สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ Fan Page ได้โพสต์เผย ภาพล่าสุดของ "#แสงแรก" จาก #กล้องโทรทรรศน์จันทรา โดยระบุ “ตลอดช่วง 20 ปีที่ผ่านมา กล้องโทรทรรศน์อวกาศจันทราของนาซา ถ่ายภาพปรากฏการณ์ต่างๆ ในเอกภพได้มากมาย หนึ่งในภาพที่โดดเด่นที่สุดคือ ภาพ “แสงแรก” แสดงให้เห็นซากซูเปอร์โนวาของ แคสซิโอเปีย เอ (Cassiopeia A) มีชื่อเล่นว่า แคส เอ (Cas A) เผยแพร่เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2542 แคส เอ อยู่ห่างจากโลกประมาณ 11,000 ปีแสง ซากส่องสว่างนี้ อาจเป็นวัตถุหนึ่งที่สว่างที่สุดบนท้องฟ้าในช่วงเวลาสั้นๆ เกิดจากการระเบิดของดาวมวลมาก เมื่อเชื้อเพลิงของดาวฤกษ์หมด ดาวจะยุบตัวลงและระเบิดเป็นซูเปอร์โนวา กล้องโทรทรรศน์อวกาศจันทราได้สังเกตการณ์ แคส เอ ซ้ำๆ เพื่อศึกษาเพิ่มเติมและค้นหาดาวนิวตรอนที่อยู่ตรงใจกลาง ทำให้ค้นพบการกระจายตัวของธาตุองค์ประกอบที่จำเป็นสำหรับสิ่งมีชีวิต จนสามารถสร้างแบบจำลองสามมิติของซากซูเปอร์โนวาขึ้นมาได้ สำหรับใครที่อยากเห็นวิวัฒนาการของ แคส เอ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2543 ถึงปี พ.ศ.​ 2556 สามารถตามไปดูได้ที่ https://youtu.be/44lHuKCmTWc เมื่อเทียบกับมนุษย์ ระยะเวลานี้ เท่ากับเด็กคนหนึ่งเข้าเรียนอนุบาลจนจบมัธยม แม้การเปลี่ยนแปลงของ แคส เอ ไม่ชัดเจนเท่าการเปลี่ยนแปลงของเด็ก แต่ก็เป็นเรื่องน่าทึ่งที่ได้เห็นวัตถุในห้วงจักรวาลเปลี่ยนแปลงในช่วงชีวิตของมนุษย์ เรียบเรียง : พัชริดา ยั่งยืนเจริญสุข เจ้าหน้าที่สารสนเทศดาราศาสตร์ - สดร. อ้างอิง : https://www.nasa.gov/…/the-latest-look-at-first-light-from- (ทั้งนี้ ซูเปอร์โนวา (Supernovae) เป็นวิวัฒนาการขั้นสุดท้ายของดาวฤกษ์ คือการระเบิดที่รุนแรงของดาวฤกษ์มวลมากเมื่อสิ้นอายุขัย ซึ่งการระเบิดนี้จะปล่อยพลังงานจำนวนมหาศาลออกมา )