ในหลวงทรง มีพระราชกระแสชมเชยและพระราชทานของให้สองนักบินฝนหลวง พลีชีพในหน้าที่ อธิบดีฝนหลวงฯ ชี้เหตุเครื่องตก จากฟ้าปิดกระทันหัน เกิดหมอกลงหนา หักเลี้ยวมากไปก่อนชนภูเขา เมื่อวันที่ 27 ก.ย. นายสุรสีห์ กิตติมณฑล อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร เปิดเผยว่า จากกรณีพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานน้ำหลวงอาบศพให้แก่ร้อยเอก ตฤณ อัมระนันท์ และโปรดเกล้าฯ ให้ผู้แทนพระองค์เชิญพวงมาลาหลวงส่วนพระองค์ และพวงมาลาหลวงของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ไปวางที่หน้าหีบศพของร้อยเอก ตฤณ อัมระนันท์ และนายสุขสันต์ จงเสถียรธรรม และรับศพไว้ในพระบรมราชานุเคราะห์ตลอดทั้งงาน เนื่องจากได้ปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มความสามารถเพื่อภารกิจที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ ในการปฏิบัติการฝนหลวงด้วยความเรียบร้อยตลอดมาจนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต “ทั้งนี้ ในวันนี้ในหลวงยังได้ทรงมีพระราชกระแสทรงชมเชยฯและของพระราชทานให้แก่ นักบินกรมฝนหลวงและการบินเกษตรทั้งสองนายที่ปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มกำลังความสามารถในวันที่ 28 ก.ย. นี้ที่กรมฝนหลวงฯเวลา 10.00 น. อีกด้วย”อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร กล่าว นายสุรสีห์ ยังได้ชี้แจงกรณีเครื่องบินฝนหลวงประสบเหตุตกที่ ต.ลุ่มสุ่ม อ.ไทรโยค จ.กาญจนบุรี ว่า หลังเกิดเหตุและลงพื้นที่ตรวจสอบด้วยตนเองที่จังหวัด พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ ที่เกี่ยวข้องและหัวหน้านักบิน ซึ่งจากการลงพื้นที่ เบื้องต้นและสอบถามนายสุมิตร ทองมณโฑ เกษตรกรที่เห็นเหตุการณ์ เล่าว่า น่าจะมาจากสภาพอากาศ หมอกลงมาก โดยเวลา 09.00 น. ที่เกษตรกรลงไปดูสวนพริกอยู่ใกล้ที่เกิดเหตุยังสามารถมองเห็นภูเขาในพื้นที่จุดตกได้ แต่สักประมาณเวลา 10.00 น. หมอกหลงจัด ทัศนวิสัยไม่ดี ฟ้าปิด ทำให้เครื่องบินเกิดอุบัติเหตุครั้งนี้ อย่างไรก็ตาม กรมได้ตั้งกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงเหตุดังกล่าวให้แล้วเสร็จโดยเร็วที่สุด ตามกรอบกฎหมาย 45 วัน แต่จะพยายามให้เร็วที่สุดคิดว่าไม่น้อยกว่า 2 สัปดาห์ เนื่องจากขณะนี้ผู้สอบเองก็มีภาระในการขึ้นบินทำฝนด้วยเช่นกัน แต่จะพยายามให้เร็วที่สุด อย่างไรก็ตามผู้เชี่ยวชาญจากประเทศแคนาดา บริษัทแพท แอนด์ วิทนี บริษัทผลิตเครื่องคาราแวน ได้มีหนังสือแจ้งมาแล้วว่าพร้อมช่วยเหลือในการสอบ ซึ่งหากมีประเด็นที่กรมสงสัยจะขอความร่วมมือทันที นายสุรสีห์ กล่าวอีกว่า เหตุครั้งนี้ทำให้หลายฝ่ายให้ความสนใจกับการทำงานของกรมฝนหลวง ที่มีภารกิจเพิ่มมากขึ้น ว่าสาเหตุมาจากอะไรทั้งเรื่องจำนวนคนที่ไม่เพียงพอ หรือเครื่องบินที่อายุงานมาก และมีน้อยลำ ซึ่งในเรื่องนี้กรมขอเรียนว่า ปัจจุบันมีเจ้าหน้าที่รวม 200 คน มี 11 ศูนย์ทำงานตลอด 8 เดือนที่ผ่านมา จากภาวะฝุ่นพีเอ็ม 2.5 เมื่อเดือน ม.ค. 62 และต่อด้วยภัยแล้ง และแล้งในหน้าฝนจากฝนทิ้งช่วง เจ้าหน้าที่ 200 นาย โดยเฉพาะนักบิน นักวิทยาศาสตร์ และผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายทำงานไม่มีวันหยุด แม้กระทั่งวันหยุดสำคัญๆ ถือเป็นหน่วยงานเดียวของไทยที่ไม่ได้หยุดงาน โดยเฉพาะขณะนี้ต้องช่วงชิงสภาพอากาศในปลายฝนต้นน้ำเพื่อเติมน้ำให้กับเขื่อนที่มีน้ำน้อยกว่า 30 เปอร์เซ็นต์ของความจุ ปีหน้าภัยแล้งจะเป็นอย่างไรถ้าไม่เร่งเติมน้ำ และช่วยพื้นที่นาข้าว ในพื้นที่อับฝนหลายจังหวัด กำลังออกรวงตั้งท้อง ได้เก็บเกี่ยว “ภารกิจมีมากขึ้น แต่คนจำกัด เครื่องจำกัด ผมขณะอยุ่ที่ประเทศอินโดนีเซีย เมื่อรู้ข่าวสูญเสียนักบิน ผมน้ำตาไหลทันทีรีบเปลี่ยนตั๋วกลับไทย แต่จะท้อไม่ได้ ที่ผ่านมาพวกเราไม่เคยบ่น ให้กำลังกันเองมาตลอด เพราะเราทำโครงการพระราชดำริของในหลวงร.9 ที่ต้องพยายามจัดสรรให้ได้ภายใต้ความขาดแคลนบุคคลากร เพื่อช่วยเหลือประชาชนที่เดือดร้อน ในพื้นที่เกษตรน้ำฝน 120 ล้านไร่ เพราะชลประทานมีเพียง 30 ล้านไร่ อย่างไรก็ตามหวังว่า คณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ กพร. จะเข้าใจและอนุมัติอัตรากำลังให้สอดรับการศูนย์ที่ขยายเพิ่มขึ้นตามภารกิจ จากสภาพอากาศที่แปรปรวน โดย 4 ปีที่ผ่านมาพยายามขออัตราเพิ่มอีก 700 ราย คาดว่าปีนี้ กพร.น่าจะพิจารณาให้ เพราะกรมพร้อมที่จะพาเจ้าหน้าที่ กพ. มาดูการทำงานจริงของกรม อีกทั้งการพิจารณาเรื่องจัดฝูงบินเพิ่มขึ้น โดยปัจจุบันมี 39 ลำ ตามยุทธศาสตร์ฝนหลวงวางไว้คือใน 5 ปีคือ(60-65) จะต้องมีเครื่องเข้ามาเพิ่ม ให้ครบ 45 ลำ และนักบินขอเพิ่ม 58 อัตรา โดยแบ่งเป็น 2 ระยะคือระยะแรก(ใน 2ปี) ขอ 48 อัตราและถัดไปอีก 18 อัตรา สำหรับเครื่องบินขณะนี้ในเดือนต.ค. จะได้เครื่องใหม่ 2 ลำเป็นเครื่องคาซาขนาดกลางจากอินโดนีเซีย 2ลำ ๆ 500 ล้านบาท และในงบปี 63 จะขอเพิ่มเครื่องบินขนาดกลางอีก 1 ลำประมาณ 500 ล้านบาท และเฮลิคอรเตอร์ 1 ลำขนาด 7 ที่นั่งประมาณ 140 ล้านบาท”นายสุรสีห์ กล่าว ด้าน ร.ท. บัญชา พาลี หัวหน้านักบิน กล่าวว่า ในการบินพบว่า อยู่ในเส้นทางการบิน ไม่มีการออกนอกเส้นทางการบิน และ เครื่องบินที่ขึ้นไม่ได้มีการบรรทุกสารเคมีหรืออยู่ในการบินระหว่างการทำฝนหลวงตามที่มีข่าวลือแต่อย่างใด ทั้งนี้การที่เครื่องตกไม่เกี่ยวกับอายุเครื่องบินเพราะมีรอบการตรวจ ตามมาตรฐานสากล และทุกลำมีเรดาห์ สมรรถนะเครื่องดี แต่เหตุอาจมาจากสภาพอากาศเปลี่ยนฉับพลัน สำหรับเครื่องบินของกรมฝนหลวงฯ ปัจจุบันมี 39 ลำ อายุ 1 ปี-10 ปี จำนวน 10 ลำ อายุ 11 ปี-20 ปี มี 4 ลำ อายุ 21-31 ปี มี 7 ลำ และอายุเกิน 30 ปีมี 8 ลำ ทุกลำขึ้นปฏิบัติการปกติทุกวัน และซ่อมบำรุงตามระยะเวลาครบ