คุยเฟื่องเรื่องต่างประเทศ / ดร.วิวัฒน์ เศรษฐช่วย การออกมาประกาศของ “แนนซี เพโลซี่” ประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อเริ่มต้นกระบวนการถอดถอนประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ อย่างเป็นทางการ เมื่อวันอังคารที่ 24 กันยายนนี้ นับเป็นประเด็นร้อนแบบสุดๆเลยทีเดียว กระบวนการถอดถอนประธานาธิบดีเท่าที่ผ่านมา ครั้งนี้นับเป็นครั้งที่สี่ในประวัติศาสตร์การเมืองของสหรัฐอเมริกา แต่ทว่ากระบวนการถอดถอนประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ออกจากตำแหน่งในครั้งนี้ กลับแตกต่างไปจากทั้งสามเหตุการณ์เมื่อครั้งอดีตโดยสิ้นเชิง!!! เนื่องจากครั้งนี้สาหตุเกิดขึ้นมาจาก ประธานาธิบดีทรัมป์พยายามกดดัน “ประธานาธิบดีโวโลดีมีร์ เซเลนสกี” แห่งยูเครนให้ตรวจสอบพฤติกรรมของ “รองประธานาธิบดีโจ ไบเดน” สังกัดพรรคเดโมแครต เพื่อต้องการนำมาใช้ป้ายสีในทางลบเพราะประธานาธิบดีทรัมป์คาดเดาว่า “ไบเดนคงจะได้รับเลือกให้เข้าไปเป็นตัวแทนของพรรคเดโมแครต และเข้าไปเป็นคู่แข่งคนสำคัญที่แสนจะน่ากลัวของตน” การใช้เล่ห์เหลี่ยมของประธานาธิบดีทรัมป์ในการใช้ให้ต่างชาติเข้าไปช่วยแทรกแซงคู่ต่อสู้ในครั้งนี้ ปรากฏว่ากลับตาลปัตรมิได้เป็นไปตามที่เขาคาดหวังเอาไว้ เพราะดันมีผู้ที่เอาข้อมูลลับซึ่งเข้าใจกันว่าอาจจะเป็นเจ้าหน้าที่หน่วยซีไอเอ (whistleblower) รวบรวมการสนทนาระหว่างประธานาธิบดีทรัมป์กับประธานาธิบดีโวโลดีมีร์ เซเลนสกี แห่งยูเครน ออกมาเปิดเผยว่า ประธานาธิบดีทรัมป์ต้องการให้ยูเครนเข้าไปแทรกแซงการเลือกตั้งในตำแหน่งประธานาธิบดี ปี 2020 และยังปรากฎอีกด้วยว่า ขณะที่พวกเขากำลังสนทนากันอยู่นั้น “รัฐมนตรีต่างประเทศไมค์ ปอมพิโอ” ก็มีส่วนร่วมรู้เห็นในการสนทนาครั้งนั้นด้วย ทำให้เขาต้องกลายเป็นหนึ่งในผู้ที่จะต้องถูก “อดัม ชิฟฟ์” ประธานคณะกรรมาธิการข่าวกรองเรียกตัวไปสอบปากคำ ส่วน “รูดี้ จูลีอานี” (Rudy Giuliani) นักการเมืองรุ่นลายครามที่คร่ำหวอดอยู่ในแวดวงการเมืองมาอย่างยาวนาน ก็ถูกโยงใยพัวพันเข้ามาเป็นหนึ่งในตัวละครเอกอีกด้วย โดยเขาถูกพาดพิงว่า “รูดี้ จูลีอานีคือผู้ที่ติดต่อชักนำกับฝ่ายยูเครนมาตั้งแต่เริ่มต้น” โดยเขายังทำหน้าที่เป็นทนายความส่วนตัวของประธานาธิบดีทรัมป์อีกด้วย หากหวนกลับไปดูบทบาทของรูดี้ จูลีอานี่ แล้ว จะเห็นได้ว่า เขามิใช่บุคคลธรรมดาๆ โดยสมัยที่เขาดำรงตำแหน่งอัยการอยู่ที่รัฐนิวยอร์ก นั้นเขาสามารถสร้างชื่อเสียงของตนเองให้โด่งดังด้วยการชนะคดีสำคัญๆมาแล้วอย่างมากมาย รวมถึงการเอามาเฟียและนักการเมืองที่กระทำความผิดเข้าซังเตไปแล้วหลายๆคน โดยขณะนี้เขาก็เป็นผู้หนึ่งที่ถูกคณะกรรมาธิการข่าวกรองเรียกตัวไปสอบถามอีกด้วยเช่นกัน!!! อย่างไรก็ตามก่อนที่ประธานสภาผู้แทนฯแนนซี่ เพโลซี่ จะเริ่มต้นกระบวนการถอดถอนประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์นั้นเธอถูกกดดันจากบรรดานักการเมืองของพรรคเดโมแครตอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่เมื่อคราวที่อัยการพิเศษโรเบิร์ต มุเลอร์ ออกมาเปิดเผยผลสรุปในกรณีที่รัสเซียเข้าไปแทรกแซง เพื่อเอื้ออำนวยให้ประธานาธิบดีทรัมป์ได้รับเลือกเข้าสู่ทำเนียบขาว!!! ทั้งนี้ภายหลังจากที่ประธานสภาผู้แทนฯแนนซี เพโลซี่ ได้ออกมาเริ่มต้นแสดงเจตนารมณ์ในกระบวนการถอดถอนประธานาธิบดีทรัมป์เมื่อวันที่ 24 กันยายนนี้ ปรากฏว่า ความคิดเห็นของคนอเมริกันกลับเปลี่ยนแปลงไปอย่างหน้ามือเป็นหลังมือ ดังจะเห็นได้จากโพลสามสำนักอันได้แก่ สำหนักหยั่งเสียงของสถานีโทรทัศน์ซีบีเอส เมื่อวันที่ 29 กันยายน ระบุว่า คนอเมริกันถึง 55% เห็นพ้องกับกระบวนการดำเนินการถอดถอนประธานาธิบดีทรัมป์ ส่วนสมาชิกพรรคเดโมแครต 9 ใน 10 คน ก็ออกมาแสดงการเห็นด้วย ส่วนซีเอ็นเอ็นโพลล่าสุดนี้ระบุว่าความคิดเห็นของกลุ่มอิสระให้ถอดถอนประธานาธิบดีทรัมป์เพิ่มสูงขึ้นถึง 11% เป็น 46% และของสมาชิกพรรครีพับลิกันเพิ่มจาก 8% เป็น 14% และซีเอ็นเอ็นโพลก็ยังได้ออกมาระบุเมื่อครั้งล่าสุดนี้ว่า ผู้ที่มีอายุต่ำว่า 35 ปีเพิ่มเป็น 60% จาก 43% ในเดือนพฤษภาคม โดยพวกเขาเห็นด้วยและสนับสนุนให้มีการถอดถอนประธานาธิบดีทรัมป์ออกจากตำแหน่ง โดยภาพรวมแล้วซีเอ็นเอ็นโพลระบุว่าคนอเมริกัน 48% เห็นว่าประธานาธิบดีทรัมป์ฉกฉวยโอกาสและเอาเปรียบคู่แข่งทางการเมือง เพื่อกอบโกยผลประโยชน์เข้าหาตนเอง ส่วนโพลของ “Quinnipiac University” ที่ได้รับการจัดอันดับให้เป็นโพล “เกรดเอ” เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 30 กันยายนนี้ สมาชิกของค่ายพรรคเดโมแครตสนับสนุนให้มีการถอดถอนประธานาธิบดีทรัมป์ออกจากตำแหน่งเพิ่มขึ้นจาก 73% เป็น 90% ส่วนรอยร้าวที่ประธานาธิบดีทรัมป์สร้างขึ้นภายในพรรครีพับลิกันได้มีขึ้นเรื่อยๆอย่างต่อเนื่องเริ่มต้นจากเมื่อวันที่ 26 สิงหาคมนี้ “ส.ส.จัสติน อมาส” จากรัฐมิชิแกน ก็ได้ออกมาเรียกร้องให้มีการถอดถอนประธานาธิบดีทรัมป์ออกจากตำแหน่ง และยังมีนักการเมืองของพรรครีพับลิกันอีกสามคนออกมาประกาศว่า จะลงแข่งขันเลือกตั้งการเป็นตัวแทนของพรรครีพับลิกันสู้กับประธานาธิบดีทรัมป์ ซึ่งได้แก่ “บิล เวลด์” อดีตผู้ว่ารัฐแมสซาชูเชตส์ “ โจ วอลช์” อดีตสส.จากรัฐอิลลินอยส์ และ “มาร์ค แซนฟอร์ด” อดีตผู้ว่าฯรัฐเซ้าท์แคโรไลนา ล่าสุดเมื่อวันศุกร์ของสัปดาห์ที่แล้ว “ส.ส.มาร์ค อะโมดี้” จากรัฐเนวาด้า ก็ได้ออกมาแถลงว่า “ข้าพเจ้าก็เห็นด้วยและสนับสนุนกระบวนการสอบสวน เพื่อการถอดถอน” ซึ่งเขาผู้นี้ถือเป็นส.ส.ของค่ายพรรครีพับลิกันคนที่สองที่ออกมาป่าวประกาศถัดจาก ส.ส.จัสติน อมาสของรัฐมิชิแกน อนึ่งเมื่อวันจันทร์นี้ “เจฟฟ์ เฟลค” อดีตวุฒิสมาชิกสังกัดพรรครีพับลิกัน จากรัฐแอริโซนาก็ได้เขียนบทความตีพิมพ์ลงในหนังสือพิมพ์วอชิงตันโพสต์วิงวอนมิให้สมาชิกของพรรครีพับลิกันออกเสียงโหวตปกป้องประธานาธิบดีทรัมป์ และเขายังได้ระบุต่อไปอีกว่า “ขณะนี้หากมีการโหวตลงคะแนนเสียงแบบลับๆ วุฒิสมาชิกในพรรครีพับลิกันถึง 35 คน ก็จะโหวตเพื่อถอดถอนประธานาธิบดีทรัมป์ด้วยเช่นกัน” ทั้งนี้ปรากฏว่า บทสนทนาระหว่างประธานาธิบดีทรัมป์กับประธานาธิบดียูเครน ได้ถูกสั่งห้ามแพร่งพราย โดยได้รับคำสั่งให้เก็บล็อกปิดเงียบเอาไว้ในทำเนียบขาว และเมื่อลองวิเคราะห์กันดูแล้ว หากว่าประธานาธิบดีทรัมป์มีความตั้งใจประสงค์ที่จะให้เรื่องนี้เป็นไปแบบโปร่งใสแล้ว เหตุใดเขาต้องดำเนินการปกปิดหมกเม็ดเช่นนี้!!! อย่างไรก็ตามนักการเมืองผู้ทรงอิทธิพลของค่ายพรรครีพับลิกันหลายๆคนได้ออกมาแสดงความไม่พอใจต่อประธานาธิบดีทรัมป์ อาทิ “วุฒิสมาชิก มิตต์ รอมนีย์” เสาหลักสำคัญคนหนึ่งของพรรครีพับลิกันได้ออกมาให้สัมภาษณ์ว่า “ข้าพเจ้าไม่สบายใจต่อการที่ต่างชาติเข้ามาแทรกแซงการเมืองของสหรัฐฯ” “วุฒิสมาชิกเบน แซสส์” จากรัฐเนบราสก้า ก็ได้ออกมาเห็นพ้องต้องกันกับความคิดเห็นของวุฒิสมาชิกมิตต์ รอมนีย์ ส่วน “วุฒิสมาชิกแพท ทูมีย์” จากรัฐเพนซิลเวเนียก็ได้ออกมาให้สัมภาษณ์ว่า “การที่ประธานาธิบดีทรัมป์พยายามผลักดันประธานาธิบดียูเครนให้ช่วยเหลือในการเลือกตั้งนั้น ถือว่าไม่เหมาะสมอย่างยิ่ง” อนึ่งจากข้อมูลของหนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทม์เช้าวันพุธนี้เปิดเผยว่า ส.ส.พรรคเดโมแครต 223 คน และส.ส.อิสระอีกหนึ่งคน รวมเป็น 224 เสียง ออกมาประกาศว่า พร้อมแล้วที่จะโหวตถอดถอนประธานาธิบดีทรัมป์ (Articles of Impeachment) ซึ่งการถอดถอนในครั้งนี้ต้องการคะแนนเสียงเพียง 218 เสียง กล่าวโดยสรุปทั้งนี้และทั้งนั้น เมื่อมองจากภาพรวมแล้วจะเห็นได้อย่างเด่นชัดเลยว่า รอยร้าวแห่งความแตกแยกได้เกิดขึ้นจนยากจะประสานแล้วในพรรครีพับลิกัน รวมถึงขณะนี้สภาผู้แทนราษฎรก็มีเสียงมากเพียงพอที่จะโหวตถอดถอนประธานาธิบดีทรัมป์ และส่งต่อไปยังวุฒิสภาเพื่อทำการไต่สวน โดยมีจอห์น โรเบิร์ตส์ ประธานศาลฎีกาจะรับหน้าที่เป็นประธานไต่สวน ซึ่งประธานาธิบดีทรัมป์คงจะต้องงัดเอากลยุทธ์และใช้เล่ห์เหลี่ยมแบบสุดฤทธิ์สุดเดช เพื่อให้ตนเองได้ยืนอยู่ในตำแหน่งอีกต่อไป เนื่องจากว่า หากเขากระเด็นพ้นออกจากตำแหน่งแล้ว โอกาสที่เขาจะเข้าไปอยู่ในซังเตและถูกฟ้องร้องด้วยคดีความอีกมากมายหลายเรื่องคงจะประเดประดังเข้ามาละครับ