ปากกาขนนก / สกุล บุณยทัต “ประวัติศาสตร์แห่งประเทศชาติของเรา ถูกจารจารึกไว้ด้วยความรุนแรงอันยากจะลืมเลือน ผลพวงของความขัดแย้งระหว่างชนกลุ่มชนผู้ปกครองที่บ้าคลั่งอำนาจกับมวลหมู่ประชาชนคนสามัญผู้รักความเป็นเสรี อุบัติขึ้นอย่างร้อนร้ายด้วยนัยแห่งการกระทำที่ล้นทะลักไปด้วยความอำมหิตและภาวะแห่งความเจ็บแค้นระหว่างกัน เป็นตราบาปของสังคม และเป็นบาดแผลอันเนื่องมาแต่อคติในเชิงวิสัยทัศน์ และค่านิยมของอาการบ้าคลั่งในอำนาจที่ทุบทำลายความดีงามอันชวนโศกเศร้าเสียใจ...มันคือลมหายใจของความเคียดแค้นและโศกเศร้าที่ติดค้างอยู่กับจิตวิญญาณอันเศร้าลึกที่ยากจะลืมเลือน...แต่การณ์กลับกลายเป็นว่ามันเหมือนจะหวนคืนกลับมาอีกครั้งด้วยบรรยากาศที่ทั้งเต็มไปด้วยความย้อนแย้งและขัดแย้ง ณ ปัจจุบัน...จากกลุ่มบุคคลอันเป็นตัวละครที่มีสถานะและบทบาทอันเคยคุ้นกลุ่มเดิม ที่ไม่ยอมเรียนรู้และถอดบทเรียนความเป็นศัตรูระหว่างกันของอดีต ให้ออกมาเป็นท่าทีของความรักอันถือเป็นรากเหง้าของการก้าวข้ามผ่านความรุนแรง...แน่นอนว่า...เมื่อไม่ยอมเรียนรู้...บาดแผลของอดีต ก็ย่อมจะต้องสร้างชะตากรรมอันชวนขมขื่นใหม่ขึ้นมาอย่างไม่น่าจะเป็น...นั่นคือความหมายแห่งบริบทของยุคสมัย...อันน่าหวาดหวั่นและติดกับดักอยู่กับความมืดมนอันน่ารันทดยิ่ง....” “ก้าวผ่านความรุนแรง”...หนังสือที่เล่าด้วยรัก ฟังด้วยใจ...ของ “อาจารย์ ประมวล เพ็งจันทร์”...นักเขียนรางวัลศรีบูรพา และผู้เขียนหนังสือระดับ “Bestseller” จาก “เดินสู่อิสรภาพ” ถือเป็นหนังสือที่เล่าสู่กันฟังผ่านตัวหนังสือ ด้วยจุดมุ่งหมายที่หวังถึงว่า จักให้เรื่องเล่าทั้งหมดที่ปรากฏสาระสำคัญอยู่ในหนังสือเล่มนี้...สามารถช่วยคืนหัวใจอันอ่อนโยน เพื่อทลายกำแพงแห่งความเกลียดชังอันเป็นต้นธารแห่งความรุนแรงของผู้คนในสังคมลงได้หมด “ผมเชื่อมั่นด้วยความหนักแน่นว่า..ถ้าเราสามารถประคับประคองไม่ให้ความชั่วร้าย ความรังเกียจเดียดฉันท์เกิดขึ้นในจิตใจของเรา ก็เท่ากับลดปริมาณความโกรธเกลียดให้เบาบางลง อย่างน้อยก็ในใจของเรา”...นั่นคือรากฐานสำคัญที่อาจารย์ประมวล ได้ชี้ให้เห็นถึงประเด็นสำคัญที่ว่า...อย่างน้อยในฐานะพลเมือง..เราทุกคนใน บทบาทของความเป็นประชาชนได้ทำหน้าที่กันอยู่แล้ว...เราทุกคนจึงสมควรที่จะต้องภาวนาให้ความเกลียดชังรังเกียจนี้จางหายไป...แล้วให้ความรักปรากฏขึ้นในใจของเรา และเผื่อแผ่ไปยังคนใกล้ชิด...สิ่งทั้งหมดทั้งมวลที่ได้เกิดขึ้นนี้ถือเป็นบททดสอบความดีงามที่ยิ่งใหญ่ในใจเรา...เราจะไม่เกลียดใคร เราจะไม่โกรธใคร ...เราจะต้องเพียรพยายามอย่างถึงที่สุดที่จักทำให้ ความรักความปรารถนาดีที่อยู่ในใจเรามีพลังเพียงพอที่จะช่วยให้ความเกลียดชังรังเกียจเบาบางลง.... “ผมขอภาวนา ....และเชื่อว่าทุกท่านคงช่วยกันภาวนา” อาจารย์ประมวล...ได้รำลึกถึงบุคคลอันเป็นตัวอย่างของผู้กระทำ..และเป็นที่รักของชาวอินเดียในปัจจุบัน...บุคคลท่านนี้หาใช่ท่านมหาตมะ คานธี...หรือเหล่าบรรดารัฐบุรุษนักการเมืองท่านใด...แต่กลับเป็น “แม่ชี เทเรซา” ผู้ติดอันดับหนึ่งมาไม่รู้กี่สิบปี..คำถามก็คือว่าทำไมแม่ชีเทเรซาซึ่งเป็นคนต่างชาติต่างภาษาแท้ๆ ถึงเป็นผู้ได้รับความรักความศรัทธาจากประชาชนชาวอินเดียถึงเพียงนั้น..ได้รับความนิยมถึงขนาดเป็นที่หนึ่งในความรู้สึกของประชาชน..คำตอบก็คือว่า.. “เพราะชาวอินเดียรู้และตระหนักว่าคนที่เป็นหนึ่งคือคนที่ไม่ได้ทำอะไรใหญ่เลย แต่เป็นคนที่อยู่กับคนทุกข์ยาก อยู่กับคนที่รันทด ถ้าไม่มีท่าน คนเหล่านั้นจะอยู่อย่างไร จะมีใครช่วยเหลือหรือไม่?..ท่านใช้ชีวิตทั้งชีวิต ทั้งที่ท่านมีทางเลือก แต่ท่านก็เลือกหนทางนี้ด้วยความเต็มใจ...นี่คือความหมายอันยิ่งใหญ่”.. ตัวอย่างการใช้และอุทิศชีวิตของแม่ชีเทเรซา...คือรากเหง้าแห่งเบ้าหลอมทางความคิดของอาจารย์ประมวล..ที่ได้ยึดมั่นเป็นแก่นสารแห่งหัวใจของอุดมการณ์เฉพาะตัว...มันคือวิถีธรรมของความสุข...มันคือโครงสร้างแห่งความหมายของความสุขในใจ...ความหมายที่จักบอกกับเราอย่างจริงจังและมั่นคงได้ว่าเราทุกคนต่างสามารถที่จะมีความสุขที่ยิ่งใหญ่ได้...หากการมีชีวิตอยู่ของเราได้ก่อให้เกิดอะไรบางสิ่งบางอย่างที่เป็นความสุขและเป็นความหมายที่ยิ่งใหญ่ขึ้นมาได้ “ผมสะเทือนใจ และความสะเทือนใจทำให้ผมรู้สึกตระหนัก....เพียงแค่เรามีไออุ่น หมามันยังมีความสุข แต่เรามีความสามารถทีทำได้มากกว่านั้น แล้วทำไมเราถึงไม่ทำ?” นัยสำคัญที่อาจารย์ประมวล..ได้วิเคราะห์ถึงที่มาของความรุนแรงตลอดจนการก้าวข้ามพ้นภาวะอันน่าเดียดฉันท์นี้ก็คือว่า...แท้จริงในท่ามกลางความรุนแรง...มันมีเหตุอันสำคัญของมัน..นั่นก็คือความรู้สึกเกลียดชัง ตลอดจนความรู้สึกหวาดกลัวที่มีอยู่ในใจ...เกิดความรู้สึกไม่ไว้เนื้อเชื่อใจเพื่อนมนุษย์...แน่นอนว่า ในโลกมนุษย์ของเรานี้ สังคมโดยรวมยังมีคนที่คิดประทุษร้าย และคิดจะ เบีบดเบียนผู้อื่นด้วยความกลัวที่มีอยู่ในใจ “แต่ผมเข้าใจว่า อย่างไรก็ตาม ผมควรจะทำใจให้ปลอดจากความกลัว อันเกิดจากความระแวงเพื่อนมนุษย์เหล่านั้น..และผมเชื่อด้วยความรู้สึกของผมว่า...พระผู้เป็นเจ้าคือสรรพสถิต นั่นหมายถึงว่า พระองค์สถิตอยู่ในทุกที่รวมทั้งในใจของเราด้วย” เพราะฉะนั้นสิ่งที่จะก่อให้เกิดความเชื่อมั่นอย่างหนักแน่นตามวิถีนี้ในปัจจุบันในทัศนะแห่งศรัทธาของอาจารย์ประมวล..ย่อมคือ..การหาวิธีที่จะเปิดตัวเองให้เป็นที่สถิตแห่งองค์พระผู้เป็นเจ้า ให้พระองค์ได้เผยแสดงพระองค์ผ่านการพูด การกระทำ และความคิดของเรา ซึ่งหมายถึงการเรียนรู้อันประเสริฐ...และทุกครั้งที่เรามีชีวิตอยู่และต้องรับรู้ในสิ่งต่างๆ..สิ่งที่เราควรกระทำก็คือการตั้งจิตปรารถนาอยู่เสมอนั่นก็คือ การขอให้ชีวิต ความคิด ความสัมพันธ์ และความรู้ได้เป็นสื่อ และได้รับรู้กันในบรรดาเพื่อนมนุษย์ ที่ให้ตัวเราเป็นสื่อของศาสนธรรมของแต่ละศาสนา ..ที่จะกลายเป็นพลังความหมายอันยิ่งใหญ่ กระทั่งสามารถก้าวข้ามพ้นความรุนแรงในสังคมไปได้... “การรับรู้ข้อมูล ผ่านสื่อโทรทัศน์ สิ่งพิมพ์ วิทยุ เหมือนกับว่ามีไฟความร้อนอยู่รอบตัวเรา ถ้าสิ่งข้างนอกเป็นความรุนแรง เราต้องมีความรักอยู่ในใจ ...เข้าใจว่าไม่ว่าศาสนาใดก็ตาม ศาสนาพุทธที่ผมนับถือ ศาสนาคริสต์ ศาสนาอิสลาม ศาสนาฮินดู ศาสนาสิกข์ ศาสนาเซน หรืออื่นๆที่ผมได้ผ่านการสวดภาวนา...มีความหมายของคำว่า”รัก”อยู่ในคำสอนของทุกศาสนา และผมเชื่อว่า เราสามารถจะก้าวผ่านความรุนแรงไปได้ ถ้าเราทำให้”ศาสนธรรม”นั้น มีความหมายที่แท้จริงอยู่ในตัวเรา...” ประสบการณ์ในเชิงจิตวิญญาณของอาจารย์ประมวล ที่ได้รับผ่านผัสสะและการเรียนรู้ในรับรู้ต่างๆของความเป็นเบ้าหลอมแห่งชีวิต...ได้เสริมส่งให้องค์รวมแห่งความเป็นชีวิตของอาจารย์ได้เติบโต ผ่านวิถีของการงาน ผ่านวิถีแห่งการใช้ชีวิตคู่ ผ่านวิถีแห่งการเป็นผู้สอนสั่ง และผ่านวิถีแห่งความเข้าใจตนเองได้อย่างถ่องแท้...แม้ว่าสังคมโลกจะเต็มไปด้วยวิกฤตอันสลับซับซ้อนและสังคมไทยจะถูกถมทับและโถมทับด้วยความรุนแรงอันไร้สติสักเพียงใดก็ตาม...แท้จริงแล้วเราต้องยอมรับในเชิงประจักษ์ว่า...ความรุนแรงที่ยิ่งใหญ่นั้นมันมันอยู่ในใจเรา และได้ผลิดอกออกผลมาเป็นคำพูด เป็นการกระทำ และเป็นความคิดที่เบียดเบียนตัวเราเองและผู้อื่นในสังคม... ในวิถีสรุป..ความรุนแรงถือเป็นความชั่วชนิดหนึ่ง..สังคมเรายังมีความชั่วอีกมากมาย อาทิปัญหาเยาวชนเป็นปัญหาที่สำคัญมาก เพราะวัฒนธรรมตะวันตกเข้ามา กระแสสื่อสารมวลชนมีผลกระทบต่อเด็ก รัฐบาลโดยกระทรวงศึกษาธิการได้มีการฟื้นฟูคุณธรรมเด็กดี10ประการ และคุณธรรมพื้นฐาน5ข้อ ให้เด็กท่องจำและปฏิบัติ ต่อมาเปลี่ยนเป็นคุณธรรมที่สังคมควรปฏิบัติ17ข้อ แต่ไม่มีคุณธรรมด้านศาสนาอยู่เลย...เพราะรัฐบาลไม่สนใจเรื่องนี้ ทุ่มงบประมาณไปกับส่วนอื่นมากกว่า...คำถามจึงตามมาว่า..จะทำอย่างไรที่จะให้ศาสนธรรมเข้าสู่ประชาชนได้มากกว่านี้...อันหมายถึงว่า..จริงๆแล้ว ความพยายามที่จะสร้างกฎเกณฑ์ สร้างระบบปฏิบัติ และเรียกร้องให้คนเลี่ยงพ้นจากความรุนแรงกลับไม่ค่อยประสบความสำเร็จ...ทั้งนี้ก็เพราะว่าหลักปฏิบัติที่มักจะพูดถึงกันมักจะเป็นสิ่งที่บังคับหรือกะเกณฑ์ให้ผู้อื่นปฏิบัติตาม ด้วยการพยายามยัดเยียดความหมายที่ดีงามของการปฏิบัติ โดยปราศจากความรู้สึกเห็นอกเห็นใจต่อผู้ที่ถูกบังคับให้ปฏิบัติ... “ความรุนแรงยังคงมีอยู่ในสังคมไทยและเป็นความรุนรงที่เราไม่รู้เนื้อรู้ตัว เป็นความรุนแรงที่เราดูหมิ่นดูแคลน ไม่เห็นศักดิ์ศรีความหมายของความเป็นเพื่อนมนุษย์....ผมรู้สึกว่าความรุนแรงที่ยิ่งใหญ่กำลังแพร่ระบาดไปทั่ว...นั่นก็คือการที่เราต่างไม่ไว้เนื้อเชื่อใจเพื่อนมนุษย์ และการที่เราเห็นเพื่อนมนุษย์ด้อยค่ากว่าตัวเราจนกระทั่งเราสามารถเบียดเบียนผู้อื่นได้ เพื่อประคับประคองความเป็นตัวเราให้เป็นไปในสิ่งที่ปรารถนา”... เดือนตุลาคม...ที่ฝังจำในความรู้สึกของคนรุ่นหนึ่ง...คนที่อยู่ร่วมยุคสมัยแห่งความรุนแรงร่วมกับผม..ได้วนกลับมาอีกครั้งหนึ่งแล้วทั้งด้วยอาการและด้วยลมหายใจอันเป็นปริศนา...จะอย่างไรก็ตาม หัวใจแห่งสาระของหนังสือเล่มนี้คือคำบอกเล่าทางความคิดที่เต้นเร่าด้วยค่าความหมายของสรรพสิ่งที่กอปรด้วยสาระของการมีชีวิตอยู่ต่อการรู้เท่าทันลิขิตของชีวิตอันพลิกผัน มันอาจคืออาชญากรรมทางสังคมของการมีชีวิตอยู่ มันอาจคือความอัปลักษณ์แห่งชะตากรรมที่บังเกิดขึ้นอย่างซ้อนซ้ำไม่รู้จบ หรือกระทั่งมันคือความจริงแท้ในนิยามของการก้าวไปสู่ความเป็นศรัทธาอันพร่ามัว ณ เบื้องหน้า....แต่ก็แน่นอนว่า...คนเราทุกคนล้วนต่างมีชีวิตอยู่เพื่อแสวงหาความหมายที่ดีงามของชีวิต...ซึ่งบางคนเชื่อว่าการมีทรัพย์สินคือความหมายที่ดีงามของชีวิต ก็เลยต่างแสวงหาทรัพย์สิน แต่บางคนกลับคิดว่าอำนาจคือความหมายที่ดีก็แสวงหาอำนาจ...ทั้งหมดทั้งสิ้นนั้น...ได้สื่อให้โลกได้เห็นในเชิงประจักษ์ว่า...เมื่อเราต่างได้อำนาจหรือทรัพย์สินมาแล้ว เราก็ต่างเกิดความเกลียดชังกัน เกิดการแบ่งพรรคแบ่งพวกกันในที่สุด “ความรุนแรงยังคงฝังอยู่ในใจผม เกิดขึ้นเมื่อปี 2514 อายุประมาณ 16-17 ปี ขณะทำงานเป็นกรรมกรรับจ้างที่ อ.บ้านนา จ.สุราษฎร์ธานี และมีกองกำลังของฝ่ายราชการมาปราบปรามผู้ก่อการร้าย..ภาพที่ยังอยู่ในความทรงจำจนถึงทุกวันนี้ก็คือ เมื่อมีการปราบปราม เพื่อนผมจำนวนหนึ่งจบชีวิตลง เลือดที่ผมเห็น ชีวิตที่จบลง เป็นความเจ็บปวดที่ไม่รู้จะใช้คำใดๆบอกเล่าได้มากไปกว่าความกลัว..ขอให้ช่วยกันภาวนาให้ความเกลียดชังรังเกียจหายไป ให้ความรักปรากฏขึ้นในใจ และเผื่อแผ่ไปยังคนใกล้ชิด.....”