ในช่วงตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมาคนกรุงตื่นตระหนกกับปัญหาอากาศที่เป็นมลพิษ ในเรื่องของค่าฝุ่นละออง “PM2.5” ที่กลับมาอีกครั้ง และครั้งนี้ทวีความรุนแรงมากกว่าครั้งที่ผ่านมา โดยจากการสำรวจของเว็บไซต์ airvisual ระบุค่าค่าดัชนีคุณภาพอากาศ (AQI) ใน กรุงเทพมหานคร เฉลี่ยพุ่งไปที่ 174 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ส่วนฝุ่น PM2.5 สูงถึง 100.3 มคก./ลบ.ม.ซึ่งสูงเกินมาตรฐานที่ 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ในหลายพื้นที่ ซึ่งจากสภาพอากาศที่ย่ำแย่ ทำให้กรุงเทพมหานครติดอันดับ 1 เมืองที่มีคุณภาพอากาศแย่สุดในโลก ทั้งนี้หากมองถึงสาเหตุของการเกิดฝุ่นละออง PM2.5 นั้น มีหลายสาเหตุ แต่สาเหตุหลัก และทำให้เกิดฝุ่นละออง PM2.5 มากที่สุดมาจากไอเสียของเครื่องยนต์ดีเซลโดยเฉพาะรถยนต์ที่มีเครื่องยนต์สภาพเก่ามีควันดำถึงร้อยละ60 รองลงมาเกิดจากการเผาไหม้ เช่น เผาป่า และเผาพืชไร่เพื่อเตรียมการเพาะปลูก ซึ่งทางสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) “ดร.สุเมธ องกิตติกุล” ระบุว่า ปริมาณรถยนต์ที่เพิ่มขึ้นในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ทำให้การจราจรติดขัด และเป็นตัวการทำให้มลพิษทางอากาศเพิ่มขึ้น อีกทั้งลักษณะของเชื้อเพลิงรวมถึงอายุของรถยนต์ มีส่วนทำให้มลพิษทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นด้วย โดยสถิติปริมาณรถยนต์ที่จดทะเบียนในปี 2551-2560 จากสำนักงานจราจรและขนส่ง กทม. ระบุว่า รถยนต์นั่งส่วนบุคคลเพิ่มขึ้นร้อยละ 8 ต่อปี และรถบรรทุกส่วนบุคคลเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.5 ต่อปี โดยส่วนใหญ่ใช้น้ำมันดีเซล ขณะที่ “ศ.นพ.เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม” แพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคภูมิแพ้ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า ผลกระทบของฝุ่นละออง PM2.5 ต่อร่างกาย ถ้าสัมผัสในระยะสั้น จะทำให้เกิดผื่นคัน ตาแสบ เคือง แดง แสบจมูก ไอ จาม มีเสมหะมากขึ้น ติดหวัดง่ายขึ้น แต่ไม่ได้เป็นทุกคน คนที่เป็นภูมิแพ้ เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ เป็นโรคหลอดลมและหอบหืดจะมีผลกระทบมากกว่า ผู้ที่มีแนวโน้มความดันสูงอยู่แล้วจะมีความดันสูงขึ้น คนเป็นโรคหัวใจ หากอยู่ในที่ๆมีมลภาวะสูงนานๆ ก็อาจมีภาวะหัวใจกำเริบได้ คนที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงจึงควรจะอยู่ภายในบ้าน ถ้ามีเครื่องฟอกอากาศที่มี HEPA Filter ก็จะยิ่งดี รวมทั้งควรงดกิจกรรมที่ทำให้หายใจลึกและแรง นอกจากนี้ “ศูนย์วิจัยกสิกรไทย” ได้ประเมินถึงผลกระทบทางเศรษฐกิจ พบว่า ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากการที่ผู้บริโภคต้องซื้อหน้ากากอนามัยมาสวมใส่ เฉลี่ยขั้นต่ำอยู่ที่ 22.5 บาท/วัน และการรักษาของผู้ป่วยที่เป็นโรคภูมิแพ้ คิดเป็นเม็ดเงินราว 1,600 - 3,100 ล้านบาท เช่นเดียวกับ “ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. สิงห์ สิงห์ขจร” มหาวิทยาลัยราชภัฎบ้านสมเด็จเจ้าพระยา กล่าวว่า ปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 ในกรุงเทพมหานคร เป็นประเด็นที่ประชาชนให้ความสนใจในช่วงปลายปี 2561 ซึ่งฝุ่นละออง PM2.5 เป็นมลพิษที่มีผลกระทบกับสุขภาพมากที่สุด สามารถเข้าไปสู่ระบบทางเดินหายใจของมนุษย์ และกระจายไปทั่วร่างกาย เป็นสาเหตุของผลกระทบด้านสุขภาพทั้งระยะสั้น และระยะยาว โดยเด็ก คนสูงวัยและกลุ่มประชากรเสี่ยงในสังคม ทั้งนี้จากข้อมูลจากปี 2561 พบว่า ฝุ่นละออง PM2.5 มีค่าเกินมาตรฐาน(ค่ามาตรฐานไม่เกิน 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร)อยู่ในช่วงฤดูหนาวตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนถึงเดือนมกราคม โดยที่ช่วงเวลาดังกล่าวนั้นเป็นช่วงฤดูการไฮซีซั่นของการท่องเที่ยว และในปี 2562 เดือนกันยายน ปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 ในกรุงเทพมหานครกลับมาเป็นประเด็นอีกครั้ง ซึ่งส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะ กรุงเทพมหานครเป็นจุดหมายปลายทางที่เป็นจุดท่องเที่ยวติดอันดับ 2 ของโลก มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาเยือนประมาณ 23,688,800 คน จาก Top 100 City Destination 2018 ที่ทำการสำรวจทั้งหมด 600 เมือง โดย “ยูโรมอนิเตอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล” ส่วนของอันดับ 1 คือ ฮ่องกง แต่ในปี 2562 ฮ่องกงเกิดปัญหาการเมือง มีการชุมนุมต่อเนื่อง ผู้ชุมนุมปิดสนามบิน ทำให้มีการสั่งยกเลิกเที่ยวบินในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวของฮ่องกงอย่างชัดเจน ซึ่งเป็นโอกาสสำคัญที่กรุงเทพมหานครจะต้อนรับนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกที่จะเข้ามาท่องเที่ยวในช่วงไฮซีซั่นของการท่องเที่ยวอีกครั้ง ดังนั้นมาตรการในการป้องกันปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 ในกรุงเทพมหานครจะต้องมีความชัดเจน เพราะประมาณเดือนธันวาคมคาดว่าจะมีปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 กลับมาอีกครั้ง เนื่องจากเข้าสู่หน้าหนาว อากาศแห้ง อาจเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดการเผาเพื่อทำกิจกรรมต่างๆ เพิ่มเติมมากขึ้น ซึ่งรัฐบาลจะต้องมีการกำหนดมาตรการที่ชัดเจน เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับนักท่องเที่ยวทั่วโลกในการเข้ามาท่องเที่ยวที่กรุงเทพมหานคร ต้องยอมรับว่าปัญหา “ฝุ่นละออง PM2.5” ไม่ใช่เรื่องที่จะแก้ไขได้ตามลำพัง ถึงเวลาที่ “รัฐบาล – เอกชน – ประชาชน” ต้องจับมือร่วมกัน ผ่าวิกฤติ!ไปให้ได้...