จางหายไปไม่ถึงขวบปี ก็จรลีหวนมาให้ชาวโลกขวัญผวากันอีกคำรบ สำหรับ ฝุ่นละอองขนาดเล็ก วัดปริมาตรแต่เม็ดได้ต่ำกว่า 2.5 ไมครอน หรือที่เรียกกันจนฮิตติดปากว่า “พีเอ็มสองจุดห้า (PM2.5)” จนหวาดผวากับชื่อนี้ไปทั้งเมืองกันมาแล้ว โดยเมื่อช่วงปลายปีที่แล้ว ลากยาวมาถึงต้นปีนี้ของไทยเรา อันเป็นห้วงฤดูหนาว สภาพอากาศแห้ง ในพื้นที่หลายจังหวัดรวมทั้งกรุงเทพมหานคร ล้วนต่างก็ผจญกับฝุ่นละอองขนาดพีเอ็มสองจุดห้า หรือว่า ฝุ่นพิษจิ๋ว จนต้องต่างขวนขวายหน้ากากอนามัยชนิดพิเศษกันจ้าละหวั่น ทว่า กาลเวลาผ่านพ้นไปไม่ทันข้ามปี ฝุ่นพิษจิ๋วที่ว่า ก็หวนมาจ่อปลายจมูกประชาชนในหลายพื้นที่กันเข้าให้อีกแล้ว ตลอดช่วงสัปดาห์สองสัปดาห์นี้ที่ผ่านมา โดยเฉพาะในเมืองกรุง คือ กรุงเทพมหานคร เมืองหลวงของไทย ค่าฝุ่นละอองพีเอ็มสองจุดห้า ทะลุเกินกว่า 202 ซึ่งถือว่า อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพของมนุษย์เราได้ กระทั่ง ทางการของเมืองฟ้าอมร ต้องออกมามีคำประกาศเตือนกัน เช่นเดียวกับพื้นที่ปริมณฑล คือ จังหวัดรายรอบพระนคร บรรดาประชากรก็เผชิญกับฝุ่นพิษจิ๋ว จนทางการต้องออกมาเตือนให้ระมัดระวังด้วยเช่นกัน นอกจากนี้ ก็ยังมีต่างจังหวัดในหลายพื้นที่ ก็มีรายงานว่า ประชาชนต้องประจญกับฝุ่นพิษเฉกเช่นคนในชุมชนเมือง ทั้งนี้ เมื่อกล่าวปัจจัยที่ทำให้เกิดฝุ่นพิษจิ๋วในกทม. และปริมณฑลที่ว่า หลักๆ ก็มาจากการปล่อยอากาศเสียจากท่อไอเสียของยวดยานพาหนะชนิดต่างๆ รวมทั้งจากการก่อสร้าง ขณะที่ ในพื้นที่ต่างจังหวัดก็มาจากการเผาเศษซากพืชไร่ ยกเว้นในพื้นที่ภาคใต้ ที่สาเหตุมาจากเหตุไฟป่าในอินโดนีเซีย ที่กลุ่มควันลอยตามลมเข้ามา ส่งผลให้เกิดค่าฝุ่นละอองจิ๋วที่มีพิษภัยมากมายขนาดนั้น โดยผลพวงจากฝุ่นละอองจิ๋วมหาภัยข้างต้น ก็มคำเตือนจากบรรดาผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์เกี่ยวกับทางเดินหายใจออกมาให้โลกได้ตระหนักกันอยู่เนืองๆ ล่าสุด ก็เป็นรายของมหาวิทยาลัยยูทาห์ รัฐยูทาห์ ประเทสหรัฐอเมริกา ได้ออกมาเตือนด้วยการอ้างอิงถึงผลการศึกษาวิจัยที่คณะวิจัยของทางมหาวิทยาลัยฯ ออกไปศึกษาวิจัยกับกลุ่มตัวอย่าง โดยระบุว่า พิษภัยของมลภาวะทางอากศสามารถส่งผลก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพของผู้คนตามมา ซึ่งในการศึกษาวิจัยพบว่า กลุ่มตัวอย่างที่มีความเสี่ยงสูงที่ได้รับผลกระทบข้างต้น ก็คือ กลุ่มสตรีที่กำลังตั้งครรภ์ โดยอาจเสี่ยงที่จะถึงขั้นแท้งลูกน้อยที่อยู่ในครรภ์เลยก็ว่าได้ อัตราความเสี่ยงที่ศึกษาวิจัยพบนั้นหล่ะหรือ? ก็ต้องบอกว่า มีอัตราความเสี่ยงพอๆ กับการสูบบุหรี่เลยทีเดียว โดย ดร.แมทธิว ฟุลเลอร์ หนึ่งในคณะผู้วิจัย ระบุว่า ยิ่งในการตั้งครรภ์ช่วง 3 เดือนแรก ต้องพูดว่า มีความเสี่ยงสูงเป็นอย่างมากเลยทีเดียว ทารกในครรภ์จะแท้งได้ เทียบเท่ากับการสูบบุหรี่ในรายของสตรีตั้งครรภ์ที่ติดบุหรี่ ทางคณะผู้ศึกษาวิจัย ยังแจกแจงด้วยว่า เป็นเพราะระดับก๊าซไนโตรเจนออกไซด์ที่มีปริมาณในอากาศ หรือฝุ่นละอองที่เป็นพิษ นั่นเอง โดยเฉพาะจากการเผาผลาญเชื้อเพลิงจากเครื่องยนต์ดีเซล ที่ถือว่า ร้ายนัก ที่เป็นสาเหตุสำคัญของการทำให้อัตราความเสี่ยงแท้งของทารกในครรภ์สูงขึ้น ซึ่งสูงกว่าปกติถึงร้อยละ 16 ด้วยกัน เทียบเท่ากับอัตราความเสี่ยงของการสูบบุหรี่ ทั้งนี้ ผลศึกษาวิจัยข้างต้น ก็ถือเป็นครั้งล่าสุด หลังจากที่ก่อนหน้าได้เคยศึกษาวิจัยในสตรีตั้งครรภ์กลุ่มตัวอย่างแล้วพบว่า มีอัตราความเสี่ยงสูงที่สตรีตั้งครรภ์กลุ่มตัวอย่าง ซึ่งอยู่ในพื้นที่มีมลภาวะทางอากาศ จะคลอดก่อนกำหนด และเมื่อคลอดออกมาแล้ว ทารกน้อยก็จะมีน้ำหนักตัวน้อยกว่าปกติ นอกจากบรรดาคณะผู้ศึกษาวิจัยดังกล่าวแล้ว ปรากฏว่า ทาง “องค์การอนามัยโลก” หรือ “ดับเบิลยูเอชโอ” หรือที่มักเรียกกันสั้นว่า “ฮู” นั้น ก็ออกมาส่งเสียงเพรียกเตือนถึงพิษภัยของฝุ่นจิ๋วด้วยความเป็นห่วงต่อสุขภาพของประชาคมโลกด้วยเช่นกันว่า 9 ใน 10 ของพลเมืองโลก ณ เวลานี้ กำลังสูดอากาศที่ปนเปื้อนกับมลพิษเข้าสู่ร่างกาย ก่อนส่งผลทำให้ล้มป่วยด้วยโรคที่เกี่ยวเนื่องกับระบบทางเดินหายใจต่างๆ ในที่สุด จนเป็นเหตุให้เฉลี่ยแล้วในแต่ละปี ถูกเพชฌฆาตจากอากาศพิษนี้ปลิดชีพไปถึงปีละ 7 ล้านคน จากโรคเกี่ยวเนื่องกับระบบทางเดินหายใจ ได้แก่ โรคหลอดเลือดสมองตีบ โรคหัวใจล้มเหลว และโรคมะเร็งปอด เป็นอาทิ พร้อมกันนั้น ทางฮูได้ประสานเสียงร่วมกับเหล่าคณะศึกษาผู้วิจัยต่างๆ ในการเรียกร้องให้ทางการของประเทศต่างๆ เร่งมาตรการในอันที่จะคลี่คลายปัญหามลภาวะอากาศ ฝุ่นละอองจิ๋วที่พ่นพิษอย่างเป็นประจำกันทุกปีอย่างจริงจังให้มากกว่าที่เป็นอยู่