คนข้างวัด / อุทัย บุญเย็น วันหนึ่ง ฟังธรรมบรรยายของพระอาจารย์สมภพ โชติปัญโญ วัดนิพเพธพลาราม จ.สกลนคร ในงานวัดพระธาตุพนม เรื่อง “ตำนานพระธาตุพนม” หรือ “อุรังคพิทาน” (พระธาตุพนม เป็นที่บรรจุพระอุรังคธาตุ (พระธาตุหรือพระอัฏฐิหน้าอกของพระพุทธเจ้า) พังครืนเมื่อ พ.ศ. 2518 มีการบูรณะขึ้นใหม่ในปีนั้น ซึ่งเป็นสมัยรัฐบาล ม.ร.ว คึกฤทธิ์ ปราโมช) ได้ความรู้หลายอย่าง ได้รู้ว่า ตำนานพระอุรังคธาตุ หรือ อุรังคนิทาน ระบุว่า พระธาตุพนม เป็นศูนย์กลางแห่งศรัทธาของชาวไทย (ฝั่งขวาแม่น้ำโขง) และชาวลาว (ฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง) ได้รู้ว่า คำว่า “แม่น้ำโขง” เดิมคือ “แม่น้ำของ” ฝรั่งออกเสียงเป็น “แม่น้ำโขง” ชื่อแม่น้ำโขง ก็เลยเรียกกันติดปากตั้งแต่นั้นมา และได้รู้อีกว่า พระธาตุพนมสร้างตั้งแต่ พ.ศ.8 แสดงว่าดินแดนส่วนนี้ (ขณะที่ลาวเป็น “นครศรีโคตรบูร”) นับถือพุทธศาสนาตั้งแต่พ.ศ.8 พระอาจารย์สมภพกล่าวว่า พระอัฏฐิหรือพระธาตุส่วนหน้าอกของพระพุทธเจ้า ได้รับแจกมาตั้งแต่เมื่อครั้งพุทธปรินิพพานใหม่ เรื่องนี้เชื่อมต่อกับ “มหาปรินิพพานสูตร” ในพระไตรปิฎก พระอาจารย์สมภพอยากให้มีการแปลตำนานพระอุรังคธาตุหรือตำนานพระธาตุพนมเป็นภาษาอังกฤษไว้เป็นหลักฐาน ท่านได้ฝากความหวังเรื่องนี้ไว้กับ “พระมหาสม” ซึ่งจบปริญญาเอกจากสหรัฐอเมริกา ได้ฟังแล้วก็เน้นด้วย เพราะมานึกถึงคัมภีร์มหาวงส์” ของศรีลังกา ซึ่งเป็นทั้งตำนานเป็นทั้งประวัติศาสตร์ของประเทศศรีลังกาคัมภีร์มหาวงส์นั้น มีทั้งฉบับภาษาสิงหล (ภาษาของชาวศรีลังกา) มีทั้งฉบับภาษาบาลี และฉบับแปลเป็นภาษาอังกฤษ เฉพาะฉบับภาษาบาลีนั้น มีฉบับแปลง (ปริวัตร) เป็นอักษรโรมันด้วย ทำให้ตำนานของประเทศศรีลังกา ที่เรียกว่า “คัมภีร์มหาวงส์” แพระหลายไปทั่วโลก แม้แต่ประเทศไทย ก็มีฉบับแปล (จากบาลี) เป็นภาษาไทยแล้ว คัมภีร์มหาวงส์ ให้ทั้งความรู้เชิงตำนาน-เชิงประวัติศาสตร์ของศรีลังกา และให้ทั้งความรู้เกี่ยวกับพุทธศาสนา ว่ามีประวัติการประดิษฐานพุทธศาสนาในประเทศนั้นอย่างไร ว่าไปแล้ว พุทธศาสนากับ “สุวรรณภูมิ” น่าจะมีการติดต่อสัมพันธ์กันมานานแล้ว น่าจะก่อนสมัยกรุงสุโขทัยแน่ๆ แต่เรื่องราวในรูป “ประวัติศาสตร์ “ของไทย มองข้ามตำนานของภาคต่างๆ โดยสิ้นเชิง ที่มีปะติปะต่ออยู่บ้างก็ได้จาก “พงศาวดาร” ซึ่งเน้นไปทางเรื่องราวของราชวงศ์ น่าคิดว่า ประวัติศาสตร์ไทยมองข้ามเรื่อง “ความเชื่อ” และ “วัฒนธรรมประเพณี” ของตัวเอง ซึ่งมีอยู่ในตำนานและใบลานทั้งสิ้น เรื่องราวในตำนานต่างๆ ของไทยนั้น อ่านสนุกเพราะมีทั้งเรื่องขนบธรรมเนียมประเพณี เรื่องผี และเรื่องปาฏิหาริย์ต่างๆ อย่างน้อยสาระสำคัญในตำนาน ก็มีเรื่องสถานที่และความเชื่อต่างๆ ซึ่งมีอยู่ในถิ่นนั้นจริงๆ ตำนานพระอุรังคธาตุ แต่เดิมในใบลานเหมือนตำนานอื่นๆใช้ภาษา “ไทยน้อย” เช่นเดียวกับลาว ภาษาไทยน้อยเป็นภาษาร่วมของไทย-ลาว และภาคพายัพของไทย สามารถอ่านเข้าใจร่วมกันได้กาพย์กลอนและคำผญาเก่าๆ ของลาว (และภาคอีสาน) มักจะมีอยู่ในภาษาไทยน้อย พุทธศาสา คงจะมาถึงไทย (และภูมิภาคแถบลุ้นน้ำโขง) นานแล้ว สังเกตได้จากคำสอนและคติธรรมต่างๆ ที่มีอยู่ในตำนานแม้แต่คำว่า “ศริโคตรบูร” ก็มาจากคำว่า “ศรี” หรือ “สิริ” (บาลี-สันสกฤต) “โคตต” คือ “โคตมะ” (พระพุทธเจ้า) และคำว่า “บูร” ก็คือ “ปุระ” (เมือง) ในภาษาบาลี หรือคำว่า “ศรีสตนาคนหุต” ก็เป็นคำบาลี คือ ศรี (สิริ) + ศต (ร้อย) +นาค (ช้าง) -มหุต (หมื่น) มีความหมายว่า เมืองช้าง 100 หมื่นเชือก (=10 แสนเชือกหรือ 1ล้านเชือก) แสดงว่า ภาษาบาลี(และสันสกฤต) เข้ามายังภูมิภาคนี้นานแล้ว (น่าจะก่อนสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช หรือ ก่อน พ.ศ.200 ด้วยซ้ำ) เพราะในตำนานหลายเรื่องของภาคเหนือ มีกล่าวถึง “คนเหลือง” ซึ่งหมายถึง “พระภิกษุ” ด้วย ความเชื่อเรื่องผีในตำนานต่างๆ ของลาว-ไทย ค่อนข้างจะต่างจากเรื่องผีในลัทธิอื่นๆ เชื่อว่า ธรรมเนียมประเพณีต่างๆ ของลาว-ไทย เนื่องอยู่กับพุทธศาสนาเป็นส่วนมาก เมื่อพระโสณะและพระอุตระ มาประดิษฐานพุทธศาสนาโดยแผนการแผ่ขยายพุทธศาสนาของพระเจ้าอโศกมหาราช (ราวพ.ศ.260 เศษ) จึงเป็นไปอย่างง่ายดาย เพราะสุวรรณภูมิโดยเฉพาะโนแถบลุ่มแม่น้ำโขงนับถือพุทธศาสนาอยู่แล้ว พระธาตุพนม ของชาวล้านช้างและชาวภาคอีสานของไทย เป็นหลักฐานอย่างหนึ่งของความเป็นแดนพุทธศาสนาในแถบถิ่นนี้ ได้ทราบจากคำกล่าวของพระอาจารย์สมภพว่า ตำนานพระธาตุพนมหรือ อุรังคนิทาน มีพิมพ์เผยแพร่เป็นภาษาไทยแล้ว จึงอยากให้มีการแปลเป็นภาษาอังกฤษเผยแพร่ไปทั่วโลก ได้ฝากความหวังไว้กับ “ดร.พระมหาสพ” วัดพระธาตุพนม ผมออกจะไม่มีความหวังตามท่าน เพราะเห็นว่า มีหนังสือหลายเล่มของไทย (โดยเฉพาะหนังสือทรงพุทธศาสนา) ยังรอการแปลอยู่ หรือจะว่า “แปลไม่สำเร็จ” ก็ว่าได้ เช่น “พระไตรปิฎก ฉบับสำหรับประชาชน” ของ อาจารย์สุชีพปุญญานุภาพ (ป.ธ.9) ที่มูลนิธิมหามกุฏราชวิทยาลัย ซึ่งมีการตั้งที่ทำงานแปลนานแล้ว ก็ยังไม่มีข่าวว่า ทำเสร็จแล้ว หนังสือ “พุทธธรรม” (รางวัลยูเนสโก) ของสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ.ปยุตฺโต) ทราบว่ามีผู้อาสาแปลแล้ว แต่เมื่อสมเด็จฯ เห็นก็บอกว่า “เอาไว้ก่อน” (แสดงว่า ยังไม่เป็นที่พอใจ) เคยมีอาจารย์ท่านหนึ่งแปลหนังสือชุด “หลวงตา” ของท่าน “แพรเยื่อไม้” ซึ่งอ่านสนุกอย่างยิ่ง แต่ชาวต่างชาติอ่านแล้ว บอกว่า ไม่เห็นมีอะไรสนุก (แสดงว่า ภาษาอังกฤษที่แปล ยังถ่ายทอดไม่ถึงสำนวนในต้นฉบับภาษาไทย) ได้ยินชาวพุทธศรีลังกาวิจารณ์งานของท่านพุทธทาสภิกขุว่า ไม่มีอะไรต่างจากพระไตรปิฎก (เพราะท่านพุทธทาสเขียนหรือพูดตามพระไตรปิฎกนั่นเอง) ทำให้นึกถึงบุญคุณของฝรั่งชาว “สมาคมบาลีปกรณ์” (Pali Text Society-PTS) ที่กรุงลอนดอนประเทศอังกฤษ (ตั้งขึ้นเมื่อพ.ศ. 2424) ในสมัยรัชกาลที่ 5 ของไทย) ซึ่งได้แปลพระไตรปิฎกบาลีเป็นภาษาอังกฤษ และได้ปริวรรตฉบับบาลีเป็นอักษรโรมัน เห็นจะมีฉบับเดียวที่เผยแพร่ไปทั่วโลก และเป็นที่อ้างอิงในวงวิชาการพุทธศาสนาทั่วโลกอยู่ขณะนี้ มีผู้กล่าวว่า พระไตรปิฎกแปลของสมาคมบาลีปกรณ์ ใช้คำโบราณและคลาดเคลื่อนความหมายหลายคำ เช่นคำว่า fath (ศรัทธา) สมาธิ (meditation) เป็นต้น แต่อย่าลืมว่า นักแปลของสมาคมบาลีปกรณ์แต่ละท่านนั้นเป็นนักวิชาการระดับพหูสูตและเป็นเจ้าของภาษา กว่าจะแปลพระไตปิฎกแต่ละพระสูตร มีการศึกษาค้นคว้าอย่างลึกซึ้ง สังเกตได้จากเชิงอรรถซึ่งได้อ้างอิงงานวิชาการและคัมภีร์ต่างๆ อย่างมากมาย บางเรื่องต้องศึกษาจากหนังสือ อักษรและคัมภีร์ของประเทศที่เป็นแหล่งพุทธศาสนาโดยตรง เช่น ศรีลังกา พม่า สยาม(ไทย) เป็นต้น เหมือนเป็นงานวิจัยกรายๆซึ่งต้องใช้ความเพียรอย่างมาก บางท่านไปบวชเป็นพระภิกษุที่ศรีลังกาเพื่อมีประสบการณ์ตรง แต่ปัจจุบัน คำหลายคำของพพุทธศาสนา เป็นที่รับรู้ของชาวโลกมากขึ้น อาจจะทับศัพท์ได้เลย เช่น คำว่า ศรัทธา และสมาธิเป็นต้นนั้น ผมขอเสนอความเห็นว่า งานแปลตำนานพระธาตุพนม ที่พระอาจารย์สมภพกล่าวปรารภนั้น คงหาคนแปลได้ยาก คิดว่า คนไทยและพระไทยคงยังมือไม่ถึงที่จะแปลงานทางพุทธศาสนาได้ น่าจะคิดแปลเป็นภาษาบาลี (ภาษามคธ) ออกมาก่อน แล้วแปลง (ปริวรรต) เป็นอักษรโรมันไว้เผือฝรั่งหรือเจ้าของภาษาเขาเห็นเข้า จะได้ช่วยแปลให้ คิดว่า พระไทยที่ได้เรียนบาลีในหลักสูตรบาลีของคณะสงฆ์จะสามารถแปลตำนานต่างๆของไทยได้ ผิดแต่ว่า หลักสูตรบาลีของไทยที่เป็นอยู่ไม่คิดจะต่อยอดการเรียนบาลีให้ใช้ประโยชน์ได้เท่านั้น ทั้งๆที่พระเจ้าอยู่หัว ร.4 ทรงทำให้ดูแล้ว คือแปลประวัติศาสตร์ไทยและเรื่องราวต่างๆ ของไทยเป็นภาษาบาลีไว้หลายเรื่องในสมัยท่านทรงผนวช แต่ทุกวันนี้ นักบาลีของไทยก็เรียนทิ้งเรียนขว้าง ไม่ได้ใช้ประโยชน์ภาษาบาลีเลย ซึ่งน่าเสียดายอยู่!