น้ำ หรือแม้กระทั่งการถ่ายละอองเรณูและการปฏิสนธิของพืช วิทยาการการเกษตรใหม่ๆ ของอิสราเอลได้นำมาปรับใช้อย่างเป็นรูปธรรม นับตั้งแต่กระบวนการเพาะปลูกไปจนถึงการเก็บเกี่ยว เริ่มจากส่วนล่างสุดนั้นคือส่วนรากของพืช การใช้ระบบชลประทานน้ำหยดช่วยวิเคราะห์เรื่องปริมาณความต้องการน้ำและปริมาณการให้ปุ๋ยต่อพืชนั้นๆ ต่อมาคือการใช้อากาศยานไร้คนขับ (Drone) และเครื่องเซ็นเซอร์ สำหรับการวิเคราะห์การเจริญเติบโตของพืชและวินิจฉัยโรคพืชได้อย่างรวดเร็ว วิทยาการขั้นถัดไปคือการใช้ระบบการถ่ายละอองเรณูอัตโนมัติ ซึ่งช่วยลดการพึ่งพาแมลงในการถ่ายละอองเรณูของพืช ลำดับท้ายสุดคือ การใช้หุ่นยนต์เก็บเกี่ยวพืชผลแทนการเก็บเกี่ยวแบบดั้งเดิม อีกทั้งยังสามารถวิเคราะห์ช่วงเวลาที่เหมาะสมในการเก็บเกี่ยวพืชผลได้อย่างแม่นยำอีกด้วย ปัจจุบันอิสราเอลได้รับการยอมรับจากทั่วโลกในการเป็นต้นแบบนวัตกรรมการเกษตร โดยมีความมุ่งมั่นอย่างเต็มที่ที่จะแบ่งปันความรู้เพื่อเอาชนะความท้าทายทางการเกษตรในหลายประเทศทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยด้วย นับตั้งแต่ในช่วงแรกของทศวรรษ 1960 อิสราเอลได้มีบทบาทเกี่ยวข้องกับโครงการหลวงโครงการแรกๆที่รู้จักกันดีคือโครงการตามพระราชประสงค์หุบกะพง อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี ที่ได้นำรูปแบบคิบบุตซ์มาปรับใช้ และช่วยให้เกษตรกรท้องถิ่นสามารถพัฒนาระบบชลประทานและเทคนิคการเกษตรให้ดีขึ้น นับตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ประเทศไทยและอิสราเอลมีการแลกเปลี่ยนความรู้เชิงปฏิบัติการ ประสบการณ์ และแนวปฏิบัติที่เป็นเลิศ มาอย่างต่อเนื่องเป็นเวลาหลายทศวรรษ เพื่อความเป็นอยู่ที่ดี และความมั่งคั่งของเกษตรกรท้องถิ่น ไม่เพียงแต่ในพื้นที่แห้งแล้งของหุบกะพงเท่านั้น แต่ยังรวมถึงพื้นที่อื่นๆในประเทศไทยอีกด้วย