นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง โพสต์ข้อความผ่านเพจเฟซบุ๊ก Thirachai Phuvanatnaranubala ระบุว่า... “ละครลิง ไฮสปีด” วิธีหนึ่ง ที่สามารถทำให้โครงการที่เอื้อประโยชน์แก่อภิมหานายทุน ที่เฉือนเนื้อ ร.ฟ.ท. และของประชาชนทั้งมวล ไม่มีการต่อต้านคัดค้าน ก็คือการสร้างภาพว่า ร.ฟ.ท. ได้เปรียบ จึงต้องบีบบังคับเอกชน ให้เอกชนต้องรีบลงนามในสัญญา ในทำนองว่า ถึงแม้เอกชนจะเสียเปรียบอยู่บ้าง แต่เอกชนก็จะต้องยอม มิฉะนั้น จะถูกริบเงินประกัน และจะต้องโดนแบล็กลิสต์จากรัฐ จะเป็นการเสียชื่อบริษัท อาจเป็นการเล่นละครอย่างหนึ่ง สร้างภาพว่าทั้งหมดนี้เป็นประโยชน์แก่ประเทศ สร้างภาพว่าผู้บริหารราชการแผ่นดินต้องแสดงความกล้าหาญหักกับเอกชน แต่ผมให้ข้อสังเกตแก่ผู้อ่านว่า 1. กรณี ร.ฟ.ท. ไม่สามารถส่งมอบพื้นที่ได้ภายในกำหนด ภาครัฐจะต้องขยายเวลาการออกแบบและการก่อสร้างด้านกิจการรถไฟออกไป ซึ่งจะทำให้ส่วนแบ่งที่ ร.ฟ.ท. จะพึงได้จากรถไฟ เลื่อนออกไป โดยไม่มีกลไกที่จะบังคับให้เอกชนต้องทยอยทำงานแต่ละขั้น หรือไม่มีกรรมการที่จะห้ามมิให้เอกชนใช้ช่องทางนี้ เลื่อนการลงทุนรถไฟออกไปเรื่อยๆ จนกว่าจะมีความพร้อมด้านเงินทุนและด้านจำนวนผู้โดยสาร นั้น ย่อมทำให้ ร.ฟ.ท. เสียเปรียบ! 2. กรณีที่เอกชนสามารถเริ่มกิจการด้านพัฒนาพื้นที่มักกะสันได้ทันที โดยไม่มีการกำหนดให้ผูกพันกับความคืบหน้าในการทำงานด้านกิจการรถไฟ ย่อมทำให้เอกชนได้เปรียบ! เป็น “ค่าโง่” ที่เกิดขึ้นตั้งแต่วันเซ็นสัญญา ไม่ต้องรอให้มีการฟ้องร้องกันทีหลัง ดังนั้น ในข้อเท็จจริง จึงอาจเป็นการอุ้มสม และแบกขึ้นบ่า ประเคนผลประโยชน์ มากกว่าการ “หัก” ดังที่เห็นในภาพลวงตา 3. การที่รองนายกอนุทิน ใช้ข้อพิจารณาว่ากลุ่ม CPH เสนอราคาต่ำกว่าคู่แข่งประมาณ 6 หมื่นล้านบาท และระบุว่า “ภาครัฐเอง ยังตะลึงกับราคานี้ และพอใจมาก แน่นอนว่าพร้อมจะช่วยเหลือฝ่ายเอกชน แต่ก็ขอให้เป็นไปตามสัญญาที่ให้ไว้” นั้น เป็นการพิจารณาที่ไม่คำนึงถึงประโยชน์แก่ประเทศชาติและประชาชนอย่างครบถ้วน เพราะสิ่งที่ต้องเปรียบเทียบ คือกับทางเลือกให้ ร.ฟ.ท. ทำรถไฟรางคู่ความเร็วปานกลาง ไม่มีจุดตัดกับถนน มีรั้วโปร่งป้องกันสัตว์ตลอดทาง ซึ่งจะลงทุนเพียงห้าหมื่นล้านบาท(ข้อมูลจากคุณสาวิทย์ แก้วหวาน สหภาพแรงงาน ร.ฟ.ท.) แต่โครงการนี้ รัฐต้องทุ่มทรัพยากรภาครัฐเข้าไปอุดหนุนถึงสองแสนห้าหมื่นล้าน! 4. นายอนุทิน กล่าวว่า “สัญญากำหนดเรื่องการส่งมอบพื้นที่ไว้แค่ 50% และตอนนี้รัฐ ก็ทำได้ตามสัญญา ถ้าจะขอเพิ่มไปกว่านี้ ร.ฟ.ท. ที่ดูแลรับผิดชอบ ต้องไม่ยอมแน่นอน” นั้น เป็นการมองแง่มุมของการส่งมอบพื้นที่ ในลักษณะที่ทำให้รัฐเสียประโยชน์ บอร์ด อีอีซี ย่อมต้องทราบว่า โครงการนี้มีพื้นที่ต้องส่งมอบหลายพันไร่ มีทั้งปัญหาการไล่ที่และปัญหาการเวนคืน และยิ่งการส่งมอบพื้นที่มีปัญหาล่าช้า โดยมีเงื่อนไขให้เอกชนได้รับชดเชยด้วยการเลื่อนการทำงานด้านกิจการรถไฟออกไป นั้น อำนาจต่อรองจึงไม่ได้อยู่ในมือ ร.ฟ.ท. แต่อยู่ในมือเอกชน! 5. ก่อนหน้านี้มีข่าวว่ากลุ่มเอกชนมีปัญหาแหล่งทุน โดยคนใน ธปท. แจ้งผมว่า ได้มีความพยายามล้อบบี้ให้มีการขยายกฎของ ธปท. เพื่อให้กลุ่มนี้สามารถกู้เพิ่มสำหรับโครงการได้ แต่ไม่สำเร็จเพราะผู้บริหาร ธปท. ระดับรองๆ คัดค้าน เห็นว่าจะทำให้เสี่ยง ระบบแบงก์พังได้ทั้งยวง ดังนั้น จึงวิเคราะห์ได้ไม่ยากว่า กลุ่มเอกชนจะหวังเดินหน้ากิจการพัฒนาที่มักกะสัน ให้คืนทุนมาระดับหนึ่งก่อน จึงจะคิดเริ่มทำงานกิจการด้านรถไฟ! เงื่อนไขที่เปิดให้เอกชนสะดวกสบายอย่างนี้ เป็นการพิจารณาที่ผิดวิสัยผู้ที่มีความรู้ความเข้าใจทางธุรกิจ จึงย่อมนำไปสู่ข้อครหา ทุจริตเชิงนโยบาย และผลประโยชน์ส่วนตนที่มิชอบ เกิดขึ้นได้! 6. การลงนามในสัญญา ไม่แน่ชัดว่า เกิดขึ้น (ก) ระหว่าง ร.ฟ.ท. กับบริษัทเอกชนรายเดียว โดยมีกลุ่มที่ร่วมค้ามานั่งให้กำลังใจ เพื่อการถ่ายรูปเป็นอนุสรณ์ เสมือนงานสวดไว้อาลัย หรือ (ข) เป็นการลงนามระหว่าง ร.ฟ.ท. กับกลุ่มร่วมค้า ที่รวมไปถึง บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) บจ.ไชน่า เรลเวย์ คอนสตรัคชั่น บมจ.ช.การช่าง และ บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ ถ้าเป็นแบบ (ก) เรียกได้ว่าผู้เซ็นฝั่ง ร.ฟ.ท. ไม่ว่าจะเป็นใคร อาจอยู่ในสถานะ “ตีนลอย หัวขาด” เพราะไม่มีอะไรที่กำหนดให้ผลประโยชน์ต้องบังเกิดแก่ ร.ฟ.ท. เมื่อไหร่ ส่วนถ้าเป็นแบบ (ข) ก็ต้องมีเงื่อนไขข้อบังคับในกิจกรรมด้านรถไฟให้มีบำดับความคืบหน้าแต่ละขั้นตอน แต่ละปี จึงจะคุ้มครองสิทธิของ ร.ฟ.ท. ได้ ดังนั้น จึงต้องติดตามว่า ใครจะเป็นผู้โชคดี ได้เป็นตัวแทนที่ลงนามฝ่ายของรัฐ และใครจะเป็นผู้มีอำนาจใน ร.ฟ.ท. ที่จะอนุมัติ เพราะไม่ว่า บอร์ด อีอีซี จะพิจารณามีมติอย่างใด ผู้นำไปปฏิบัติย่อมต้องมีวิจารณญานของตนเอง ต้องใช้สามัญสำนึก และต้องคำนึงถึงเสียงเตือนจากสาธารณะให้รอบคอบด้วยตนเอง ต้องชมเชยบอร์ด ร.ฟ.ท. ที่รีบลาออกยกชุดไปตั้งแต่ 1 ต.ค. เรียกว่ามองการณ์ไกลได้ขาดจริงๆ! วันที่ 4 ตุลาคม 2562 ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล Facebook Thirachai Phuvanatnaranubala (เครดิตภาพตามแหล่งที่แสดงชื่อ) หมายเหตุ: การกล่าวถึงชื่อบุคคลใดมิใช่เป็นการกล่าวหากระทำความผิด แต่เป็นเพื่อประกอบการบรรยายทางวิชาการเพื่อประโยชน์แก่ทางราชการในการรักษาประโยชน์ของประเทศชาติเป็นสำคัญ