บรรยากาศในเขตเทศบาลเมือง (ทม.) บัวใหญ่ อ.บัวใหญ่ จ.นครราชสีมา ก่อนจะมีการประชุมรับฟังความคิดเห็นโครงการศึกษาความเหมาะสมรถไฟทางคู่สายใหม่ ช่วงนครสวรรค์-บ้านไผ่ ในวันที่ 10 ตุลาคม นี้ ที่ อ.บัวใหญ่ ทั้งภาคประชาชนและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ได้พร้อมใจกันลงขันจัดทำป้ายไวนิล เขียนข้อความว่า “ นายกตู่ อย่าทิ้งชุมทางบัวใหญ่ไว้ข้างหลังนะคะ ” “ ชาวบัวใหญ่ มีศักยภาพพร้อมทุกด้าน เหมาะสมอยู่บนเส้นทาง ” “ รถไฟ เหนือ-อีสาน ผ่านชุมทางบัวใหญ่ งบน้อย รวดเร็ว ปลอดภัย ทำได้เลย ” ติดตั้งในเขต ทม.บัวใหญ่ สร้างกระแสให้ชาวบัวใหญ่ ตื่นตัวและ ช่วยกันผลักดันสถานีรถไฟชุมทางบัวใหญ่เป็นศูนย์กลางคมนาคมทางรางของภูมิภาค รวมทั้งสื่อถึงพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้ช่วยพิจารณาความเหมาะสมการจัดทำเส้นทางรถไฟสายใหม่ ซึ่งมีทางเลือกผ่าน อ.บัวใหญ่ ด้วย
นายนิพนธ์ ลิ้มวงศ์ยุติ นายก ทม.บัวใหญ่ ฯ เปิดเผยในฐานะตัวแทนชาวบัวใหญ่ ว่า สถานีรถไฟชุมทางบัวใหญ่ มีความพร้อมและศักยภาพทุกด้านสามารถรองรับการเป็นศูนย์กลางคมนาคมทางรางหรือเป็นฮับของภูมิภาคอีสานเหนือ ซึ่งมีสถานีขนถ่ายสินค้า Container Yard หรือ CY รองรับการขนถ่ายสินค้าจากระบบรางสู่ถนน ที่สำคัญระยะทางจากจังหวัดชัยภูมิถึงสถานีชุมทางบัวใหญ่ 52 กิโลเมตร จึงค่อนข้างสะดวก ไม่สิ้นเปลืองงบประมาณในการเวนคืนที่ดิน หากเชื่อมโยงโครงข่ายระบบรางผ่าน สถานีชุมทางบัวใหญ่ ซึ่งตั้งอยู่ในเส้นทางรถไฟทางคู่ชุมทางถนนจิระ-ขอนแก่น ที่ สำคัญไม่สิ้นเปลืองงบประมาณในการเวนคืนที่ดินรวมถึงสร้างสิ่งปลูกสร้างใหม่เพิ่มเติม จึงอยากให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ช่วยพิจารณาความเหมาะสม
ด้านนายเสกสิทธิ์ ศิริไวทยพงศ์ ผู้จัดการฝ่ายการศึกษาและออกแบบ บริษัท เอ็มเอเอคอนซัลแตนท์ จำกัด ในฐานะบริษัทที่ปรึกษาโครงการ ฯ กล่าวว่า สืบเนื่องจากการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) สัญจรในพื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง 2 เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2561 มีมติเห็นชอบแนวทางและข้อสั่งการให้ดำเนินการศึกษาความเหมาะสมโครงการก่อสร้างทางรถไฟเชื่อมตะวันออก-ตะวันตก สายนครสวรรค์-บ้านไผ่ เพื่อให้แผนการพัฒนาเส้นทางรถไฟสายใหม่จากแม่สอด-นครพนม ที่ใช้ขนาดทาง 1 เมตร ให้มีโครงข่ายที่สมบูรณ์และสอดคล้องกับการเชื่อมโยงเขตเศรษฐกิจพิเศษระหว่างประเทศ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถการขนส่งสินค้า ผู้โดยสารและศักยภาพด้านการท่องเที่ยวของประเทศ รวมทั้งก่อให้เกิดการจ้างงานและพัฒนาพื้นที่โดยรอบสถานีรถไฟ ซึ่งมีทางเลือกผ่านชุมทางบัวใหญ่ ดังนี้ ช่วง B-C2 เริ่มต้นบ้านหัวถนน อ.ท่าตะโก จ.นครสวรรค์ ใช้แนวเส้นทางเดิมบางส่วนของสายชุมทางแก่งคอย-ชุมทางบัวใหญ่ สิ้นสุด อ.จัตุรัส จ.ชัยภูมิ รวมระยะทางประมาณ 164 กิโลเมตร ช่วง C1-D1 เริ่มต้น อ.บ้านเขว้า จ.ชัยภูมิ ใช้แนวเส้นทางเดิมบางช่วงของรถไฟทางคู่สายชุมทางถนนจิระ–ขอนแก่น สิ้นสุดสถานีบ้านไผ่ อ.บ้านไผ่ จ.ขอนแก่น ระยะทางประมาณ 92 กม. ช่วง C2-D2 เริ่มต้น อ.จัตุรัส จ.ชัยภูมิ สิ้นสุดที่ อ.พล จ.ขอนแก่น ใช้แนวเส้นทางเดิมบางช่วงสายชุมทางแก่งคอย –ชุมทางบัวใหญ่และรถไฟทางคู่สายชุมทางจิระ–ขอนแก่น ระยะทางประมาณ 81 กม. ช่วง C2-D3 เริ่มต้น อ.จัตุรัส จ.ชัยภูมิ สิ้นสุดที่ สถานีเมืองพล จ.ขอนแก่น ใช้แนวเส้นทางเดิมบางช่วงสายชุมทางแก่งคอย–ชุมทางบัวใหญ่และรถไฟทางคู่สายชุมทางถนนจิระ –ขอนแก่น ระยะทาง 60 กม. ช่วง D3-D2-D1 เริ่มต้นสถานีชุมทางบัวใหญ่ อ.บัวใหญ่ จ.นครราชสีมา สิ้นสุดที่สถานีบ้านไผ่ อ.บ้านไผ่ จ.ขอนแก่น ปัจจุบันช่วงนี้เป็นรถไฟทางคู่ตลอดทั้งช่วงและเป็นส่วนหนึ่งของรถไฟทางคู่สายชุมทางถนนจิระ–ขอนแก่น ระยะทางประมาณ 59 กม.
อย่างไรก็ตามขั้นตอนขณะนี้เป็นการศึกษาความเหมาะสมทางด้านเศรษฐกิจ สังคม การเงิน วิศวกรรม และสิ่งแวดล้อมรวมถึงจัดทำแบบและประมาณราคาค่าก่อสร้างเบื้องต้น จัดทำรายงาน การศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้นพร้อมดำเนินการด้านการมีส่วนร่วมของประชาชน ซึ่งต้องลงพื้นที่จัดประชุมย่อยในแต่ละอำเภอที่มีเส้นทางรถไฟผ่าน คำนึงถึง 1.ความถูกต้อง ความปลอดภัยและความสะดวกสบายของผู้ใช้บริการ 2.ความสอดคล้องกับพื้นที่ใกล้เคียง 3.เวนคืนน้อยที่สุด เพื่อลดผลกระทบ 4.ความยากง่ายในการก่อสร้างราคาก่อสร้าง 5.ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ตอบโจทย์โครงข่ายที่สมบูรณ์และเพิ่มประสิทธิภาพของการขนส่งทางรถไฟ



