นายจิรุตถ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเส็บ กล่าวว่า จากพิธีลงนามบันทึกความร่วมมือ โครงการจัดตั้งศูนย์เครือข่ายด้านการศึกษาไมซ์ในภาคตะวันออก (Eastern MICE Academic Cluster) และโครงการพัฒนาศักยภาพบุคลากรไมซ์ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ทางทีเส็บให้ความสำคัญการเร่งขยายการขับเคลื่อนและพัฒนาธุรกิจไมซ์ กระจายครอบคลุมไปยังแต่ละภูมิภาคทั่วประเทศ ซึ่งเฉลี่ยธุรกิจไมซ์ที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน สร้างรายได้เข้าสู่ประเทศไทยในแต่ละปีกว่า 1 แสนล้านบาท ทั้งนี้เพื่อเป้าหมายผลักดันให้ธุรกิจไมซ์ไทยขยายการเติบโตอย่างมีรากฐานมั่นคงและยั่งยืนด้วยมาตรฐานที่แข่งขันได้ในระดับโลก ทางทีเส็บจึงได้เร่งพัฒนาศักยภาพและยกระดับมาตรฐานธุรกิจไมซ์ไทยในทุกมิติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปั้นบัณฑิตไมซ์ สร้างคนไมซ์รุ่นใหม่ก้าวสู่ธุรกิจตลอดจนพัฒนายกระดับศักยภาพบุคลากรไมซ์ไทยสู่มืออาชีพระดับสากล รองรับการขยายตัวของภาคธุรกิจและความต้องการของผู้ประกอบการไมซ์ในพื้นที่ รวมถึงเขตพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกที่มีการเติบโตอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง ซึ่งปัจจุบันมีสถาบันการศึกษาทั่วประเทศ นำหลักสูตรไมซ์บรรจุในการเรียนการสอนจำนวนทั้งสิ้นถึง 121 แห่ง และเปิดสาขาวิชาไมซ์แล้วกว่า 22 สถาบันทั่วประเทศ โดยสามารถผลิตนักศึกษาไมซ์จากสถาบันการศึกษาทั้งในระดับอุดมศึกษาและอาชีวศึกษาทั่วประเทศแล้วเฉลี่ยปีละกว่า 20,000 คน จากข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ประมาณการความต้องการบุคลากรในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ปี 2562-2566 ระบุว่ามีความต้องการแรงงานในพื้นที่รวมทั้งสิ้นถึง 475,668 อัตรา โดยความต้องการด้านการท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดีและไมซ์มีจำนวนถึง 16,920 อัตรา หรือคิดเป็น 4 % ของความต้องการแรงงานในพื้นที่ทั้งหมด ด้วยเหตุนี้ การลงนามความร่วมมือโครงการ การจัดตั้งศูนย์เครือข่ายด้านการศึกษาไมซ์ในภาคตะวันออก (Eastern MICE Academic Cluster) ระหว่างทีเส็บกับสถาบันการศึกษาทั้ง 8 แห่ง ประกอบด้วย มหาวิทยาลัยบูรพา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตศรีราชา มหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ วิทยาเขตปราจีนบุรี วิทยาลัยดุสิตธานี ศูนย์การศึกษาเมืองพัทยา วิทยาลัยอาชีวศึกษาฉะเชิงเทรา และ วิทยาลัยเทคนิคสัตหีบ นับเป็นศูนย์เครือข่ายด้านการศึกษาไมซ์ภูมิภาคที่ 5 นอกเหนือจากที่ทำมาแล้ว 4 แห่ง คือ ภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ เพื่อร่วมกันพัฒนาและเสริมสร้างขีดความสามารถของบุคลากรไมซ์ภาคการศึกษาในพื้นที่ภาคตะวันออกรองรับการขยายตัวของธุรกิจไมซ์ในภูมิภาคทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพมาตรฐาน ทั้งนี้ นายจิรุตถ์ กล่าวต่อว่า อีกหนึ่งความร่วมมือสำคัญในการพัฒนาบุคลากรไมซ์ในภาคตะวันออก คือ โครงการพัฒนาศักยภาพบุคลากรไมซ์ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างทีเส็บกับคณะทำงานประสานงานด้านการพัฒนาบุคลากรในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC-HDC) ภายใต้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC และมหาวิทยาลัยบูรพา เพื่อเป็นศูนย์กลางคณะทำงานด้านการพัฒนาศักยภาพบุคลากรไมซ์ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ทั้งการริเริ่มวางแผนงาน เตรียมความพร้อมวางรากฐานการสร้างบุคลากรไมซ์ การพัฒนามาตรฐานวิชาชีพ การกระจายองค์ความรู้และรายได้ รวมถึงการสร้างสรรค์กิจกรรม สร้างงาน สร้างมาตรฐาน และสร้างรายได้ เพื่อตอบสนองการพัฒนาอย่างยั่งยืนต่อไป ตัวอย่างเช่น โครงการและกิจกรรมจากการลงนามความร่วมมือในการจัดตั้งศูนย์เครือข่ายด้านการศึกษาไมซ์ในภาคตะวันออก (Eastern MICE Academic Cluster) และการพัฒนาศักยภาพบุคลากรไมซ์ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก อาทิ โครงการพัฒนาระบบฐานข้อมูลและระบบสารสนเทศให้กับอุตสาหกรรมไมซ์ โครงการยกระดับชุมชน พัฒนาสินค้า และเชื่อมผลผลิตสู่ตลาดไมซ์คุณภาพ โครงการจัดอบรมเชิงปฏิบัติการเจาะลึกการดึงงาน โครงการจัดอบรมเชิงปฏิบัติการจัดงานแสดงสินค้า และการพัฒนาผู้ประกอบการไมซ์ยุคใหม่สู่สมรรถนะทางปัญญาล้ำหน้าในวงการจัดประชุมให้กับผู้ประกอบการกลุ่ม SME และนิทรรศการ รวมถึงโครงการเพิ่มบุคลากรที่ผ่านการรับรองมาตรฐานอาชีพไมซ์ ทั้งระดับนานาชาติและระดับชาติ และโครงการจัดตั้งศูนย์สอบเทียบมาตรฐานวิชาชีพไมซ์ในภูมิภาคตะวันออก เพื่อเตรียมความพร้อมสู่เส้นทางความเป็นมืออาชีพคนไมซ์ของประเทศไทย ซึ่งการจัดตั้งศูนย์เครือข่ายด้านการศึกษาไมซ์ในภาคตะวันออก และ การพัฒนาศักยภาพบุคลากรไมซ์ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ในวันนี้ น่าจะสร้างบุคลากรไมซ์ที่มีคุณภาพให้กับภาคตะวันออกในปี 2563 ได้เฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 5,000 คนต่อปี สามารถรองรับการขยายตัวของภาคธุรกิจไมซ์และความต้องการบุคลากรของผู้ประกอบการไมซ์ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกได้อย่างชัดเจนมากขึ้น พัฒนาเครือข่ายการศึกษาไมซ์ในภูมิภาคอย่างชัดเจนและเกิดการแลกเปลี่ยนเชื่อมโยงกิจกรรมพัฒนาศักยภาพบุคลากรไมซ์ระหว่างสถาบันการศึกษาในภูมิภาค ที่เอื้อประโยชน์ทั้งในระดับภูมิภาคและท้องถิ่น สร้างความเข้มแข็งร่วมกันตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำให้กับธุรกิจไมซ์ในภาคตะวันออกอย่างยั่งยืน