เครือข่ายสถาบันยางตรัง "ขี้"สาเหตวิกฤติราคายางพารามาจากที่บริษัทยักษ์ใหญ่ในตลาดกลางร่วมมือกับนายทุนผู้ค้ายางจับมือกันทุบราคา และประกาศนโยบายประกันราคายาง ทำให้บริษัท โบรกเกอร์ฉวยโอกาสทุบราคาซ้ำ วันที่ 4 ต.ค.62 ที่จังหวัดตรัง นายถนอมเกียรติ ยิ่งฉ้วน ผู้จัดการสหกรณ์การเกษตรอุตสาหกรรมตรัง จำกัด กล่าวว่า วิกฤติราคายางพาราขณะนี้เกิดจาก 3 ปัจจัย โดยทำให้เกิดขบวนการกดหรือทุบราคาของนายทุนผู้ส่งออกยางรายใหญ่จับมือกับบริษัท โบรกเกอร์ยางพาราในตลาดซื้อขายยางล่วงหน้า ประกอบด้วย 1. ตลาดซื้อขายยางพาราล่วงหน้าได้ทำการประมูลและซื้อขายยางกันมาก่อนหน้านี้ โดยตกลงกันที่ราคากิโลกรัมละ 47 บาท โดยมีนัดส่งมอบยางกันในเดือน 10 -11 ซึ่งอยู่ในช่วงนี้พอดี 2.เป็นช่วงวันชาติจีน ที่ทุกบริษัทหยุดการซื้อขายยาง จึงเกิดขบวนการร่วมมือกันทุบราคา หรือกดราคาให้ยางในตลาดลดต่ำลงสุดๆ เพื่อจะมาซื้อยางใหม่ในช่วงนี้ ไปส่งมอบทำให้กำไรมหาศาลจากส่วนต่างของราคาส่งมอบ จึงทำให้บริษัท หรือนายทุนใหญ่ได้ประโยชน์อย่างมหาศาลในช่วงนี้ แม้ว่ารัฐบาลจะรู้เท่าทันกับกลวิธีดังกล่าว แต่รัฐบาลก็ทำอะไรไม่ได้ และ 3.บริษัทเทรดเดอร์ หรือผู้ค้ายางทั่วโลก ทราบว่ารัฐบาลไทยได้ประกาศนโยบายประกันรายได้ยางพาราให้กับเกษตรกรที่ราคาก.ก.ละ 60 บาท (ยางแผ่นรมควัน) ส่วนน้ำยางสดที่ก.ก.ละ 57 บาท เมื่อราคาซื้อขายจริงตกต่ำลงมากเท่าไร รายได้ก็จะเข้ากระเป๋าบริษัทผู้ค้ายางมากขึ้นเท่านั้น นายถนอมเกียรติ กล่าวว่า จึงทำให้ เข้าทางกลุ่มทุน ที่ฉวยโอกาสกดหรือทุบราคายางให้ลดต่ำลงขีดสุด เพื่อหวังทำกำไรมหาศาลในช่วงนี้ โดยในวันนี้ราคาน้ำยางสดในจุดรับซื้อทั่วไปอยู่ที่ก.ก.ละ 30-32 บาท ส่วนราคาที่สหกรณ์ยางรับซื้อจากสมาชิกก.ก.ละ 34 บาท ยางแผ่นรมควันราคาก.ก.ละ 37 บาทเศษ นโยบายประกันรายได้ให้เกษตรกร ส่วนตัวมองว่าเป็นแค่นโยบายฉาบฉวย เพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้าให้แก่เกษตรกร และรัฐบาลเอง แต่รัฐบาลจะต้องเร่งทำนโยบายการแก้ปัญหาให้ยั่งยืนตามที่ตัวแทนเกษรตรกรเสนอไป เช่น การส่งเสริมการใช้ยางในหน่วยงานภาครัฐที่จะต้องทำแผนออกมาจริงจัง โดยนำงานวิจัยยางจากหลายสถาบันมาต่อยอดทำให้เป็นรูปธรรม และมีแผนเพิ่มปริมาณการใช้อย่างต่อเนื่องทุกปี ประกอบกับจะต้องเปิดตลาด 3 ประสาน คือ ตลาดท้องถิ่นโดยให้สถาบันเกษตรกรเป็นคนรวบรวมยาง เสนอขายน้ำหนักยางในตลาดกลางภายในประเทศ และเปิดตลาดไทยคอม แทนตลาดซื้อขายยางในตลาดซื้อขายล่วงหน้า "เรื่องนี้เครือข่ายสถาบันเกษตรกรแห่งประเทศไทยเสนอรัฐบาลมาแล้ว 3 ปี ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีมาก และแก้ปัญหาบริษัทส่งออกฉวยโอกาสบิดเบือนราคาในตลาด ทำให้เกษตรกรและผู้แปรรูปยางเดือดร้อนมาโดยตลอด เพราะตลาดซื้อขายล่วงหน้าเป็นแค่การซื้อขายข้อตกลงในกระดาษไม่ได้มีการส่งมอบจริงในแต่ละวัน แต่หากประเทศไทยซึ่งเป็นผู้นำยางและผลิตยางรายใหญ่ของโลก ประกาศตัวเองเข้าซื้อขายยางในตลาดไทยคอม สถาบันเกษตรกรก็สามารถซื้อขายยางได้โดยตรง มีการซื้อขาย ส่งมอบยางจริง จะแก้ปัญหานายทุนกดราคาเอาเปรียบเกษตรกรได้แน่นอน ไม่ต้องไปพึ่งพึงพาตลาดซื้อขายล่วงหน้า ไม่ต้องอิงราคาน้ำมัน ราคาหุ้น หากไทยไม่ทำ ขณะนี้จีนกำลังจะเปิดตลาดซื้อขายยางเป็นของตนเอง ทั้งๆที่จีนไม่มีพื้นที่ปลูกยาง จึงอยากเรียกร้องให้รัฐบาลมีความจริงใจในการแก้ปัญหายางทั้งระบบ และผลักดันเปิดตลาด 3 ประสานดังกล่าวให้เกิดขึ้น จะแก้ปัญหาความผันผวนของราคา แก้ปัญหาหาการฉวยโอกาสกดราคาของนายทุนได้"นายถนอมเกียรติ กล่าว