วิกฤติแม่น้ำโขงแล้ง-ผันผวนหนัก ผลกระทบจากเขื่อนไซยะบุรี สปป.ลาว ทำน้ำโขงแห้งอีกรอบ ด้านประมงหนองคาย ออกหนังสือเตือนภัยเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในกระชัง วันที่ 27 ก.ย.62 ผู้สื่อข่าวรับแจ้งว่าสภาพที่แห้งขอดของแม่น้ำโขงในช่วง อ.สังคม จ.หนองคาย ในช่วงวันที่ 20-26 กันยายน 2562 ที่ลดระดับลงอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง แม้เป็นฤดูฝน เป็นภาพที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ไม่ได้มีสาเหตุทางธรรมชาติจากปริมาณฝนที่น้อยลงเพียงอย่างเดียว ซึ่งชาวบ้านในพื้นที่บอกกับผู้สื่อข่าวว่า สาเหตุน่าจะมาจาก เขื่อนไซยะบุรีใน สปป. ลาว ที่ตั้งอยู่ห่างจาก อ.เชียงคาน จ.เลย ไปประมาณ 200 กิโลเมตร เป็นสาเหตุที่ทำให้สถานการณ์ของระดับน้ำในแม่น้ำโขงอยู่ในขั้นวิกฤติ นอกจากนี้ยังทำให้พันโขดแสนไคร้ ที่เป็นโขดหินโผล่ขึ้นจากแม่น้ำโขง ทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่นับพัน ๆ โขด ตั้งแต่เขตบ้านห้วยค้อ , บ้านหนอง , บ้านภูเขาทอง และบ้านม่วง ต.บ้านม่วง อำเภอสังคม จังหวัดหนองคาย เป็นบริเวณกว้างประมาณ 300 เมตร ระยะทางยาวตามแม่น้ำโขงกว่า 5 กิโลเมตร น้ำที่เคยไหลผ่านตามซอกโขดหินแห้งขอด เหลือเพียงแอ่งน้ำเล็กๆ จนสามารถเดินได้ ส่งผลให้การสัญจรทางเรือในบริเวณนี้ต้องใช้ร่องน้ำลึกที่อยู่ติดฝั่ง สปป.ลาว เท่านั้น ซึ่งปกติพันโขดแสนไคร้จะมีความสวยงามเมื่อน้ำโขงมีระดับอยู่ระหว่าง 2.50 เมตร – 3.50 เมตร โดย คณะกรรมการแม่น้ำโขงแห่งชาติไทยได้รายงานสถานการณ์แม่น้ำโขง ตั้งแต่วันที่ 20-25 กันยายน 2562 ในพื้นที่จังหวัดหนองคาย มีปริมาณน้ำอยู่ที่ 3,776.80 , 3,623.70 , 3,127.60 , 3,062.50 , 2,970.70 และ 2,809.10 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที โดยที่ระดับน้ำอยู่ที่ 3.83 , 3.68 , 3.17 , 3.10 , , 3.00 และ 2.82 เมตร ตามลำดับและมีแนวโน้มลดลง ทั้งนี้ สำนักงานประมงจังหวัดหนองคาย ได้มีหนังสือเตือนภัยเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในกระชังเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำในแม่น้ำโขงที่ลดระดับ ลงวันที่ 27 กันยายน 2562 ก่อนหน้านี้ เครือข่ายประชาชนไทย 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง โดยทนายความ มูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน ได้ส่งจดหมายสอบถามการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ในฐานะหน่วยงานรัฐไทยที่ลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าจากเขื่อนไซยะบุรี เรื่องมาตรการบรรเทาผลกระทบข้ามพรมแดน จากการระบายน้ำและการกักเก็บน้ำเขื่อนไซยะบุรี ซึ่ง กฟผ. ได้ตอบจดหมายซึ่งมีเนื้อหาระบุว่า ข้อมูลการกักเก็บน้ำและการปล่อยน้ำของโครงการฯ ไม่มีระบุในสัญญาซื้อขายไฟฟ้า และมิได้เป็นข้อมูลที่อยู่ในความครอบครองหรือควบคุมดูแลของ กฟผ. ดังนั้น กฟผ.จึงไม่มีข้อมูลดังกล่าว ส่วนข้อมูลการบรรเทาผลกระทบข้ามพรมแดนนั้น เนื่องจากเงื่อนไขในสัญญาระบุว่า การเปิดเผยข้อมูลจะต้องได้รับความยินยอมจากคู่สัญญา ซึ่งเมื่อได้รับความยินยอมแล้ว กฟผ.จะดำเนินการเปิดเผยให้ทราบ ต่อมา กฟผ.ได้มีหนังสือไปยังโครงการเพื่อขอให้เปิดเผยข้อมูลดังกล่าว และโครงการมีหนังสือแสดงความยินยอม กฟผ.จึงนำส่งข้อมูลและรูปประกอบ ในข้อมูลประกอบดังกล่าว เป็นจดหมายจากบริษัททีมคอลซัลติ้ง เอ็นจิเนียริ่ง ถึงผู้จัดการบริษัทไซยะบุรีพาวเวอร์ ลงวันที่ 28 มิถุนายน ปี 2554 โดยเป็นจดหมายภาษาอังกฤษ มีเนื้อหาสรุปได้ว่า สำหรับผลกระทบข้ามพรมแดนจากโครงการเขื่อนไซยะบุรี บริษัทมีความมั่นใจว่าผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น จะอยู่ในบริเวณรอบๆเขื่อนเท่านั้น และเป็นเพียงเล็กน้อย ดังนั้นจึงจะไม่เกิดผลกระทบข้ามพรมแดน ขณะที่เครือข่ายประชาชนไทย 8 จังหวัดแม่น้ำโขง มีความเห็นว่า กฟผ. มีหน้าที่ต้องรับผิดชอบต่อความเสียหายที่กำลังเกิดขึ้นในขณะนี้ ซึ่งปฎิเสธไม่ได้ว่าการผลิตไฟฟ้าจากเขื่อนไซยะบุรี เป็นไปเพื่อขายไฟฟ้าให้แก่ กฟผ. ซึ่งแต่เดิมจะเริ่มวันซื้อขายไฟฟ้าอย่างเป็นทางตามสัญญา 29 ปี ในเดือนตุลาคม 2562 ทั้งนี้การผลิตไฟฟ้าในระยะทดลองนี้ ดำเนินไปโดยไม่มีการศึกษาผลกระทบข้ามพรมแดน และไม่มีมาตรการเยียวยาผลกระทบข้ามพรมแดนต่อประชาชนทั้งสองฝั่งแม่น้ำโขง ตั้งแต่ต้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ระดับน้ำในแม่น้ำโขงลดลงเป็นอย่างมาก ตั้งแต่ จ.เชียงราย ลงมาจนถึง จ.เลย จ.หนองคาย และจังหวัดภาคอีสาน อนึ่ง คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (MRC) ได้จัดทำการศึกษาเกี่ยวกับการพัฒนาและการบริหารจัดการแม่น้ำโขงที่ยั่งยืน รวมทั้งผลกระทบจากโครงการไฟฟ้าพลังน้ำในแม่น้ำโขง (หรือที่รู้จักกันในชื่อ ‘การศึกษาของคณะมนตรีแม่น้ำโขง’) ซึ่งผลการศึกษาชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนว่า แผนการพัฒนาโครงการเขื่อนไฟฟ้า 11 โครงการบนแม่น้ำโขงตอนล่าง และเขื่อนอีก 120 แห่งในแม่น้ำสาขาภายในปี 2583 เป็นภัยคุกคามอย่างร้ายแรงต่อนิเวศวิทยาและเศรษฐกิจของภูมิภาค รวมทั้งกระทบต่อการเข้าถึงอาหารของประชาชนในท้องถิ่น ทั้งนี้ เมื่อหลายปีมาแล้ว กองทุนสัตว์ป่าโลกหรือ WWF ได้เผยแพร่รายงานฉบับใหม่ชื่อบาปเจ็ดประการของการสร้างเขื่อน (Seven Sins of Dam Building) เพื่อชี้ให้เห็นถึงความผิดพลาดที่พบบ่อยและนำไปสู่ความล้มเหลวของการลงทุนในโครงการเขื่อนขนาดใหญ่ ความผิดพลาดที่คณะผู้ศึกษาเรียกว่าเป็นบาปเจ็ดประการประกอบด้วย 1.การสร้างเขื่อนบนแม่น้ำผิดสาย 2.การเพิกเฉยต่อระบบนิเวศของกระแสน้ำใต้เขื่อน 3.การละเลยความหลากหลายทางชีวภาพ 4.การตกหลุมพรางหลักเศรษฐศาสตร์ที่ไม่ถูกต้อง 5.การดำเนินการที่ไม่ได้รับการยอมรับจากสังคม 6.การจัดการความเสี่ยงและผลกระทบอย่างผิดพลาด 7.การหลงเชื่อผลประโยชน์ของเขื่อนอย่างหน้ามืดตามัว คนไทยได้ยินชื่อเขื่อนไซยะบุรีมานาน เพราะแม้จะเป็นโครงการเขื่อนในประเทศลาว แต่เกี่ยวข้องโดยตรงกับประเทศไทย เนื่องจากว่าเป็นเขื่อนที่มีวัตถุประสงค์หลักในการผลิตกระแสไฟฟ้าราว 1,285 เมกะวัตต์ เพื่อขายให้กับประเทศไทย ดำเนินการก่อสร้างโดยบริษัทรับเหมาของไทยคือ ช.การช่าง และได้รับการอนุมัติเงินกู้จากสถาบันการเงินของประเทศไทย 6 แห่งได้แก่ ธ.ไทยพาณิชย์ ธ.กรุงเทพ ธ.กรุงไทย ธ.กสิกรไทย ทิสโก้ และเอ็กซิมแบงค์ แม้จะมีความพยายามต่อสู้คัดค้านกันอย่างยาวนาน แต่รัฐบาลลาว และบริษัทเอกชน รวมทั้งธนาคารของไทยก็ไม่สนใจ ดึงดันเดินหน้าก่อสร้างไปเรื่อยๆ จนโครงการเสร็จสิ้น โดยนักสิ่งแวดล้อมทั่วโลกกังวลถึงผลกระทบจากการก่อสร้างเขื่อนบนแม่น้ำโขงสายหลักในประเทศลาวโครงการนี้ ทั้งยังมีการยกให้กรณีเขื่อนไซยะบุรีเป็นตัวอย่างของการแย่งชิงทรัพยากรข้ามชาติอย่างโจ่งแจ้ง โดยไม่คำนึงถึงผลกระทบต่อระบบนิเวศแม่น้ำโขงที่ไร้พรมแดน และผลกระทบต่อผู้คนกว่า 60 ล้านคนที่พึ่งพาทรัพยากรประมงจากแม่น้ำสายนี้หากพิจารณาตามบาปเจ็ดประการของการสร้างเขื่อนก็จะพบว่า เขื่อนไซยะบุรีเป็นตัวแทนโครงการเขื่อนที่ทำบาปครบทุกข้อและไร้ความชอบธรรมอย่างสิ้นเชิง เพราะผิดพลาดตั้งแต่ข้อที่ 1 เรื่องตำแหน่งที่ตั้งไปถึงข้อที่ 7 คือการหลงเชื่อผลประโยชน์จากเขื่อนอย่างหน้ามืดตามัว แม่น้ำโขงเป็นแม่น้ำที่มีความยาวเกือบ 5 พันกิโลเมตร นับเป็นแม่น้ำที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูงที่สุดแห่งหนึ่งของโลกและมีผลผลิตทางประมงมากที่สุดในโลกเมื่อเทียบผลผลิตกับขนาดของแม่น้ำ โดยพบปลาน้ำจืดมากกว่า 800 ชนิด เป็นรองก็เพียงแม่น้ำอเมซอน จุดที่มีการก่อสร้างเขื่อนไซยะบุรีนับเป็นจุดที่มีความเปราะบางที่สุดจุดหนึ่งของแม่น้ำโขง เพราะตั้งอยู่ทางตอนใต้ของแม่น้ำอู ซึ่งเป็นแหล่งผลิตกรวดตามธรรมชาติที่สำคัญที่สุดของแม่น้ำโขง พูดง่ายๆ ว่าเป็นจุดที่ไม่ควรให้มีการสร้างสิ่งกีดขวางใดๆ ทั้งสิ้น ผลกระทบสำคัญประการแรก คือตะกอนและกรวดปริมาณมหาศาลจะถูกกักอยู่ในอ่างเก็บน้ำเหนือเขื่อนความยาว 80 กิโลเมตร ต้องอย่าลืมว่าตะกอนที่ถูกสายน้ำนำพามาด้วยนั้นคือปัจจัยสำคัญในการดำรงอยู่ของแม่น้ำนั้นๆ ในทางกายภาพ การลดลงของปริมาณตะกอนจะส่งผลต่อเนื่องเรื่องการกัดเซาะตลิ่ง การสูญเสียพื้นกรวดที่เป็นแหล่งวางไข่สำคัญของปลาหลายชนิด และการกัดเซาะชายฝั่งบริเวณปากแม่น้ำโขงในประเทศเวียดนามซึ่งเป็นพื้นที่เพาะปลูกข้าวที่สำคัญของโลก ปริมาณตะกอนที่ลดลงยังหมายถึงการลดลงของสารอาหารที่จำเป็นต่อสัตว์น้ำในโตนเลสาบของเขมรและการก่อเกิดดินอุดมปากแม่น้ำของเวียดนาม ผู้ก่อสร้างเขื่อนไซยะบุรีอ้างว่าจะใช้เทคโนโลยีรูปแบบใหม่ในรูปแบบของประตูระบายตะกอน หรือ Spillway ที่จะสามารถระบายตะกอนขนาดต่างๆ กันได้ แต่เทคโนโลยีที่ว่ายังแทบไม่เคยมีการทดลองใช้ที่ใดมาก่อน จึงน่าสงสัยว่าจะคุ้มกันหรือไม่ กับการนำมาทดลองใช้ในพื้นที่ที่มีความเปราะบางทางระบบนิเวศขนาดนี้ ผลกระทบสำคัญประการที่สอง คือการขัดขวางการอพยพตามธรรมชาติของปลาในแม่น้ำโขง ซึ่งจะเป็นการคุกคามความอยู่รอดของพันธุ์ปลาที่มีการอพยพตามธรรมชาติกว่า 160 ชนิด และอาจหมายถึงจุดจบแห่งสายพันธุ์ของปลาบึกซึ่งเป็นปลาเฉพาะถิ่นแม่น้ำโขงที่มีสถานภาพใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่งในธรรมชาติ ปลาที่มีโอกาสได้รับผลกระทบจากการขวางกั้นลำน้ำเหล่านี้คิดเป็นปริมาณถึง 1 ใน 3 ของปลาที่จับได้ราว 900 ล้านตันต่อปี ปริมาณสัตว์น้ำที่ได้รับผลกระทบย่อมส่งผลโดยตรงต่อความอยู่รอดของชาวประมงหลายล้านครอบครัวริมฝั่งโขง โครงการเขื่อนไซยะบุรีเพิ่งจะจัดทริปพาสื่อมวลชนไปดูโครงการ พร้อมกับอวด ‘ทางปลาผ่าน’ ที่อ้างว่าออกแบบมาสำหรับปลาแม่น้ำโขงโดยเฉพาะ มีทั้งการทำอุโมงค์ปลา (Fish Collecting Gallery) บันไดปลา (Fish Ladder) และช่องยกระดับให้ปลาเหมือนกับลิฟต์ โดยวิศวกรผู้ดูแลมั่นใจว่านี่คือระบบที่ดีที่สุดและทันสมัยที่สุดในโลก แต่ก็อีกเช่นกันที่เทคโนโลยีดังกล่าวไม่เคยมีการทดสอบมาก่อน และจากกรณีบันไดปลาโจนที่ถูกนำมาติดตั้งในเขื่อนปากมูล ก็เป็นบทเรียนสำคัญว่าเทคโนโลยีในต่างประเทศไม่สามารถนำมาใช้ได้กับปลาในแม่น้ำโขง คำถามสำคัญก็คือหากทางปลาที่เขื่อนไซยะบุรีติดตั้งไม่ได้ผล ทางโครงการมีแผนรองรับอย่างไร ผลกระทบประการที่สาม คือการผันผวนของระดับน้ำที่เกิดขึ้นจากการทำงานของเขื่อนจะส่งผลโดยตรงต่อการดำรงชีวิตของชุมชนที่อาศัยอยู่สองฝั่งลำน้ำ 200 กิโลเมตรใต้เขื่อนและอีก 80 กิโลเมตรเหนือเขื่อน ซึ่งรวมทั้งชุมชนในเจ็ดจังหวัดริมแม่น้ำโขงของประเทศไทย กรณีนี้เป็นคำถามสำคัญที่ไม่มีใครรู้คำตอบที่แน่ชัด แม้ว่าผู้สร้างเขื่อนไซยะบุรีจะยืนยันว่า เขื่อนนี้มีรูปแบบเป็นเขื่อนแบบน้ำไหลผ่าน (Run-of-River) หรือให้นึกภาพว่าเป็นฝายน้ำล้นขนาดใหญ่ โดยจะไม่มีการกักเก็บน้ำในปริมาณมากๆ เหมือนเขื่อนทั่วไป แต่สถานการณ์ความแห้งแล้งของแม่น้ำโขงในประเทศไทยเมื่อช่วงเดือน ก.ค. และ ในตอนนี้ (กันยายน) ที่แห้งขอดจนเป็นวิกฤตมีสัตว์น้ำตายเป็นจำนวนมากทั้งๆ ที่เป็นฤดูฝน ก็ยิ่งทำให้เกิดข้อสงสัยถึงผลกระทบของเขื่อนต่างๆ ที่เกิดขึ้นในแม่น้ำโขง เขื่อนไซยะบุรี ซึ่งกั้นแม่น้ำโขงและอยู่ห่างจากแม่น้ำโขงในภาคอีสานของไทยแค่เพียง 195 กิโลเมตร คงจะปฏิเสธความรับผิดชอบได้ยากว่ามีส่วนทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำโขงผิดปกติ เมื่อมีการผลิตไฟฟ้าเต็มรูปแบบ ซึ่งตามกำหนดจะเริ่มต้นในเดือนตุลาคมนี้ คงจะเห็นความผันผวนของระดับน้ำในแม่น้ำโขงจากการระบายน้ำของเขื่อนอีกมาก ซึ่งยากที่จะคาดเดาว่าจะเกิดผลกระทบในเชิงระบบนิเวศของสัตว์น้ำ เกาะแก่งและชายหาดในแม่น้ำโขงขนาดไหน ความจริงคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (MRC) ได้จัดทำการศึกษาเกี่ยวกับการพัฒนาและการบริหารจัดการแม่น้ำโขงที่ยั่งยืน รวมทั้งผลกระทบจากโครงการไฟฟ้าพลังน้ำในแม่น้ำโขงสายหลัก ซึ่งชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนว่า แผนการพัฒนาโครงการเขื่อนไฟฟ้า 11 โครงการบนแม่น้ำโขงตอนล่าง และเขื่อนอีก 120 แห่งในแม่น้ำสาขาภายใน พ.ศ. 2583 เป็นภัยคุกคามอย่างร้ายแรงต่อนิเวศวิทยาและเศรษฐกิจของภูมิภาค รวมทั้งกระทบต่อการเข้าถึงอาหารของประชาชนในท้องถิ่น สิ่งที่น่าเสียใจที่สุดในกรณีของเขื่อนไซยะบุรีก็คือเขื่อนนี้ไม่มีความจำเป็นต้องก่อสร้างเลย เพราะมีทางเลือกอื่นที่เหมาะสมกว่าในการแก้ปัญหาความยากจนของลาวและการตอบสนองความต้องการพลังงานของไทย การเดินหน้าก่อสร้างเขื่อนไซยะบุรีโดยไม่คำนึงถึงคุณค่าความสำคัญของแม่น้ำโขง ไม่สนใจความมั่นคงทางอาหารที่ชุมชนนับล้านได้จากปลาน้ำจืด ไม่ฟังเสียงคัดค้านจากรัฐบาลกัมพูชาและเวียดนาม เป็นบาปกรรมที่มีผลโดยตรงต่อคนรุ่นลูกรุ่นหลาน เป็นบาปที่ผู้เกี่ยวข้องทุกระดับไม่สามารถปฏิเสธความรับผิดชอบได้ เรามีทางเลือก แต่กลับเลือกเดินหน้าฆ่าแม่น้ำโขงด้วยความเขลาและความโลภ อีกหลายปีจากนี้ เมื่อผลกระทบต่างๆ ปรากฏชัดจนเกินเยียวยา การรณรงค์ให้มีการรื้อเขื่อนในแม่น้ำโขง อาจเป็นภารกิจสำคัญของคนรุ่นต่อไปเพื่อฟื้นชีวิตของแม่น้ำโขงให้กลับคืนมา ขอขอบคุณข้อมูลบางส่วนจาก https://www.the101.world/seven-sins-of-xayaburi-dam-building/ สำนักข่าวชายขอบ