จากข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ประมาณการความต้องการบุคลากรในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ปี 2562-2566 ระบุว่ามีความต้องการแรงงานในพื้นที่รวมทั้งสิ้นถึง 475,668 อัตรา โดยความต้องการด้านการท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดีและไมซ์มีจำนวนถึง 16,920 อัตรา หรือคิดเป็น 4 % ของความต้องการแรงงานในพื้นที่ทั้งหมด ด้วยเหตุนี้ การลงนามความร่วมมือโครงการการจัดตั้งศูนย์เครือข่ายด้านการศึกษาไมซ์ในภาคตะวันออก (Eastern MICE Academic Cluster) ระหว่างสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเส็บ กับสถาบันการศึกษาทั้ง 8 แห่ง ในภาคตะวันออก จึงเกิดขึ้น กระจายองค์ความรู้และรายได้ โดย นายจิรุตถ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเส็บ กล่าวว่า อีกหนึ่งความร่วมมือสำคัญในการพัฒนาบุคลากรไมซ์ในภาคตะวันออก คือ โครงการ พัฒนาศักยภาพบุคลากรไมซ์ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างทีเส็บกับคณะทำงานประสานงานด้านการพัฒนาบุคลากรในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC-HDC) ภายใต้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ อีอีซี และมหาวิทยาลัยบูรพา เพื่อเป็นศูนย์กลางคณะทำงานด้านการพัฒนาศักยภาพบุคลากรไมซ์ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ทั้งการวางแผนงาน เตรียมความพร้อมวางรากฐานการสร้างบุคลากรไมซ์ การพัฒนามาตรฐานวิชาชีพ การกระจายองค์ความรู้และรายได้ รวมถึงการสร้างสรรค์กิจกรรม สร้างงาน สร้างมาตรฐาน และสร้างรายได้ เพื่อตอบสนองการพัฒนาอย่างยั่งยืนต่อไป ตัวอย่างโครงการและกิจกรรมจากการลงนามความร่วมมือในการจัดตั้งศูนย์เครือข่ายด้านการศึกษาไมซ์ในภาคตะวันออก (Eastern MICE Academic Cluster) และ การพัฒนาศักยภาพบุคลากรไมซ์ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก อาทิ โครงการพัฒนาระบบฐานข้อมูลและระบบสารสนเทศให้กับอุตสาหกรรมไมซ์ โครงการยกระดับชุมชน พัฒนาสินค้า และเชื่อมผลผลิตสู่ตลาดไมซ์คุณภาพ โครงการจัดอบรมเชิงปฏิบัติการเจาะลึกการดึงงาน โครงการจัดอบรมเชิงปฏิบัติการจัดงานแสดงสินค้า และการพัฒนาผู้ประกอบการไมซ์ยุคใหม่สู่สมรรถนะทางปัญญาล้ำหน้าในวงการจัดประชุมให้กับผู้ประกอบการกลุ่ม เอสเอ็มอี และนิทรรศการ รวมถึงโครงการเพิ่มบุคลากรที่ผ่านการรับรองมาตรฐานอาชีพไมซ์ ทั้งระดับนานาชาติและระดับชาติ และโครงการจัดตั้งศูนย์สอบเทียบมาตรฐานวิชาชีพไมซ์ในภูมิภาคตะวันออก เพื่อเตรียมความพร้อมสู่เส้นทางความเป็นมืออาชีพคนไมซ์ของประเทศไทย ทั้งนี้จากการผนึกกำลังร่วมกันของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องอย่างเป็นรูปธรรม นายจิรุตถ์ กล่าวว่า น่าจะสร้างบุคลากรไมซ์ที่มีคุณภาพให้กับภาคตะวันออกในปี 2563 ได้เฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 5,000 คนต่อปี สามารถรองรับการขยายตัวของภาคธุรกิจไมซ์และความต้องการบุคลากรของผู้ประกอบการไมซ์ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกได้อย่างชัดเจนขึ้น เกิดการพัฒนาเครือข่ายการศึกษาไมซ์ในภูมิภาคอย่างชัดเจน และแลกเปลี่ยนเชื่อมโยงกิจกรรมพัฒนาศักยภาพบุคลากรไมซ์ระหว่างสถาบันการศึกษาในภูมิภาค ที่เอื้อประโยชน์ทั้งในระดับภูมิภาคและท้องถิ่น สร้างความเข้มแข็งร่วมกันตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำให้กับธุรกิจไมซ์ในภาคตะวันออกอย่างยั่งยืน ร่วมกันสร้างขีดความสามารถ ขณะที่ รองศาสตราจารย์ ดร.วัชรินทร์ กาสลัก ผู้รักษาการแทนอธิการบดี มหาวิทยาลัยบูรพา กล่าวว่า การเป็นศูนย์เครือข่ายด้านการศึกษาไมซ์ในภาคตะวันออก ทำให้เกิดมีการพัฒนากำลังในวงกว้าง สามารถพัฒนามาตรฐานบุคลากรในระดับนานาชาติ เนื่องจากธุรกิจท่องเที่ยว และไมซ์ วึ่งสร้างรายได้ให้กับประเทศในแต่ละปีเป็นจำนวนมหาศาล ถือเป็นอุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-Curve) ที่จะต้องเร่งปรับตัว เพื่อเปลี่ยนโครงสร้างองค์กร การดำเนินธุรกิจ รวมถึงเปิดรับเทคโนโลยี เพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ทั้งจากพฤติกรรมผู้บริโภคและธุรกิจยุคใหม่ ด้าน นายอภิชาต ทองอยู่ ที่ปรึกษาเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการ อีอีซี ประธานคณะกรรมการพัฒนาบุคลากร และการศึกษาอีอีซี ของสำนักงาน เพื่อการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก กล่าวว่า การทำงานในครั้งนี้ได้รับความร่วมมือจากหลายสถาบันในภาคตะวันออก ประกอบด้วย มหาวิทยาลัยบูรพา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตศรีราชา มหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ วิทยาเขตปราจีนบุรี วิทยาลัยดุสิตธานี ศูนย์การศึกษาเมืองพัทยา วิทยาลัยอาชีวศึกษาฉะเชิงเทรา และ วิทยาลัยเทคนิคสัตหีบ เป็นการร่วมกันพัฒนาและเสริมสร้างขีดความสามารถของบุคลากรไมซ์ภาคการศึกษาในพื้นที่ภาคตะวันออกรองรับการขยายตัวของธุรกิจไมซ์ในภูมิภาคทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพมาตรฐาน พร้อมกันนี้ยังได้ร่วมมือกับต่างประเทศ เพื่อทำงานร่วมกันใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-Curve) ประกอบด้วย ออสเตรเลีย สวิสเซอร์แลนด์ และเยอรมัน โดยภาคการท่องเที่ยว ถือเป็นหนึ่ง S-Curve ที่สำคัญ ซึ่งประเทศต่างๆ ดังกล่าวได้เข้ามาช่วยพัฒนาบุคลากรด้านนี้ ให้มีความกว้าง และลึก เพื่อยกระดับการท่องเที่ยว และสร้างความสัมพันธ์กับโลกภายนอกอย่างมีศักยภาพ ทั้งนี้ในการยกระดับดังกล่าว ทางสำนักงาน เพื่อการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ได้รับงบการพัฒนามาประมาณ 200 ล้านบาทในปี 2562 และในปี 2563 เพิ่มขึ้นเป็น 3,000 ล้านบาท เพื่อส่งเสริมหน่วยงานต่างๆ ที่ต้องการพัฒนาในสัดส่วนคนละครึ่ง